JD.Com ใหญ่แค่ไหน ? พาชมบ้านเกิด JD.Com อเมซอนแห่งจีนที่ปักกิ่งสุดไฮเทค

ก่อนฉลองครบรอบวันเกิด JD.Com ในวันที่ 18 มิถุนายน ไม่กี่วัน Marketeer ได้รับคำเชิญจาก JD CENTRAL เป็นหนึ่งใน 3 สื่อไทยที่เข้าเยี่ยมชมตัวตนของ JD.Com ที่สำนักงานใหญ่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

โดย JD.Com ในประเทศจีนได้รับการขนานนามว่า อเมซอนแห่งจีน ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่โดดเด่นในเรื่องการเติบโตด้านธุรกิจ และเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่เข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจและชีวิตของผู้คนในวันข้างหน้าได้อย่างน่าสนใจ

ก่อนที่จะเข้าไปสัมผัสกับเทคโนโลยีของ JD.Com เราขอเล่าเท้าความให้ฟังสักหน่อยว่า JD.Com เป็นมาอย่างไร

JD.Com มี ริชาร์ด หลิว เป็นผู้ก่อตั้ง โดยแรกเริ่มเดิมที JD.Com เป็นเพียงร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในกรุงปักกิ่ง ที่มีชื่อว่า JingDong Century ก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1998

หลังจากที่ริชาร์ด หลิว ทำธุรกิจร้านอิเล็กทรอนิกส์เพียงไม่กี่ปี ในปี 2003 ประเทศจีนได้ประสบกับปัญหาครั้งใหญ่จากการแพร่ระบาดของโรค SARS ที่คร่าชีวิตคนจีนเป็นจำนวนมาก

การแพร่ระบาดของ SARS นี้เองทำให้คนจีนไม่กล้าที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติ เพราะกลัวความเสี่ยงที่จะได้เชื้อกลับมา

ในวิกฤต SARS ครั้งนั้น ริชาร์ดได้มองเห็นโอกาสในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน และได้เปิด JD.Com ขึ้นมาในปี 2004 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ชาวจีนได้สั่งซื้อสินค้าออนไลน์พร้อมบริการส่งถึงบ้าน

ในเวลาที่ JD.Com ได้ถือกำเนิดขึ้นในวันนั้นประเทศจีนมี Taobao.Com เว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ของอาลีบาบาเปิดตัวในตลาดอีคอมเมิร์ซมาก่อนหน้า 1 ปี โดย Taobao.Com เปิดตัวในปี 2003

เมื่อในตลาดค้าปลีกออนไลน์มีคู่แข่งที่มาก่อนหน้านั้น ริชาร์ดจึงสร้างความแตกต่างให้กับ JD.Com พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคผ่านจุดเด่น 2 ประการได้แก่

1. การันตีของแท้

JD.Com ได้วางตัวเองตั้งแต่เริ่มธุรกิจว่า เป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่จำหน่ายสินค้าของแท้เท่านั้น จากการมองเห็นปัญหาหลักของอีคอมเมิร์ซประเทศจีนประการที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นในตัวสินค้าที่จำหน่าย

เพราะในประเทศจีนเป็นฐานการผลิตสินค้าปลอมขนาดใหญ่ และมีสินค้าปลอมสะพัดอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมากที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่เชื่อมั่นที่จะสั่งสินค้าผ่านช่องทางนี้เพราะไม่ได้เห็นสินค้าและจับต้องด้วยตัวเอง

ซึ่งการันตีสินค้าที่จำหน่ายของแท้ ทำให้ JD.Com สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน และความแตกต่างนี้ได้กลายเป็นความเชื่อใจในแพลตฟอร์มในที่สุด

 

2. ระบบโลจิสติกส์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ JD.Comคือการมีระบบขนส่งเป็นของตัวเอง เพื่อควบคุมประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ดีในแพลตฟอร์ม JD.Comตั้งแต่หน้าร้านค้าไปถึงมือผู้บริโภค

