ความเคลื่อนไหวลำดับต้นๆ ในทุกธุรกิจที่ดึงให้เราหันมาสนใจได้เสมอ คือการต่อยอดหรือขยับขยายทั้งที่เกี่ยวเนื่องกันและข้ามไปสู่ทิศทางใหม่ เพราะเป็นหมุดหมายของการพัฒนาและการสานต่อจากจุดเริ่มต้น เหมือนที่ล่าสุด Nintendo เรียกความสนใจได้ไม่น้อย ด้วย Super Nintendo World โซนเครื่องเล่นจากเกมดังในเครือที่สวนสนุก Universal Studios Japan ในญี่ปุ่น
ไม่เกินกลางปีนี้ทั้งคอเกมและแฟนๆ สวนสนุกคงได้สัมผัสว่า Super Nintendo World จะเป็นอย่างไร และทำให้เหมือนหลุดเข้าอยู่ในเกมดังของ Nintendo ได้จริงหรือไม่ แต่ในทางธุรกิจนี่คือ การรุกสู่ธุรกิจใหม่ของค่าย Video Game เก่าแก่ ก่อนคู่แข่ง เพราะไม่สามารถพึ่งพาธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป
ชิงความได้เปรียบ ด้วยความสนุกทะลุจอ
ระหว่างยุค 80 ถึง 90 Nintendo เป็นชื่อที่เด็กทั่วโลกรู้จักดี ในฐานะค่าย Console Game และยังเป็นบริษัทแรกๆ ที่เปิดตลาดเครื่องเล่นเกมพกพาแบบเปลี่ยนตลับเกมได้ผ่าน Gameboy
ทว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา Nintendo ‘เครื่องรวน’ อย่างมากโดยเฉพาะจากความนิยมของเกมบน Mobile Device (Smartphone, Tablet) จนฉุดให้ยอดขายในปีถัดมาลดลง และร่วงสู่ 4,583 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 137,490 ล้านบาท) เช่นเดียวกับที่บนตารางแบรนด์มูลค่าสูงสุดของญี่ปุ่นซึ่งตกฮวบลงไปอยู่อันดับที่ 47
เพื่อกู้สถานการณ์ ซาโตรุ อิวาตะ CEO ของ Nintendo ณ ขณะนั้นจึงจับมือกับ Universal สร้างโซนเครื่องเล่นขึ้นใน Universal Studios Japan สวนสนุกในเมืองโอซาก้า ที่ฝ่ายหลังยอมลงทุนถึง 546 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 16,380 ล้านบาท)
ถือเป็นการลงทุนที่มากสุดตั้งแต่ที่ Universal Studios Japan เปิดทำการเมื่อปี 2001 และแซงหน้าโซน Harry Potter ที่สร้างด้วยทุน 409 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 12,270 ล้านบาท)
จุดเด่นของโซน Super Nintendo World คือ Mobile และ Wearable Device ที่จะสร้างประสบการณ์เหมือนกับการได้เป็น Mario จริงๆ สอดคล้องกับ Concept ไร้ขอบเขตและเหนือกว่าสวนสนุกของ Disneyland ภายใต้การออกแบบของ ชิเกรุ มิยาโมโต้ ผู้ให้กำเนิดเกม Mario Bros.
แม้เป็นการต่อยอดลักษณะเดียวกับ Disney ผ่านภาพยนตร์หรือตัวละครที่ครองลิขสิทธิ์อยู่ แต่ก็เป็นการ ‘บุกด่านใหม่’ ของ Nintendo ได้ก่อนที่คู่แข่งอย่าง Sony และ Microsoft
พร้อมกันนี้ยังเป็นแผน Promote แบบเกาะกระแส Tokyo Olympic ในปีนี้ และพาเกมของ Nintendo ไปยังทิศทางใหม่ๆ ท่ามกลางขาขึ้น หลังปี 2019 ทำยอดขายได้เพิ่มเป็น 10,914 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 327,420 ล้านบาท) และตำแหน่งบนตารางมูลค่าแบรนด์สูงสุดของญี่ปุ่นที่เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับ 24
ถ้า Super Nintendo World ไปได้สวยทาง Universal ก็จะมีไม้เด็ดเพื่อเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวในตลาดญี่ปุ่น เพราะจำนวนนักเที่ยวของ Universal Studios Japan ยังตามหลัง Tokyo Disneyland อยู่มาก และอาจขยายไปเปิดสวนสนุก Universal Studios ในประเทศอื่น เช่นในสหรัฐฯ และสิงคโปร์ได้ต่อไปตามแผน
จากบริษัทไพ่สู่ Video Game เบอร์ใหญ่
กว่าจะมาเป็นชื่อที่เหล่า Gamer คุ้นเคยในปัจจุบัน Nintendo ก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร โดยเริ่มจากเป็นบริษัทผลิตไพ่สำหรับเล่นยามว่าง ภายใต้ชื่อ Yamanoushi Nintendo ในปี 1889 ซึ่งทำเงินให้บริษัทอย่างมหาศาลมาอีกหลายสิบปี จนตัดชื่อบริษัทให้สั้นลงเหลือเพียง Nintendo ในปี 1953 และทำ IPO ในปี 1962
ระหว่างปี 1963 – 1968 Nintendo ขยายธุรกิจไปสู่แวดวงอาหาร โรงแรม แท็กซี่ และของเล่น แต่ที่สุดก็มาหยุดที่ของเล่น ข้ามมาปลายยุค 70 เปลี่ยนไปผลิตเกมตู้ยอดเหรียญ
ต่อมาเกมตู้ขนาดใหญ่ถูกย่อส่วนลงสู่เกม Video Game แบบเปลี่ยนตลับและเล่นในบ้านได้ภายใต้ชื่อ Famicom ซึ่งขายดีไปทั่วโลก โดยมี Mario Bros. เป็นเกมที่สร้างชื่อและคนทั่วโลกยังจำได้ในปัจจุบัน
ยุค 90 Nintendo ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดเครื่องเล่นเกมแบบพกพากับ Gameboy ท่ามกลางการขับเคี่ยวกับ Sega ในตลาด Console Game และในตลาดเดียวกันนี้ต่อมา Nintendo ยังเผชิญกับคู่แข่งอย่าง Sony และ Microsoft ที่ส่ง PlayStation และ Xbox ลงมาสู้
ปัจจุบัน Nintendo เปลี่ยนมาเป็นบริษัท Video Game ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายมีให้เล่นในหลาย Platform และกลับมายืนหนึ่งในตลาดเกมแบบพกพาเต็มตัวด้วย Switch ยืนยันได้จากยอดขายมากกว่า 40 ล้านเครื่องทั่วโลกในเวลาเพียง 2 ปี
นอกจากนี้ ยังหันมาจับตลาดผู้รักการออกกำลังกายด้วย Ring Fit พร้อมเกมบน Mobile Device อยู่อีกพอสมควร/cnn, theverge, bloomberg, mainichi, nintendo, statista, variety, branddirectory, referenceforbusiness, wikipedia
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