เว็บไซต์ Starbucks ในญี่ปุ่นได้ปล่อยไอเท็มใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า ‘Starbucks Touch The Pen’ ออกมา กับการเป็นปากกาที่ไม่ได้มีเอาไว้แค่จดบันทึก แต่ยังสามารถเอาไว้แตะเพื่อจ่ายเงิน ใช้งานได้ไม่ต่างจาก Starbucks Card หรือบน Application
กับการออกแบบปากกาให้มีลักษณะคล้ายกับที่ใส่เมล็ดกาแฟในเครื่องบด และอีกความพิเศษก็คือการเป็นปากกาที่มีหมึกสีกาแฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อถึงความเป็นแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
ที่หากหมึกหมดเมื่อไหร่ก็สามารถนำปากกาไปเติมหมึกกับ Zebra แบรนด์ที่ร่วมทำ Starbucks Touch The Pen ได้
โดยราคา Starbucks Touch The Pen อยู่ที่ 5,320 เยน หรือราว 1,596 บาท แต่สำหรับแฟนๆ คนไหนที่กำลังจะกดเข้าไปสั่งซื้อ ก็ต้องขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะมันขายหมดเกลี้ยงไปเรียบร้อยแล้ว
และสำหรับคนที่กำลังรอล็อตใหม่ออกมา ก็ต้องขอบอกไว้อีกว่าหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม Starbucks Touch The Pen จะถูกขยับราคาขายมาเป็น 5,400 เยน หรือประมาณ 1,620 บาท
ไม่เพียงแต่ Starbucks Touch The Pen เพราะยังมีอีกหลายๆ ไอเท็มของ Starbucks ที่ผู้คนยอมจ่ายเงินหลักหลายร้อยไปจนถึงหลักพัน เพื่อนำสินค้าที่มีโลโก้ของ Starbucks มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นแก้วกาแฟหรือสิ่งของที่ไม่เกี่ยวกับกาแฟ อย่างตุ๊กตาหรือกระเป๋าก็ตาม
ทั้งที่หากลองมองมุมกลับกัน เวลาแบรนด์อื่นผลิตสินค้าแนว Souvenir ซึ่งเป็นสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าหลักของแบรนด์ แต่แปะโลโก้ของแบรนด์ลงไป แม้จะเป็นของที่ได้มาฟรีๆ แต่ผู้คนก็กลับเขินอายที่จะใช้
แต่ทำไม Starbucks ถึงทำให้ผู้คนเต็มใจที่จะซื้อสินค้าที่ไม่ใช่กาแฟ ถึงขนาดยอมจ่ายเงินให้ได้?
เรื่องนี้ Marketeer มองว่าประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยหลักๆ ด้วยกัน
1
แบรนด์ที่แข็งแรง
เพราะแบรนด์ Starbucks ใน Perception ของผู้คนไม่ได้มีเพียงแค่การเป็นร้านขายกาแฟ แต่ยังรวมไปถึงความเป็นแบรนด์ ‘พรีเมียม’ ทั้งในแง่ของราคาและคุณภาพสินค้า
แม้จะย้ายโลโก้ Starbucks ไปอยู่บนสินค้าอย่างอื่นที่ไม่ใช่แก้วกาแฟ ก็สามารถทำให้สินค้าเหล่านั้นมีภาพลักษณ์ที่พรีเมียมตามไปด้วย
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ มันก็คงจะเป็นเหมือนสินค้าแฟชั่นที่ผู้คนไม่ได้ใช้มันแค่ในเชิงฟังก์ชันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเชิงอีโมชั่นที่ผู้คนใช้เพื่อสะท้อนตัวตนในบางแง่มุม
และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาบางคนใช้ของ Starbucks ถึงไม่ดึงโลโก้ของแบรนด์ออก เหมือนกับสินค้าแนว Souvenir ของบางแบรนด์
2
ตั้งใจดีไซน์สินค้า ไม่ใช่แค่เอาโลโก้ไปแปะกับสินค้าอะไรก็ได้
นอกจากโลโก้ของแบรนด์ อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อสินค้าที่ไม่ใช่กาแฟของ Starbucks นั่นก็คือดีไซน์ที่สวยงาม
ทั้งรูปลักษณ์และสีที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันอย่างไม่เขินอาย ไม่ใช่หาสินค้าอะไรมาก็ได้แล้วค่อยแปะโลโก้ของ Starbucks ลงไปทีหลัง
ไม่เพียงแต่จะดึงดูดเงินจากลูกค้าทั่วไป แต่ด้วยแบรนด์ที่แข็งแรงและดีไซน์ที่สวยงาม จึงนำไปสู่การที่บางคนซื้อสินค้าที่ไม่ใช่กาแฟของ Starbucks เพื่อไปสะสม ถึงขนาดตามหาจากหลายสาขา หลายประเทศเพื่อเอามาเก็บไว้
หรือบางคนก็นำไป Resell จนบางครั้งก็สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าตอน Starbucks ตั้งขายซะอีก
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่ง Case Study ในการทำสินค้าแนว Souvenir ที่น่าสนใจ ที่ต้องคำนึงถึงการใช้งานจริงของผู้คน มากกว่าแค่การเอาโลโก้ของแบรนด์ไปแปะไว้แบบทื่อๆ เพื่อหวังจะให้ผู้คนนึกถึงแบรนด์
โดยที่แบรนด์ก็ลืมนึกไปว่าผู้คนอยากจะใช้มันจริงๆ หรือเปล่า
credit: lowyat/pcmag/starbucks/designtaxi
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