การที่ JD.Comมีระบบโลจิสติกส์เป็นของตัวเองถือว่าเป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งสำคัญอย่างอาลีบาบา ที่ใช้กลยุทธ์การเชื่อมต่อแพลตฟอร์มไปยังโลจิสติกส์ที่เป็น Third Party เป็นผู้รับเหมาการขนส่งแทนการลงทุนระบบเองทั้งหมดที่ต้องใช้เงินทุนและเทคโนโลยีในการวางระบบอย่างมหาศาล

ซึ่งการพัฒนาโลจิสติกส์ของ JD.Comมีทั้งการพัฒนาแวร์เฮาส์ที่นำระบบไอทีมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ระบบขนส่งและพนักงาน ซึ่งการพัฒนานี้มาจากการศึกษาและรับฟังเพื่อมาปรับการบริการที่เหมาะสมที่สุด และทำให้เกิดบริการโลจิสติกส์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ผู้ให้บริการรายอื่นไม่มี เช่น การส่งสินค้าผ่านโดรน เป็นต้น

เมื่อพูดถึงระบบขนส่งของ JD.Comแล้ว เรามาเล่าให้อ่านกันหน่อยดีกว่าว่า มาเยี่ยมบ้าน JD.Comในครั้งนี้ JD มีเทคโนโลยีอะไรที่เราว่าสุดยอดกันบ้าง

 

ไคว้ตี้ไร้คน แค่คนส่งของยังน้อยไป

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น JD.Comให้ความสำคัญกับระบบโลจิสติกส์ ทำให้ใน JD.Comมีการพัฒนา “Smart Logistic” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการการขนส่งสินค้าที่มากกว่าการขนส่งสินค้าแบบทั่วๆ ไป

ไคว้ตี้แบบทั่วๆ ไป ที่อีคอมเมิร์ซจีนนิยมใช้ส่งสินค้าถึงมือลูกค้า

โดยในประเทศจีนการสั่งซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซจะมีระบบส่งสินค้า ที่เรียกกันว่า ไคว้ตี้ จะเน้นการส่ง SMS ไปยังผู้ซื้อ เพื่อนัดหมายให้ส่งสินค้าถึงบ้าน หรือนัดรับตามสถานที่ต่างๆ ที่เป็นสถานที่นัดรับสินค้าเป็นประจำ

JD.Comยังมีการพัฒนาระบบไคว้ตี้แบบไร้พนักงาน เพื่อให้บริการนัดรับสินค้ากับลูกค้าในแหล่งชุมชน ที่เป็นใจกลางเมืองอีกด้วย

ไคว้ตี้ที่เราว่านี้มีชื่อว่า JingDong X Division เป็น Autonomous Delivery Robots รถขนส่งพัสดุที่พัฒนาโดยJD.Com โดย JingDong X Division จะเป็นรถที่สามารถเคลื่อนที่ไปตามจุดนัดพบได้ด้วยตัวเอง ผ่านการตั้งโปรแกรมให้สามารถเดินเลี่ยงสิ่งกีดขวางตามเส้นทางที่กำหนด และรู้จักสัญญาณไฟสัญญาณจราจรเป็นอย่างดี

Smart Logistic ไคว้ตี้ไร้คนของ JD.Comเพียงกด สแกน QR Code ยืนยันใบหน้าก็รับสินค้าได้เลย โดย JD.Com มีการพัฒนาSmart Logistic ในหลากหลายรูปแบบ

และเมื่อถึงจุดนัดพบ JingDong X Division จะรอให้ผู้สั่งสินค้าเดินมารับสินค้าด้วยการสแกน SMS ที่เป็นรหัสคำสั่งซื้อ และใบหน้าของผู้สั่ง เพื่อยืนยันตัวตน ก่อนจะเปิดรถให้เจ้าของสินค้าหยิบสินค้าที่ตัวเองสั่งออกไปได้เลย

 

นอกจาก JD.Comจะมีบริการไคว้ตี้ไร้คนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือการส่งสินค้าผ่านโดรน ในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก

