เปิดผลประกอบการ SCG ไตรมาส 2/62 รายได้ลด 9% กำไรลด 27% (YoY) เซ่นพิษเศรษฐกิจโลก แต่ธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง รับอานิสงส์โครงการก่อสร้างในประเทศ กำไร 10% ปรับประมาณการรายได้ทั้งปีติดลบ 5-10%
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ในไตรมาส 2/62 บริษัทมีรายได้จากการขาย 109,094 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 3% จากไตรมาส 1/62 โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 9,079 ล้านบาท ลดลง 27% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 22% จากไตรมาส 1/62
ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับชดเชยเงินตามกฎหมายแรงงานจะมีมูลค่า 2,035 ล้านบาท จะทำให้บริษัทมีกำไรสำหรับงวด 7,044 ล้านบาท
ปัจจัยที่ทำให้ SCG เติบโตลดลงคือ ผลกระทบของ ‘สงครามการค้า’ ทำให้ราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ การขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1,150 ล้านบาท รวมถึงในไตรมาส 2 มีการปรับเงินชดเชยตามกฎหมาย จาก 300 วันเป็น 400 วัน
“ผมคาดเดาไม่ถูกเหมือนกันว่าจะออกมาทิศทางไหน ทั้งเรื่องสงครามการค้า ความผันผวนต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งพลังงานและน้ำมัน ความตึงเครียดในตะวันออกกลางและอิหร่าน เรื่องค่าเงินก็คาดการณ์ไม่ถูก เข้าใจว่าภาครัฐเองก็พยายามหาทางทำให้ค่าเงินไม่แข็งเกินไปนัก” รุ่งโรจน์กล่าว
ส่วนรายได้จากธุรกิจต่างประเทศ รวมการส่งออก ในครึ่งแรกของปี 2562 เท่ากับ 88,825 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของยอดขายรวม เติบโตลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดการส่งออกไปประเทศจีนลดลง ขณะที่ยอดส่งออกไปอเมริกา-ยุโรปมีการปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 เหรียญต่อบาร์เรลจากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ ‘ธุรกิจเคมิคอลล์’ มีต้นทุนที่สูงขึ้น
ส่วน ‘ตลาดปูนซีเมนต์’ ในประเทศไทยในไตรมาส 2/62 เติบโต 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ตลาดแพ็กเกจจิ้งในไตรมาส 2/62 เติบโตชะลอตัว โดยปริมาณขายของบรรจุภัณฑ์กระดาษอยู่ท่ี่ 199,000 ตัน ลดลง 5%
ด้านการปรับตัวในแต่ละธุรกิจ รุ่งโรจน์มองว่าบริษัทต้องเน้นการบริหารจัดการการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน โดยแยกเป็นรายธุรกิจ ได้แก่
ธุรกิจเคมิคอลส์ – เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บริการที่มีมูลค่าเพิ่ม และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การใช้เม็ดพลาสติกที่คุณภาพสูงกว่าเดิม ตลอดจนการพัฒนาสินค้าเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษที่สามารถรีไซเคิลได้
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง – ธุรกิจนี้บริษัทยังคงมีการเติบโตจากการลงทุนของโครงการก่อสร้างของภาครัฐในไทย เช่นเดียวกับการเติบโตในภูมิภาคอาเซียนทุกประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซีย ดังนั้น บริษัทจึงเน้นการรุกตลาดใหม่ เช่น ธุรกิจค้าปลีก อย่างการเปิดศูนย์ “SCG Home บุญถาวร” รวมถึงการขยายคลังสินค้าให้มากขึ้น
ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง – เน้นการขยายกำลังการผลิต ทั้งโรงงาน UPPC ในฟิลิปปินส์ และโรงงาน BATICO ในเวียดนาม รวมทั้งการซื้อหุ้น Fajar ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย
“เรายังคงขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางของตลาดโลก เช่น ธุรกิจแพ็กเกจจิ้งที่ส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปยังจีนและกลุ่มประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น หรือธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ส่งออกสินค้ากลุ่มฝ้าและผนังไปจำหน่ายในเกาหลีใต้ ก่อนมีแผนจะขยายตลาดไปยังโซนยุโรป” รุ่งโรจน์เสริม
อย่างไรก็ตาม จากที่บริษัทตั้งเป้าว่าในปี 2562 จะเติบโต 5% ล่าสุดบริษัทปรับประมาณการว่าผลประกอบการในปีนี้จะเติบโตลดลง 5-10% จากปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้
SCG – ผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2562
รายได้จากการขาย 221,473 ล้านบาท เติบโตลดลง 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
กำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 20,741 ล้านบาท เติบโตลดลง 16% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีมูลค่า 618,591 ล้านบาท โดย 33% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
ปี 2560 |
ปี 2561 |
ไตรมาส 1/62 |
6 เดือนแรกปี 2562 |
|
สินทรัพย์รวม |
573,412.03 |
589,787.38 |
598,385.72 |
618,591 |
รายได้รวม |
482,449.47 |
505,307.44 |
118,272.21 |
221,473 |
กำไรสุทธิ |
55,041.25 |
44,748.34 |
11,662.39 |
20,741 |
หน่วย: ล้านบาท
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์ฯ
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



