เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ อาวุธรุก ตลาดร้านกาแฟ ของ อิมแพ็ค (วิเคราะห์)

หากเอ่ยชื่อ “อิมแพ็ค” ภาพจำของใครหลายคนคงนึกถึงสถานที่จัดงานแสดงสินค้า คอนเสิร์ต อีเวนต์ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองทองธานี บนถนนแจ้งวัฒนะ “เมือง” ที่สร้างโดยภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ของ บริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน)

โดยหัวเรืออย่าง “พอล กาญจนพาสน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่นอกจากจะสืบทอดกลุ่มธุรกิจศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์การประชุม เขายังสนใจธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่นอกจากจะมีครัวแคทเทอริ่ง และร้านอาหารอยู่ในมือรวม 30 ร้านค้าแล้ว

อ่าน : จาก “เมืองทอง” สู่  “เมืองร้าง” พลิกกลับเป็น “เมืองใหม่”

วันนี้เขายังได้กระโดดลงมาในตลาดธุรกิจกาแฟเพื่อเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในมือ ด้วยการซื้อแฟรนไชส์ “เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์”  ร้านกาแฟพิเศษ (Spacilty Coffee) แบรนด์ดังจากฮ่องกง มาปักหมุดสาขาแรกที่กรุงเทพฯ

และตั้งเป้ารายได้ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในปีงบฯ นี้ (สิ้นสุด มี.ค. 63) แตะ 1,000 ล้านบาท และมีรายได้ 3,000 ล้านบาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า

หมายเหตุ: ตัวเลขจากงบประมาณประจำปี 2561/2562 สิ้นสุด ณ 31 มี.ค. 62

การมาในตลาดกาแฟของเครืออิมแพ็คฯ ในครั้งนี้ Marketeer มองว่าเป็นอะไรที่น่าจะสร้างสีสันในตลาดกาแฟได้ไม่น้อย ด้วยสาเหตุจาก

1. ตลาดกาแฟเป็นตลาดใหญ่ และด้วยมูลค่าตลาดรวมกาแฟที่มีมากถึง 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น Instant Coffee 30,000 ล้านบาท และ Roast and ground coffee 20,000 ล้านบาท ที่มีกลุ่ม Specialty Coffee ครองส่วนแบ่ง 10% หรือราว 2,000 ล้านบาท

การเลือก เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ที่เป็นร้านกาแฟ Specialty Coffee แม้จะดูเป็นตัวเลขที่ไม่มากแต่ตลาดกาแฟพิเศษนี้กลับโตขึ้นเรื่อยๆ และกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง เพราะกลุ่มคอกาแฟในปัจจุบันไม่ได้แค่อยากได้ลิ้มลองรสชาติของกาแฟเพียงอย่างเดียว แต่ยังอยากได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วย

2. และเพราะลูกค้าไม่ได้อยากลิ้มลองรสชาติของกาแฟเพียงอย่างเดียว แต่ยังอยากได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นกลุ่มลูกค้าที่ “พอล กาญจนพาสน์” ตั้งเป้าไว้คือ Coffee Hopper รวมทั้งลูกค้าจากโลเคชั่นที่ร้านตั้งอยู่ที่โครงการ ’เวลา หลังสวน’

โดย 70-80% จะเป็นลูกค้าชาวไทย ส่วนที่เหลือจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

3. ส่วนเรื่องของราคาแม้จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดไทย แต่พอลมั่นใจว่าสามารถแข่งขันได้โดยมีเรตราคาระดับเดียวกับสตาร์บัคส์ อยู่ที่ราว 120-200 บาท โดยพอลระบุว่า คีย์ซักเซสคือการแข่งด้วยคุณภาพ และการบริการ

