“การไม่มีหนี้ (ท่วมหัว) ถือเป็นลาภอันประเสริฐ”

แต่สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูงถือเป็นหนึ่งในความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ใกล้เข้าขั้น “ฝืดเคือง” จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ใกล้ระส่ำจากเศรษฐกิจจีนที่มีทีท่าชะลอตัวอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แถมด้วยไข้หวัดนก (H5N1) ในจีน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ข้อมูลจาก ธปท. ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2561 หนี้ครัวเรือนกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสินเชื่ออุปโภคและบริโภคทุกประเภท ซึ่งเป็นผลจากทั้งการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยที่สูงขึ้น และพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มากขึ้น ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนต่ำลงตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้หลายครัวเรือนมีรายได้ลดลงจากการไม่ได้รับโอที ไม่ได้รับโบนัส หรือบางครอบครัวอาจมีคนถูกเลิกจ้าง

นอกจากนี้ ยังพบว่าครัวเรือนไทยที่มีภาระหนี้ต่อเดือนสูงส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค ผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง โดย 42% ของการผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต จากการสำรวจพบว่า มีหลายครัวเรือนต้องเจอกับปัญหาที่ทำให้รายได้ลดลง ก็มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่ฐานะการเงินเปราะบาง อันได้แก่ ครัวเรือนรายได้น้อย ครัวเรือนเกษตรกร และผู้ที่เกษียณอายุ

“หนี้เก่าไป หนี้ใหม่มา” วงจรหนี้ท่วมหัว

ออมน้อย มือเติบ รูดคล่อง จ่ายขั้นต่ำ ผ่อนจนลืม กดหนี้ใหม่ โปะหนี้เก่า …นี่คือวงเวียนชีวิตลูกหนี้ที่ส่อเค้าจะเป็นวงจรหนี้เสียได้ง่ายๆ

เพราะด้วยอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดที่สูงถึงปีละ 18% หรือ 28% เมื่อค่าปรับและดอกเบี้ยทบไปทบมาเป็นเวลานานเข้า ก็ทำให้มูลค่าหนี้รวมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ลูกหนี้หลายคนเลือกที่จะเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรอีกใบเพื่อมาโปะหนี้ของบัตรที่มูลค่าเริ่มหนี้สูงจนจ่ายไม่หมด จนในที่สุดกลายเป็น “งูกินหาง” เมื่อหนี้สินล้นพ้นตัว วงเงินทุกบัตรที่เริ่มเต็ม ก็กลายเป็น “โดมิโน่หนี้เสีย” กระทบไปทุกบัตร

ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวและการถูกติดตามทวงถามหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนที่เป็นหนี้ ยังส่งผลกระทบถึงครอบครัว สังคม และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การที่บุคลากรวัยทำงานซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ต้องมานั่งเครียดและทนทุกข์ใจจากปัญหาหนี้ท่วมหัว ย่อมจะฉุดรั้งศักยภาพของประเทศไปด้วย

ครั้นพอลูกหนี้อยากกลับใจล้างหนี้เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ทีละรายไป เจ้าหนี้ที่ได้รับการเจรจาก่อนก็ย่อมอยากได้เงินคืนมากที่สุดและเร็วที่สุด ขณะที่เจ้าหนี้รายอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการเจรจากับลูกหนี้ก็ยังคงคิดดอกเบี้ยและทวงถามหนี้ไปเรื่อย จนในที่สุดต้องไปหยุดอยู่ที่การฟ้องร้องดำเนินคดี สร้างความเครียดและบั่นทอนจิตใจลูกหนี้ รวมถึงคนในครอบครัวเพิ่มขึ้นไปอีก

นี่จึงเป็นที่มาของ โครงการ  “คลินิกแก้หนี้” เฟสแรก ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2560 โดย ธปท. ร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินส่วนบุคคล (ที่ไม่มีหลักประกัน) ของประชาชนที่ค้างชำระอยู่กับเจ้าหนี้หลายธนาคารให้รวมเบ็ดเสร็จครบวงจรในที่เดียว โดยได้มอบหมายให้ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ทุกราย ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการวางแผนและวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อลดความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย อันจะเป็นการป้องกันไม่ให้ก่อปัญหาหนี้ในอนาคต  

ตัวอย่างลูกหนี้ที่กลับมา “เป็นไท” จากคลินิกแก้หนี้

เรื่องเล่าจากปากคำของพนักงานหนุ่มวัย 31 ปี คนหนึ่งที่มีเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาทต่อเดือน แต่มีบัตรเครดิตวงเงิน 30,000 บาท ถึง 5 ใบ แถมด้วยบัตรกดเงินสดและสินเชื่อบุคคล ชีวิตเปลี่ยน จากความสะดวกสบายในการใช้จ่าย “รูดก่อน จ่ายทีหลัง” พอเริ่มหมุนเงินไม่ทัน ก็กดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้จ่าย เบิกเงินจากบัตรกดเงินสดไปโปะยอดชำระขั้นต่ำ (10%) ของบัตรเครดิต “หมุนหนี้” ไปได้แค่ระยะเดียว ในที่สุดวงเงินก็เต็มหมดทุกบัตรทุกสินเชื่อ ภาระหนี้รวมดอกเบี้ย แถมด้วยค่าทวงถาม และค่าปรับต่างๆ มากกว่า 5 แสนบาท กลายเป็นคนหมดความสามารถจะชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิง

