Geely ค่ายรถยนต์สุดเก๋าจากแดนมังกร ผู้ต่อลมหายใจให้ Volvo
ข่าวใหญ่ลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้คือการปิดฉากตำนาน Beetle หลัง Volkswagen เลิกผลิต New Beetle รถในตระกูล “รถเต่า” ตามที่ประกาศไว้เพื่อลดตัวเลขขาดทุน แต่ถ้าย้อนไปเมื่อปี 2010 ข่าวดังสุดในแวดวงเดียวกันคงไม่พ้นข่าว Geely ค่ายรถจีนทุ่มเงินก้อนโตซื้อกิจการ Volvo ที่ยังไม่พ้นวิกฤต โดยอีกชื่อที่ถูกจับตามองในขณะนั้นคือ Li Shufu (หลี่ ชูฟู่) ผู้ก่อตั้ง Geelyเพราะหากทำพลาดทั้งแบรนด์ที่ตนปลุกปั้นมาและแบรนด์สวีเดนเก่าแก่อาจพบจุดจบ
Li Shufu เกิดเมื่อปี 1963 ในเมืองไท่โจว มณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน โดยจากฐานะครอบครัวระดับปานกลางที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รถยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์จึงเป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อม แม้เริ่มมีความชอบในรถยนต์จากรถของเล่นที่ได้เคยสัมผัสสมัยวัยเด็กแล้วก็ตาม
ถัดมาขณะที่อายุ 19 ปี Li Shufu มีรายได้ก้อนแรกจากร้านถ่ายรูปเล็กๆ ซึ่งตั้งต้นมาจากเงินทำทุน 16 เหรียญสหรัฐ (ราว 500 บาทตามค่าเงินปัจจุบัน) ที่พ่อให้
เมื่อนำกำไรจากร้านถ่ายรูป การขายอะไหล่กล้องและแร่ที่มีค่าอย่างเงินและทองจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มารวมกับเงินอีกก้อนที่ยืมมาจากครอบครัว ทำให้ Li Shufu สามารถตั้งโรงงานประกอบตู้เย็นขึ้นภายใต้ชื่อ Geelyได้ในปี 1986
ซึ่งอีกราว 10 ปีต่อมาเปลี่ยนไปผลิตรถจักรยานยนต์ภายใต้ชื่อเดียวกันที่ราคาถูกกว่าของแบรนด์ญี่ปุ่นถึงครึ่งหนึ่ง โดยมีรถยนต์ขนาดกะทัดรัดราคาย่อมเยาตามออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน
Panda รถรุ่นแรกๆ ของ Geely
ช่วงแรกๆ รถของ Geelyทำยอดขายได้ไม่ดีนัก แต่หลังได้ Daewoo แบรนด์รถเกาหลีใต้มาช่วยปรับปรุงคุณภาพ และการออกแบบสถานการณ์ก็ดีขึ้น จนรถที่ใช้ชื่อรุ่นแปลกๆ อย่างแพนด้าและเสือดาว ก็สามารถเจาะตลาดกลุ่มรถราคาย่อมเยาในจีนซึ่งผู้บริโภคมีแนวโน้มย้ายค่ายสูงได้สำเร็จ
จากนั้น Geelyก็รุดหน้าไปไม่ต่างจากรถเครื่องเริ่มแรงที่ออกตัวสวย หลักฐานยืนยันคือการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงปี 2004 และตามด้วยออกบูธที่งาน Frankfurt Motor Show ในปีถัดมา
Geely ในงาน Frankfurt Motor Show 2005
ปี 2010 Li Shufu เร่งเครื่อง Geely ครั้งใหญ่ด้วยการทุ่มเงินถึง 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 55,800 ล้านบาท) ซื้อกิจการ Volvo จาก Ford พร้อมภาระหนี้ท่ามกลางการถูกปรามาสว่าจะพา Volvo ยิ่งแย่
แต่ผู้บริหารชาวจีนรายนี้ก็แสดงความจริงใจต่อการซื้อกิจการครั้งนี้ ด้วยการระบุว่า “Volvo เป็นแบรนด์ที่เพียบพร้อมแต่กลับถูกมองข้าม และองค์ความรู้กับเทคโนโลยีต่างๆ ของ Volvo จะช่วยยกระดับ Geelyให้ดีขึ้น”
Li Shufu (ซ่้าย) กับ Haken Samuelsson (ขวา) CEO ของ Volvo
เสียงครหาที่มีต่อการซื้อกิจการครั้งนี้ค่อยๆ เบาลงและเปลี่ยนเป็นเสียงชม หลัง Volvo กลับมาดีขึ้นผ่านเงินที่ Geelyอัดฉีดลงไป และการปล่อยให้ผู้บริหารของ Volvo ได้คลายวิกฤตตามแผนที่วางไว้ ส่งผลให้ยอดขายทั่วโลกของ Volvo ทยอยเพิ่มขึ้น
จาก 450,000 คันในปี 2011 มาเป็นกว่า 642,000 คันในปี 2018 และขยับขึ้นมาเป็นแบรนด์รถมูลค่าสูงสุดอันดับ 13 ของโลกในปีเดียวกันด้วยตัวเลข 12,635 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 391,685 ล้านบาท) จนมาปีนี้ขยับสู่อันดับที่ 10 ด้วยตัวเลขมูลค่าที่เพิ่มเป็น 13,772 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 426,932 ล้านบาท)
การได้ Volvo เข้ามาอยู่ใต้ชายคา ส่งผลให้ Geelyดีขึ้นด้วย ตรงตามที่ถ้าแก่ใหญ่ใจจึงรายนี้ตั้งเป้าไว้ โดยจากผลประกอบการเพียง 3,010 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 93,310 ล้านบาท) และตำแหน่งที่ 75 ในตารางแบรนด์จีนมูลค่าสูงสุดในปี 2010 เพิ่มขึ้นเป็น 15,950 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 494,450 ล้านบาท) พร้อมขยับมาอยู่ที่อันดับ 46 ในปี 2018
รถรุ่นใหม่ๆ ของ Geely ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน Geelyภายใต้การบริหารของ Li Shufu วัย 56 ปี เป็นแบรนด์รถยนต์มูลค่าสูงสุดอันดับ 19 ของโลกและแบรนด์รถยนต์มูลค่าสูงสุดของจีน มีแบรนด์ในเครือมากมาย ครอบคลุมแทบทุกความต้องการของผู้บริโภค
ทั้ง Volvo (รถหรู), Lotus (Super Car) และ Proton (กลุ่มรถราคาเข้าถึงได้) หรือแม้กระทั่งกลุ่มนวัตกรรมอย่าง Polestar (รถไฟฟ้า)
Polestar แบรนด์รถไฟฟ้าในเครือ Geely
และ Terrafufugia (รถบินได้) ขณะเดียวกันยังมีหุ้นอยู่ใน Daimler-Benz บริษัทแม่ของ Mercedes-Benz อีกด้วย
ด้วยความสำเร็จทั้งหมดนี้สื่อมวลชนจีนจึงยกย่องให้ Li Shufu เป็น Henry Ford แห่งอุตสาหกรรมยานยนต์จีน/succcessstory, globaltimes, reuters, bloomberg, geely, statista, brandfinance, wikipedia
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