ทรู แบรนด์ที่ต้องแกร่งทั้งในและนอกเกม วิเคราะห์ นวัตกรรมเพื่อสังคม ฉบับทรู คอร์ปอเรชั่น
True นิยามว่า นวัตกรรมเพื่อสังคม คือ การประยุกต์ใช้ความคิดใหม่ และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน สิ่งแวดล้อม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม
ท่ามกลางสังคมที่ปัญหาต่างๆ ที่ยังรอการแก้ไข หลายคนไม่ได้คาดหวังแค่ ‘ภาครัฐ’ เท่านั้น หากรวมถึง ‘ภาคธุรกิจ’ ที่ต้องมีส่วนร่วมด้วย
“สิ่งหนึ่งที่โตตามขนาดขององค์กรคือความคาดหวัง สมัยก่อนเขาฝากความหวังไว้กับรัฐบาล แต่ถ้าเราดูจริงๆ คนที่อยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือภาคเอกชน” ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขยายให้เห็นภาพ
ดร.ธีระพลเล่าว่า สมัยก่อนเวลาแบรนด์จะช่วยเหลือสังคมจะต้องใช้งบ CSR ซึ่งมาจาก ‘กำไร’ ของบริษัท ปีไหนทำกำไรได้มากก็อาจมีงบมากตามไปด้วย แต่ปีไหนที่ขาดทุน งบ CSR จะเป็นสิ่งแรกที่ถูกตัดทิ้ง
“แต่คอนเซ็ปต์ยุคปัจจุบันมันเปลี่ยนไป เป็นไปได้ไหมที่เราทำธุรกิจไปด้วยแล้วช่วยเหลือคนอื่นไปด้วย” ดร.ธีระพลตั้งคำถาม
ยิ่งในยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเต็มรูปแบบ แบรนด์ย่อมทำอะไรได้มากกว่าการทำธุรกิจ
เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ทรู เดินหน้าตามแนวคิด True Social Innovation for Sustainability คือการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม
“วันนี้เราตั้งเป้าหมายนวัตกรที่ 100,000 คน ในปี 2020”
ด้วยวิธีคิดแบบการสร้างพาร์ตเนอร์ชิป (Partnership) เพราะบริษัทมองว่าแบรนด์ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวคนเดียว
โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ Productivity ในข้อจำกัด ทำน้อย แต่ต้องได้มาก
“ทุกวันนี้เวลาเราจะทำธุรกิจหรืออะไรก็ตาม เราไม่ต้องเริ่มจาก 0 เรายืนบนไหล่ของยักษ์ หมายความว่าเราค้นข้อมูลเบื้องต้นจากกูเกิลได้ ธุรกิจเพื่อสังคมก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดออกจากโมเดลบริจาค เราคิดธุรกิจที่ทำให้มันไปได้เอง เทคโนโลยีพร้อม โอกาสพร้อม เอกชนก็พร้อม แล้วเราจะไปอยู่ใน Value Chain ได้อย่างไร”
True วางนวัตกรรมเพื่อสังคมเอาไว้ 3 หมวด คือ รายได้ สุขภาพ และความสุข
นวัตกรรมสร้างรายได้: ทรูดึงกลุ่มคน ‘ออทิสติก’ เข้ามาใน Value Chain ภาคธุรกิจ ซึ่งแต่เดิมคนกลุ่มนี้มีโอกาสน้อยเมื่อเทียบกับคนทั่วไป
การสร้างรายได้ให้คนกลุ่มนี้คือ เปิดพื้นที่และให้โอกาสเขาได้ทำงานจริงโดยใช้นวัตกรรม ตั้งแต่การตั้งศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก จัดหาช่องทางจัดจำหน่ายโดย 200 คนของมูลนิธิฯ ได้รับการฝึกทักษะอาชีพด้านต่างๆ
เกิดเป็นรายได้ให้เยาวชนออทิสติก 1.8 แสนบาทต่อเดือน และสมาชิกกว่า 320 ครอบครัว มีเงินฝากกว่า 2 ล้านบาท
เรื่องเรื่องเดียว แต่เชื่อมโยงกันทั้งสามมิติ จากรายได้ ไปสู่สุขภาพ (ร่างกายและสุขภาพการเงิน) ที่ดีขึ้น ทำให้มีความสุข
เรื่องเหล่านี้คือตัวอย่างที่ ทรู มองว่าเป็นนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนสังคม และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมแม้วันที่สังคมยังไม่ทันเรียกหา
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



