เกิดเป็นกระแสฮือฮาในโลกออนไลน์อย่างมาก เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประกาศรับนักศึกษาหลักสูตร “กัญชาเวชศาสตร์” ขึ้น
เป็นหลักสูตรกัญชาระดับปริญญาตรีหลักสูตรแรกของประเทศไทย
เกิดคำถามขึ้นมากมายว่าเนื้อหาของหลักสูตรจะเป็นอย่างไร จบแล้วจะไปทำงานที่ไหน แล้วทำไมมหาวิทยาลัยถึงกล้าเอากัญชา พืชที่เป็น ”ยาเสพติด” และสังคมมองในภาพลบมาตลอด มาให้คุณค่าในเรื่องการเรียนการศึกษาถึงขั้นให้ใบปริญญารับรองคุณวุฒิ
Marketeer เลยตามไปสัมภาษณ์ รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม คณบดีวิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จนได้คำตอบชัดเจนว่า
เรื่องนี้ไม่มีนัยอะไรมากมายไปกว่ามหาวิทยาลัยกำลังทำหน้าที่ของตัวเองในเรื่องให้การศึกษาและการสร้างคน
เพราะตอนนี้ภาพของกัญชาในสังคมเปลี่ยนไป หลายประเทศเริ่มผ่อนปรนในเรื่องกฎหมาย ทำให้สิ่งที่เคยผิดกฎหมายกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และยังเป็นพระเอกในการสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ
ในบ้านเราเองเริ่มมีการพูดถึงคุณสมบัติด้านอื่นๆ ของกัญชามากขึ้น บางคนถึงกับพูดต่อๆ กันว่ารักษาได้สารพัดโรค หลายคนเกิดความต้องการอยากจะปลูก อยากจะขายกัญชาขึ้นมา ในขณะคนที่มีความรู้จริงๆ เรื่องกัญชามีน้อยมาก
หลักสูตร “กัญชาเวชศาสตร์”เลยเกิดขึ้นเพื่อทำให้คนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยมีความรู้จริงในเรื่องของกัญชาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการปลูกไปจนถึงขั้นตอนสกัดนำมาใช้
เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่มีการเรียนการสอน 4 ปีเหมือนหลักสูตรทั่วไปในมหาวิทยาลัยทุกอย่าง แต่ที่ต่างไปบ้างคือคนที่มาเรียนไม่ได้จบแค่ ม.6 อย่างเดียว บางคนอาจจะจบปริญญาตรีด้านอื่นมาแล้ว ดังนั้น จะมีการเทียบโอนหน่วยกิตให้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่า 1 ปี
ตั้งเป้าคนมาเรียนอย่างน้อย 60 คน ในภาคปกติ และรับได้ไม่จำกัดสำหรับคนที่ต้องการมาเรียนในภาคพิเศษเสาร์อาทิตย์ โดยการสอนรุ่นที่ 1 จะเปิดขึ้นในภาคเรียนที่ 2 ประมาณเดือนมกราคม 2563 ค่าเล่าเรียนเทอมละประมาณ 3 หมื่นบาท
การสอนจะเริ่มตั้งแต่เรื่องการทำความเข้าใจเรื่องพืชกัญชา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การวิจัยสกัดกัญชา ไปจนถึงการแปรรูปจากผลิตภัณฑ์กัญชาตั้งแต่ต้นจนจบ
“ผู้ที่แสดงความสนใจหลังเปิดรับสมัครหลายคนจบปริญญาตรี ปริญญาโทมาแล้ว เป็นอาจารย์ก็มี ปริญญาเอกยังมีเลยครับ สิ่งที่หลายคนต้องการได้ไม่ใช่ใบปริญญาแล้วล่ะ แต่ต้องการความรู้ทางด้านกัญชา”
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียนจบทุกคนจะได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขา “กัญชาเวชศาสตร์”
จบสาขา “กัญชาเวชศาสตร์” ไปทำอาชีพอะไร
รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า อาจจะเป็นอาจารย์ที่เข้ามาสอนเพื่อให้ความรู้เรื่องกัญชาในสถาบันต่างๆ บางคนอาจจะไปเป็นนักธุรกิจที่มีความรู้เรื่องกัญชา สามารถยื่นขอใบอนุญาตในการปลูกเพื่อต่อยอดในเรื่องการทำธุรกิจได้ หรือเป็นนักวิจัยทางด้านกัญชา ซึ่งโรงงานต่างๆ ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร หรือเรื่องกัญชาก็ต้องการคนกลุ่มนี้ไปร่วมงานด้วย รวมถึงไปเป็นหมอที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกัญชา
เรื่องของกัญชาไม่ได้เป็นแค่กระแส
ผลการวิจัยชัดเจนว่า สารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์หลายอย่าง จนหลายประเทศทั่วโลกได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้
ทำให้เกิดกระแสของกัญชาอย่างต่อเนื่อง บ้านเราเองก็มีการผ่อนปรนให้หลายหน่วยงานปลูกกัญชาได้ คือ
1. หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์
2. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ หรือแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
3. สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์
4. เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายและร่วมดำเนินการกับหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา
แน่นอน ในอนาคตตลาดของกัญชามีโอกาสที่จะขยายตัวมากขึ้น และรัฐบาลเองก็มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า เพราะนอกจากเป็นส่วนผสมสำคัญของยาแล้ว ยังเป็นส่วนผสมของสินค้าต่างๆ เช่น ครีม ลูกประคบ แผ่นแปะรักษาโรคผิวหนัง รวมทั้งส่วนผสมในอาหารต่างๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ย้ำว่า กัญชาคือยาเสพติดให้โทษ ถึงจะมีคุณสมบัติเป็นยาแต่ยังประกอบไปด้วยสารเคมีตัวอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากมาย หากนำไปใช้ผิดๆ ก็จะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ
“ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนทั่วไปปลูกกัญชาเหมือนพืชเศรษฐกิจทั่วไป เสรีกัญชาเกิดยาก เพราะถ้าเข้าไปในวงจรที่มีการใช้ที่ไม่ถูกต้องเมื่อไหร่ จะสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติมากมายมหาศาลเหมือนกัน”
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