โดย JD.Comนำระบบโดรนมาใช้ในการขนส่งสินค้าจากการมองเห็นอุปสรรคในการนำสินค้าไปส่งถึงมือผู้บริโภคในพื้นที่ที่เดินทางลำบาก หรือห่างไกล

อย่างเช่นเมืองซีอาน มลฑลส่านซี ซึ่งเป็นพื้นที่ในหุบเขายากลำบากกับการเดินทาง เจ้าหน้าที่ของ JD.Comได้เล่าว่า ก่อนหน้าที่ JD จะนำโดรนให้บริการ การขนส่งสินค้าไปยังเมืองซีอานใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง เพราะเส้นทางเป็นหุบเขาที่จะต้องค่อยๆ ขับตามทางเลี้ยวโค้งของไหล่เขาไป

แต่เมื่อมีการนำโดรนมาให้บริการ สามารถลดการขนส่งเหลือเพียง 20 นาทีเท่านั้น

และในปัจจุบันการบริการขนส่งสินค้าผ่านโดรนของ JD.Comสามารถให้บริการครอบคลุม 100 กว่าหมู่บ้านเลยทีเดียว

ทั้งนี้การที่  JD.Comได้วางโครงสร้างการขนส่งในรูปแบบ Smart Logistic เชื่อว่าเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ทำให้ JD.Comมีความแข็งแกร่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่สามารถนำ Know-how ที่มีมาปรับใช้ในธุรกิจที่ JD.Comเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

อย่างเช่นในอินโดนีเซียประเทศที่ JD.Comเข้าไปเปิดธุรกิจนอกเมืองจีน ในนาม JD.ID ได้มีการนำโดรนมาใช้ในการขนส่งสินค้าเช่นกัน

ส่วนในประเทศไทยอาจจะต้องร้องเพลงไม่รู้ต้องรออีกนานแค่ไหน เพราะการขนส่งผ่านโดรนยังติดข้อจำกัดด้านกฎหมายการลงทะเบียนโดรน และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ยังทำให้ JD CENTRAL ยังไม่สามารถนำโดรนมาให้บริการได้

 

Digital Retail ต่อยอดสู่ O2O

นอกจากอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มแล้ว ภายในอาณาจักรของ JD.Comยังมีร้านค้าที่เป็นออฟไลน์หลากหลายแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ JD พัฒนาในรูปแบบต่างๆ ทั้งคอนวีเนียนสโตร์ไร้พนักงาน, ร้านอาหารที่ใช้หุ่นยนต์ในการบริการ หรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตที่นำระบบดิจิทัล และ QR Code มาใช้เพื่อสร้าง Story Telling ให้กับสินค้าที่จำหน่าย

เซียวเหยา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการลงทุน JD.Com

เซียวเหยา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการลงทุน JD.Com เล่าให้เราฟังว่า JD.Comให้ความสำคัญกับกลยุทธ์  Customer Go First ผ่านบริการในรูปแบบ O2O Project (Online to Offline Project) เชื่อมต่อประสบการณ์ผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ทุกที่ตามต้องการ

และที่ผ่านมาเทรนด์ของ O2O เป็นสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่ไม่ได้มองว่าจะต้องซื้อสินค้าจากออนไลน์หรือออฟไลน์ แต่จะซื้อสินค้าจากช่องทางที่สะดวกที่สุดในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

ในการมาเยือนปักกิ่ง JD.Comได้พาเรามาเยี่ยมชมร้านค้าออฟไลน์ของ JD ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ 3 แพลตฟอร์มด้วยกัน …เริ่มจาก

 

X Mart ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานของ JD.Com

ในฝั่งอเมริกา Amazon Go คือต้นแบบของร้านค้าไร้พนักงาน ที่เข้ามาเปลี่ยนการช้อปของลูกค้าให้ช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่ซื้อสินค้าไปจนถึงชำระเงินด้วยตัวเอง

