ประวัติ Aston Martin แบรนด์รถหรูที่อาจไม่คุ้นหู แต่เป็นรถคู่ใจของ OO7
ยอดขายรถทั่วโลกราว 77.5 ล้านคันเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาถือเป็นข่าวร้ายของอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะลดลงมากสุดในรอบ 10 ปี โดย Aston Martin เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เจ็บหนักมากสุด เนื่องจากยอดขายรถที่ตกลงไปกว่า 600 คัน ฉุดกำไรร่วงเหลือเพียง 130 ล้านปอนด์ (ราว 5,121 ล้านบาท) ลงมาเกือบครึ่งหนึ่งจาก 247 ล้านปอนด์ของเมื่อปี 2018 (ราว 9,730 ล้านบาท)
อาการเครื่องสะดุดครั้งล่าสุดของ Aston Martin กำลังถูกจับตามอง เพราะเกิดขึ้นขณะที่บริษัทกำลังต้องหาเงินก้อนใหญ่มาใช้หนี้ และผลักดันรถรุ่นที่เป็นความหวังออกสู่ตลาด
หนึ่งในคนที่ตกเป็นข่าวว่าให้ความสนใจนำเงินก้อนดังกล่าวมาให้แลกกับการถือหุ้นซึ่งอาจปูทางสู่การซื้อกิจการต่อไปคือ Li Shufu ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Geely กลุ่มยานยนต์จีนยักษ์ใหญ่
ทางขรุขระท่ามกลางวิกฤตของตำนานยานยนต์
ปี 2019 Aston Martin ทำยอดขายทั่วโลกได้ 5,809 คัน ลดลงจาก 6,441 คันในปี 2018 กระทบต่อเนื่องไปถึงตัวเลขสำคัญอื่นๆ ลงมาด้วย โดยมูลค่าแบรนด์อยู่ที่ 3,265 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 97,950 ล้านบาท) ลงจาก 3,558 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 106,740 ล้านบาท)
ส่วนมูลค่าหุ้นก็ลงมาต่ำกว่า 1 ปอนด์ (ราว 40 บาท) ทั้งที่เมื่อปี 2018 ทำราคาระหว่าง IPO ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ได้ถึง 19 ปอนด์ (ราว 748 บาท) ต่อหุ้น
Andy Palmer–CEO ของ Aston Martin ยอมรับว่าเป็นปีที่น่าผิดหวังของบริษัทหลังต้องเผชิญความท้าทายมากมาย อย่างไรก็ตาม ข่าวร้ายของ Aston Martin ยังไม่หมดแค่นั้น
เพราะในไตรมาสแรกต้องหาเงินให้ได้ 200 ล้านปอนด์ (ราว 78,000 ล้านบาท) มาจ่ายหนี้และผลิต DBX รถอเนกประสงค์ (SUV) รุ่นแรกที่มียอดจองเข้ามามากให้ตรงวันส่งมอบให้บรรดาลูกค้ากระเป๋าหนัก
ตามเทรนด์รถ SUV ที่กำลังโตวันโตคืนจนเป็นเหตุให้ปี 2019 Rolls-Royce แบรนด์รถคู่แข่งทำยอดขายได้มากสุดตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์มา
หลายปัญหาของ Aston Martin ที่ประดังเข้ามาพร้อมกันในปี 2019 เกิดจากหลายเหตุผลประกอบกัน ทั้งตลาดรถทั่วโลกหดตัว ความผันผวนจากการถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
ประกอบกับ Vantage รถสปอร์ตรุ่นล่าสุดขายไม่ค่อยออก และยังต้องจ่ายโบนัสหรือค่าคอมมิชชั่นให้ฝ่ายขายตาม Showroom เป็นเงินไม่น้อย
ท่ามกลางวิกฤตดังกล่าวมีข่าวว่า Li Shufu เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีวงการยานยนต์ที่อยากเข้ามาลงทุนใน Aston Martin ตำนานแบรนด์รถอังกฤษ แลกกับการเข้ามาถือหุ้น และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกันกับ Lotus แบรนด์รถอังกฤษอีกแบรนด์ในเครือ Geely
ทั้งหมดอาจเปิดทางสู่การซื้อกิจการต่อไป และจะทำให้ Geely มีแบรนด์รถยุโรปเพิ่มมาอีกแบรนด์ ถัดจาก Volvo และ Lotus ต่อไป
ทว่ายังต้องติดตามว่าสุดท้ายใครจะได้ไป เพราะ Lawrence Stroll มหาเศรษฐีชาวแคนาดา เจ้าของทีม Racing Point ในการแข่งขันรถ F1 ก็เป็นอีกคนที่อยากเข้ามาถือหุ้นใน Aston Martin เช่นกัน
รถคู่ใจ OO7 ที่ผ่านวิกฤตมามาก
Aston Martin อาจไม่ใช่ชื่อคุ้นหูของคนทั่วไป แต่เป็นรถที่คอรถหรูล้วนอยากได้ขับสักครั้งและเป็นรถที่คอหนังสายลับรู้จักดี
ประวัติ Aston Martin
Aston Martin ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1913 จากการจับมือกันของ Lionel Martin กับ Robert Bamford นักธุรกิจและวิศวกรชาวอังกฤษ ผ่านเงินจากการขาย Singer แบรนด์รถอังกฤษในขณะนั้น และนำชื่อของหุบเขาจัดแข่งรถกับนามสกุลของ Lionel Martin มารวมกัน
อีกหลาย 10 ปีถัดจากนั้น Aston Martin ต้องขับผ่านทางธุรกิจที่ขรุขระมากมาย ทั้งสงครามโลกถึง 2 ครั้ง การล้มละลายและเปลี่ยนมือเจ้าของมาอีกหลายคน แต่ DB5 รถสปอร์ตรุ่นดังที่ Sean Connery ขับปราบเหล่าร้ายในหนัง 007 ภาค Goldfinger ปี 1964 ก็เป็นที่จดจำของคนทั่วโลกและสร้างตำนาน Product Placement เอาไว้
ปี 1980 สถานการณ์ของ Aston Martin กลับมาดีขึ้นอีกครั้งหลังคนทั่วโลกกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ พอถึงปี 1987 Aston Martin ต้องการขยายธุรกิจแต่ติดขัดเรื่องเงินทุน
Ford ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งปูทางสู่การซื้อในเวลาต่อมาในปี 1991 จนในที่สุด Aston Martin กลายเป็นกลุ่มแบรนด์รถหรู (PAG) ของ Ford ร่วมกับ Jaguar, Lincoln และ Volvo
หลัง PAG แตก ในปี 2008 Aston Martin ก็ขึ้นๆ ลงๆ อีกหลายครั้ง แต่ก็ยังกลับมาเร่งเครื่องได้อีกจน IPO เมื่อปี 2018 โดยปีนี้ทีมผู้บริหารของ Aston Martin หวังว่าจะมาเครื่องแรงได้อีกครั้ง ด้วยการส่งรถถึง 4 รุ่นไปปรากฏใน No Time to Die หนัง 007 ภาคล่าสุด เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วใน 007 ภาคก่อนๆ/theguardian, astonmartin, ft, reuters, fortune, osv, branddirectory, wikipedia
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