และแม้ปัจจุบันเรื่องแบรนด์รอยัลตี้อาจจะไม่ใช่คำตอบของทั้งหมดที่ลูกค้าจะเลือกเสียเงินให้กับกาแฟสักหนึ่งแก้ว แต่ต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งรสชาติ การบริการ รวมถึงไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ตรงกัน เพราะในปัจจุบันมีร้านกาแฟให้ผู้บริโภคเลือกมากมายเหลือเกิน

โดยข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ และยูบีเอ็มเอเชียระบุว่า ตลาดธุรกิจร้านกาแฟไทยมีมูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท และในปีที่ผ่านมานั้นมีร้านกาแฟมากถึง 8,025 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 4.6%

4. นอกเหนือจากได้รายได้แล้ว พอลยังระบุว่าสิ่งที่เหนือกว่าคือการได้โนว์ฮาว การทำการตลาด การบริหารจัดการต่างๆ ที่น่าจะสามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของอิมแพ็คฯ ได้ เฉกเช่นเดียวกับการที่ในอดีตอิมแพ็คฯ ได้ซื้อแฟรนส์ไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น “สึโบฮาจิ” มา และได้โนว์ฮาวเป็นการทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น

– ผู้ก่อตั้ง “เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์” คือ เจนนิเฟอร์ ลิว นักธุรกิจชื่อดังของฮ่องกง ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ให้เป็นหนึ่งในผู้บริหารหญิงที่ทรงอิทธิพลในปี 2562 โดยมีแบ็กกราวน์ที่ครอบครัวทำธุรกิจแบงกิ้งและอสังหาริมทรัพย์

– เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์เกิดขึ้นจากสตูดิโอแห่งหนึ่งในย่านคอสเวย์ เบย์ ฮ่องกง เมื่อปี 2553  โดยในขณะนั้น เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิดและประสบการณ์สำหรับกลุ่มคนที่รักกาแฟเหมือนๆ กัน

– ปี 2555 ร้านกาแฟ เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ แห่งแรกได้เปิดตัวขึ้นที่ ถนน Yiu Wa ในคอสเวย์ เบย์

– สาขาแฟลกชิปในฮ่องกงได้รับการจัดอันดับ เป็นหนึ่งใน “25 ร้านกาแฟในโลกที่จะต้องไปเห็นก่อนที่คุณจะลาจากโลกนี้” (25 Coffee Shops Around The World You Have to See Before You Die) โดย BuzzFeed

และถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “ร้านกาแฟที่ดีที่สุดในโลก” (The World’s Best Coffee Shops) จาก The Telegraph ในปี 2559

– ปัจจุบันสาขาทั้งหมดของ เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ มีทั้งหมด 20 สาขา แบ่งเป็น

สาขาในฮ่องกง 12 สาขา

สาขาในสิงคโปร์ 4 สาขา

สาขาในจีน 3 สาขา

และสาขาประเทศไทย 1 สาขา

– ตั้งเป้าปี 2563 มีสาขา “เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์” ทั้งหมด 30 สาขา ส่วนในประเทศไทยตั้งใจจะขยายสาขาอีก 3 แห่ง ภายใน 5 ปี ด้วยงบ 200 ล้านบาท

โดยสาขาที่ 2 เล็งทำในศูนย์การค้า ส่วนสาขาที่ 3 จะเป็นในเมืองทองธานี

– ทั้งนี้ เจนนิเฟอร์ ลิว ระบุว่า สำหรับจุดเด่นในด้านกาแฟพิเศษนั้น เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ คัดสรรเมล็ดกาแฟจาก 5% ของแหล่งกาแฟอาราบิก้าพิเศษคุณภาพดีที่สุด

โดยแฟลกชิปในประเทศไทยนั้นได้เลือกใช้เมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกในเชียงใหม่ ลาว และ Alta Mogiana จากประเทศบราซิล ซึ่งผ่านการทดสอบคุณภาพด้วยวิธีการคัปปิ้ง (Cupping) อย่างละเอียดและพิถีพิถันจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Q-grader และจากผู้คั่วกาแฟมืออาชีพ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online