ในฐานะ Amazon แห่งเมืองจีน อย่าง JD.Comก็มีร้านค้าไร้พนักงานเช่นกัน โดยร้านค้าที่ว่านี้ชื่อว่า X-Mart

X-Mart ของ JD.Comเป็นร้านค้าไร้พนักงานที่ใช้เทคโนโลยี RFID (Radio frequency identification) และกล้อง มาใช้ในการจดจำใบหน้าและตรวจจับการหยิบสินค้าจากเชลฟ์ของลูกค้าในแต่ละคน

โดยลูกค้าของ X-Mart จำเป็นต้องลงทะเบียนผ่าน App WeChat ก่อน และเมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อเข้ามาใช้บริการเพียงเปิดแอป We Chat สแกน QR Code เพื่อยืนยันตัวตนก่อนเข้าไป

จากนั้นก็เลือกซื้อสินค้าได้ตามปกติ โดยระบบจะทำการส่งสัญญาณ RFID จากตัวสินค้าและภาพจากกล้องไปยังระบบชำระเงินอย่างอัตโนมัติ

และเมื่อเดินออกจากร้าน X-Mart พร้อมสินค้า ยอดเงินจะถูกตัดผ่าน WeChat ทันที แบบไม่ต้องรอสแกนเพื่อจ่ายสินค้าเหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ซึ่งถือว่าสะดวกรวดเร็วเป็นอย่างมาก

ภายใน X-Mart จะติดกล้องจำนวนมาก เพื่อวิเคราะห์ใบหน้าลูกค้ามาประมวลกับการส่งสัญญาณ RFID เพื่อหักเงินในบัญชี WeChat แบบไม่ผิดคน

การที่ X-Mart ได้เลือกวิธีการจับมือกับ WeChat ในการชำระเงิน จากการมองเห็นพลังและฐานลูกค้าของ WeChat ที่มีผู้ใช้บริการมากถึง 1,000 ล้าน Active User ในประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นฐานผู้ใช้งานที่ใหญ่ ที่จะช่วยให้ JD.Com สามารถขยายฐานผู้ใช้งาน X-Mart อย่างรวดเร็วได้ไม่ยาก

ในปัจจุบัน X-Mart มีให้บริการในประเทศจีนและอินโดนีเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในประเทศไทย Marketeer เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ JD CENTRAL จะนำเทคโนโลยีมาให้บริการในอนาคต เมื่อวันที่ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านพฤติกรรมผู้ใช้ และกฎหมายในการให้บริการร้านค้าที่ไร้พนักงานในรูปแบบนี้

 

 

7 Fresh ซูเปอร์มาร์เก็ตดิจิทัล

เมื่อพูดถึงร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานแล้ว ในมุมของซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นสเกลที่ใหญ่กว่า JD.Comก็ได้นำดิจิทัลมาให้บริการเช่นกัน

ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ว่านี้ชื่อว่า 7Fresh

ถ้ามองด้วยตาเปล่า อาจรู้สึกว่า 7Fresh ไม่ต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในประเทศจีน แต่ความจริงแล้วในความเหมือน 7Fresh มีความแตกต่างด้านเทคโนโลยี

เจ้าหน้าที่ JD.Comเล่าให้ฟังว่า 7Fresh เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเล่าเรื่องราวของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าสด

สินค้าใน 7Fresh โดยเฉพาะอาหารสด จะติดบาร์โค้ดให้ลูกค้าได้สแกน เพื่อทราบถึงที่มาที่ไปของสินค้า โดยรายละเอียดของสินค้าจะแสดงอยู่บนหน้าจอ
ปลาบางชนิดมีการติด QR Code บอกถึงที่มาที่ไปของปลาเช่นกัน

โดยใน 7Fresh จะติดตั้ง QR Code และบาร์โค้ดเอาไว้ ให้ลูกค้าได้สแกนเพื่ออ่านข้อมูลของสินค้านั้นๆ ว่า เป็นสินค้าที่มาจากไหน และส่งเข้ามาที่ 7Fresh เมื่อไร เพื่อยืนยันถึงที่มาของสินค้าและความสดใหม่ของสินค้าที่จะซื้อกลับไป

เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ พนักงานจะหยิบสินค้าเพื่อส่งไปยังแผนกเดลิเวอรี่ส่งให้ลูกค้าต่อไป ถ้าผู้ซื้อสั่งสินค้าจำนวนไม่มาก พนักงานก็สามารถเตรียมสินค้าจัดส่งได้ภายใน 3 นาที

นอกจากนี้ใน 7Fresh ยังมีบริการส่งสินค้าถึงมือลูกค้าที่สั่งผ่านออนไลน์ฟรีในระยะทาง 3 กิโลเมตร

โดยลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้าผ่านแอป 7Fresh เพื่อให้พนักงานใน 7Fresh หยิบสินค้าตามออเดอร์ และส่งไปถึงบ้านที่มีระยะทางไม่เกิน 3 กิโลเมตร ได้อย่างรวดเร็วในเวลาที่ไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น

เมื่อมีผู้สั่งออนไลน์พนักงาน จะหยิบสินค้าและส่งสินค้าที่ลูกค้าต้องการไปยังสายพานเพื่อให้พนักงานฝ่ายเดลิเวอรี่ทำการส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

 

การให้บริการส่งสินค้าที่สั่งผ่านระบบออนไลน์ถึงบ้านอย่างรวดเร็วมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนที่ติดกับความรวดเร็วในการสั่งสินค้าออนไลน์ และมีความคาดหวังว่าเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์จะต้องได้รับส่งสินค้าถึงมืออย่างรวดเร็วที่สุด เพราะถ้าส่งถึงมือช้ากว่าที่คิด พวกเขาก็จะมีโอกาสในการเปลี่ยนไปใช้บริการเจ้าอื่นที่ส่งเร็วกว่าทันทีเช่นกัน

 

X-Café ร้านอาหารที่พ่อครัวและพนักงานเสิร์ฟ เป็นหุ่นยนต์

นอกจากร้านค้าแล้ว JD.Comยังมีร้านอาหารที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาให้บริการอีกด้วย

โดยร้านนี้มีชื่อว่า X-Café ตั้งอยู่เมืองเทียนจิน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงจากปักกิ่ง

จุดเด่นของร้าน X-Café ที่ทำให้เราดั้นด้นเดินทางมา คือร้านอาหารแห่งนี้เป็นร้านอาหารต้นแบบแห่งเดียวของ JD.Comที่ใช้หุ่นยนต์ในการประกอบอาหาร และใช้พนักงานเสิร์ฟเป็นหุ่นยนต์

พนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์ ที่ให้บริการลูกค้าใน X-Cafe เห็นแล้วอยากให้เดินเสิร์ฟทั้งวัน

 

โดยลูกค้าร้าน X Cafe ที่เข้ามาใช้บริการจะสั่งอาหารด้วยการสแกน QR Code เพื่อสั่งอาหารตามที่ต้องการจาก 40 เมนู ซึ่งเป็นเมนูที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล

เมื่ออาหารเสร็จพนักงานที่เป็นคนจะนำอาหารใส่ถาดให้พนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารตามโต๊ะของลูกค้า และจ่ายค่าอาหารผ่าน QR Code หลังรับประทานเสร็จได้ทันที

การที่ X-Café ใช้หุ่นยนต์ในการประกอบอาหาร ช่วยให้อาหารที่ทำออกมามีมาตรฐานเหมือนกันทุกจาน และยังช่วยลดพนักงานที่ใช้งานครัวได้ถึงครึ่งหนึ่ง โดยปกติแล้วร้านอาหารในสเกลเดียวกับ X-Café จะใช้กำลังคนครัวมากถึง 15 คน แต่ใน X-Café ใช้คนครัวเพื่อเตรียมอาหารและวัตถุดิบให้พ่อครัวหุ่นยนต์ปรุงเพียง 6-7 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ ในส่วนพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์ก็เช่นกัน เจ้าหน้าที่ JD.Comได้เล่าให้ฟังว่า X-Café ใช้หุ่นยนต์ที่ติดตั้งกล้องและเซนเซอร์ ทำให้เคลื่อนไหวส่งอาหารได้ตามโต๊ะได้อย่างไม่มีปัญหา และหุ่นยนต์เพียง 2 ตัวก็สามารถเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้าในช่วงไพร์มไทม์ได้อย่างสบายเลยทีเดียว แถมยังไม่หน้างอใส่ลูกค้าอีกด้วย

