ตลาดไอศกรีม Soft Serve หอมหวานขนาดไหน ถึงทำให้เซ็นทรัลต้องปั้นแบรนด์เอง แล้วลงมาเล่นในสนามนี้ด้วย !
🍦🍦🍦
รู้หรือเปล่า? ว่าตลาดไอศกรีม Soft Serve ในไทยนั้นมีมูลกว่า 2,500-3,000 ล้านบาท
โดยมีแบรนด์ซึ่งมีสัญลักษณ์การคว่ำถ้วยไอศกรีมอย่าง Dairy Queen เป็นเจ้าตลาดที่กินสัดส่วนไปกว่า 70-80%
ทั้งที่มีแบรนด์เจ้าตลาดครองสัดส่วนไปเกินครึ่งแล้ว แต่ CRG หรือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ก็ยังเลือกที่จะลงมาเล่นในสนามนี้ ด้วยการเปิดแบรนด์ไอศกรีม Soft Serve น้องใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ‘Soft Air’
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแบรนด์อาหารที่อยู่ภายใต้การดูแลของ CRG จะเป็นแบรนด์ที่ซื้อมาจากคนอื่น อย่าง KFC, Mister Donut, Auntie Anne’s หรือ Ootoya
แต่ Soft Air กลับเป็นแบรนด์ที่ CRG ทำขึ้นมาเอง ตั้งแต่ผลิต สร้างแบรนด์ และในอนาคตคือการขายแฟรนไชส์
หลายคนอาจสงสัย ว่าเหตุผลของการลุกขึ้นมาทำแบรนด์ไอศกรีมเองในครั้งนี้คืออะไร ทั้งๆ ที่ CRG ก็มีแบรนด์ไอศกรีมอย่าง Cold Stone อยู่ในมืออยู่แล้ว
หรือ Soft Air มีหมัดเด็ดอะไรที่จะเอาไปสู้กับเจ้าตลาดอย่าง Dairy Queen ซึ่งมีกว่า 460 สาขาทั่วประเทศได้
ด้านล่างนี้ คือคำตอบ
1
‘ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการตลาด ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า
แม้ในตลาด Soft Serve จะมีผู้เล่นรายใหญ่ แต่นี่ก็เป็นตลาดที่มีผู้เล่นจำนวนไม่มาก
และไอศกรีม Soft Serve ก็เป็นสินค้าที่ขายแบบ Mass ได้ สร้าง volume ในการขายได้ดี
2
นอกจากเป็นตลาดที่มีผู้เล่นน้อย ไอศกรีม Soft Serve ที่มีอยู่ในตลาดก็มีแต่ความจำเจ คือส่วนใหญ่ก็มีแต่รสวานิลลา
ความจำเจของรสชาตินี้จึงกลายมาเป็นโอกาสและจุดเด่นที่ Soft Air ใช้ต่อกรกับแบรนด์คู่แข่ง
นั่นคือการเป็น Soft Serve ที่มีรสชาติให้เลือกหลากหลาย
ในโคนหนึ่งสามารถใส่ได้มากถึง 5 รสชาติ และเป็น Soft Serve ที่มีลูกเล่นมากกว่าการเป็นไอศกรีมที่บีบใส่โคนทั่วไป
3
แม้ใน CRG จะมีแบรนด์ไอศกรีมอย่าง Cold Stone อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ CRG ยังเลือกที่จะทำแบรนด์ Soft Air ขึ้นมา นั่นเป็นเพราะว่า
ถึงทั้งสองแบรนด์จะเป็นไอศกรีมเหมือนกัน แต่อยู่กันคนละ segment แตกต่างกันทั้งรูปแบบและราคา
คือ Cold Stone จะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 200 บาท
ส่วน Soft Air จะมีราคาอยู่ที่ระหว่าง 19-80 บาท
4
CRG ใช้เวลาในการพัฒนาแบรนด์ Soft Air ประมาณ 2 ปี
5
เหตุผลที่ CRG เลือกทำแบรนด์ Soft Air ขึ้นมาเอง เพราะพวกเขามีโรงงานผลิตไอศกรีมเป็นของตัวเองอยู่แล้ว
และก็มีแนวโน้มว่าในอนาคต CRG จะทำแบรนด์อาหารที่เป็นของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ จากตอนนี้ที่มีเพียง 3 แบรนด์ คือ Terrace, อร่อยดี และ Soft Air
6
ตอนนี้ Soft Air เปิดมาได้ 1 เดือน มีอยู่ 1 สาขาที่สยาม เซ็นเตอร์
ส่วนปีหน้าตั้งเป้าว่าจะเปิดอีก 6-10 สาขา
และในอีก 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าว่าจะขยายเป็น 100 สาขา
7
การขยายสาขา จะอยู่ในรูปแบบที่ CRG เข้าไปลงทุนเปิดเอง 50%
ส่วนอีก 50% เป็นการขยายในรูปแบบของแฟรนไชส์ (Dairy Queen ก็ลงทุนเปิดสาขาเองและขยายแบบแฟรนไชส์ในสัดส่วน 50-50 เช่นกัน)
โดยสาขาของ Soft Air จะมีหลากหลายรูปแบบ งบในการลงทุนของแต่ละสาขาก็อยู่ที่ราวๆ 400,000-1,000,000 บาท
บนทำเลที่อยู่ในศูนย์การค้าและ Hyper Market
8
Soft Air ใช้งบในการทำ Marketing ราว 3-5 ล้านบาท
9
อีกช่องทางการขายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คือการเอา Soft Air ไปวางขายในร้านอาหารที่อยู่ในเครือ CRG
10
ด้วยจำนวนสาขาของ Soft Air ที่น้อยกว่าเจ้าตลาดอย่าง Dairy Queen เป็นอย่างมาก
ความคาดหวังของพวกเขาจึงไม่ใช่การแย่งชิงที่ 1 ในตลาดไอศกรีม Soft Serve
แต่คือเป้าหมายอย่างยอดขาย 1,000 ล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
ซึ่งจากการเติบโตกว่า 2-3% ของตลาด Soft Serve ในช่วงที่ผ่านมา ปิยะพงศ์ จึงคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าตลาดนี้จะมีมูลค่าแตะไปถึง 5,000 ล้านบาท
#MarketeerNEWS
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