ทั้งนี้ แม้ในประเทศจีนจะมีร้านอื่นใช้หุ่นยนต์ในร้านอาหารเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะใช้หุ่นยนต์ในการทำอาหารเพียงอย่างเดียว

โดยที่ผ่านมา X Cafe มีรายได้เฉลี่ยในวันธรรมดา 1-1.2 หมื่นหยวนต่อวัน และวันเสาร์-อาทิตย์ 3-4 หมื่นหยวนต่อวัน ถือว่าสูงเลยทีเดียวกับร้านอาหารขนาด 500 ตร.ม. ของ X-Café

เห็นเทคโนโลยีที่มาช่วยสร้างความแตกต่างให้กับ JD.Comอย่างนี้ ไม่แปลกเลยที่ในไตรมาส 1 ปี 2019  มีรายได้มากถึง 18,041.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 562 แสนล้านบาทไทย เติบโต 20.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

และได้กลายเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ทำไม JD.Comถึงได้ขึ้นชื่อว่า Amazon แห่งเมืองจีน แม้ธุรกิจของ JD.Com จะเป็นที่ 2 รองจาก Alibaba ก็ตาม

Marketeer FYI 1

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ Strategic Asia ของ JD.Com

เซียวเหยา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการลงทุน JD.Comได้กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็น Strategic Asia ของ JD.Comจากการมองเห็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเทศที่มีประชากรรุ่นใหม่จำนวนมาก และเป็นกลุ่มคนที่พร้อมจะเรียนรู้ในเทคโนโลยีต่างๆ และตอบรับการใช้งานบริการดิจิทัลใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี

เธอได้กล่าวกับเราว่าการบุกตลาดนอกประเทศจีนของ JD.Comจะใช้กลยุทธ์ในการบุกตลาดด้วยการจับมือกับโลคอลพาร์ตเนอร์

JD.Comจะเป็นผู้ซัปพอร์ตด้านเทคโนโลยี โนว์ฮาวต่างๆ และนำความสำเร็จที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมาปรับแต่งบริการให้เข้ากับอินไซด์ของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เพื่อนำเสนอบริการให้เข้ากับผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

สองประเทศที่ JD.Comมีศักยภาพสูงคือประเทศไทยและอินโดนีเซีย

เธอมองว่าผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่จะมีความเหมือนกันอยู่ คือ ผู้บริโภคชอบความสะดวกสบายในการจับจ่าย และมองว่าสินค้าที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปในรูปแบบ Value for Money มากกว่าการมองหาสินค้าที่มีราคาถูกสุด

Marketeer FYI 2

ทำไมต้องหมา JOY

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไม JD.Comถึงใช้รูปหมา ที่มีชื่อว่า JOY เป็นโลโก้แบรนด์

มา JD สำนักงานใหญ่ทั้งที เราจึงไม่รอช้าที่จะสอบถามถึงความสงสัยนี้ และได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ JD.Comว่า

การที่ JD.Com ใช้หมา เป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์มาจากการมองเห็นหมาเป็นสัตว์ที่มีความเป็นมิตร และซื่อสัตย์ ซึ่งถือถึงความเป็น Brand ของ JD.Comที่เป็นมิตรกับลูกค้า และซื่อสัตย์กับลูกค้าด้วยการจำหน่ายสินค้าที่เป็นของแท้ทั้งหมด

 

cr. ภาพบางส่วนจากJD.Com

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online