“กลายเป็นคนเกลียดเสียงโทรศัพท์ เพราะกลัวว่าจะเป็นเจ้าหนี้โทรมาทวง ชีวิตเครียด นอนไม่หลับเพราะมัวแต่คิดว่าพรุ่งนี้จะหาเงินที่ไหนไปโปะหนี้ ไม่มีสมาธิทำงาน หมดกำลังใจเพราะได้เงินมาก็ต้องเอาไปใช้หนี้จนหมด แต่หนี้ก็ไม่ลด มันมองไม่เห็นอนาคตที่จะได้ปลดแอก”

หนุ่มคนนี้เล่าว่า หลังเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ ชีวิตเขามีความหวังมากขึ้น เพราะนอกจากภาระหนี้ทั้งหมดจะถูกรวมอยู่ที่เดียว ยอดเงินที่ต้องหามาชำระหนี้ยังน้อยกว่ายอดเงินที่เขาเคยต้องหามาเพื่อจ่ายขั้นต่ำบัตรทั้งหมดเสียอีก จากที่เคยต้องหาเงินให้ได้มากกว่า 20,000 บาททุกเดือนเพื่อโปะหนี้บัตรเครดิต แต่พอเข้าร่วมโครงการ เหลือยอดเงินที่ต้องจ่ายหนี้แต่ละเดือนไม่ถึง 5,000 บาท มีระยะเวลาผ่อน 7-10 ปี โดยที่ดอกเบี้ยจากเดิมที่บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเคยชาร์จสูงถึง 18-28% ของเงินต้น ก็เหลือเพียง 5% แถมเขายังได้เข้ารับการอบรมการวางแผนการเงินและสร้างเสริมวินัยทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องตกอยู่ในวงเวียนหนี้เสียในอนาคต

“มันเหมือนยกโลกออกจากอก เป็นโลกแห่งความเครียด ทำให้เราเห็นฝั่งว่าจะหมดหนี้เมื่อไหร่ แถมยังมีเงินพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หายใจได้โล่งขึ้น แล้วก็ยังแบ่งบางส่วนมาเป็นเงินออมยามฉุกเฉินได้ด้วย”

กลไกของ “คลินิกแก้หนี้” ที่ช่วยให้ลูกหนี้มีชีวิตดีขึ้น

นอกจากเป็นเครือข่ายการแก้ไขปัญหนี้บัตรที่ใหญ่สุดของประเทศ โครงการคลินิกแก้หนี้ยังมีความพิเศษอย่างน้อยอีก 5 มิติ ที่ช่วยทำให้ลูกหนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

  1. มี SAM ทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเจรจาและประสานงานระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ทำให้การแก้ปัญหาหนี้บัตรที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งการเจรจากับเจ้าหนี้หลายรายให้เบ็ดเสร็จจะเกิดขึ้นยาก แต่คลินิกแก้หนี้จะช่วยรวมหนี้ให้ครบจบในที่เดียว โดยลูกหนี้จะไม่ถูกทวงจากเจ้าหนี้หลายราย
  2. ลูกหนี้จะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและปรับโครงสร้างหนี้  และได้ข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ผ่อนปรนเป็นพิเศษ คือ ผ่อนเฉพาะเงินต้น โดยมีระยะเวลาผ่อนนานถึง 10 ปี ซึ่งปกติถ้าไปเจรจากับเจ้าหนี้เดิมอาจถูกเรียกให้จ่ายคืนภายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น 6 เดือน การไม่เร่งรัดและให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานเพียงพอ หมายความว่า ยอดที่ต้องผ่อนต่อเดือนจะไม่สูง และเมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญา โครงการจะยกดอกเบี้ยค้างชำระที่มาตอนก่อนเข้าโครงการให้ทั้งหมด
  3. อัตราดอกเบี้ยที่เอื้อต่อการแก้ไขหนี้ โดยอยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ต่ำเพียง 4-7% ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รายนั้น จากเดิมหากลูกหนี้ผ่อนชำระกับเจ้าหนี้ธนาคารหรือสินเชื่อบุคคลไปเรื่อยๆ ก็ยังถูกคิดดอกเบี้ยสูงถึง 18-28% เช่นเดิมก็ได้
  4. ลูกหนี้จะได้รับการเข้าอบรมความรู้ทางการเงินและสร้างเสริมวินัยทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ตกอยู่ในกับดักวงจรหนี้เสียในอนาคต
  5. มีการพิจารณากรณีฉุกเฉิน หากจำเป็นต้องเลื่อนการชำระออกไปได้ เช่น มีคนในครอบครัวต้องเข้าโรงพยาบาลและต้องใช้เงินเกินจำนวนครึ่งหนึ่งของเงินเดือน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ลูกหนี้ต้องแลก คือ ความจริงใจและความตั้งใจในการชำระหนี้ พร้อมด้วยการเปิดข้อมูลเท็จจริงเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ในแต่ละเดือน (รายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง) และที่สำคัญลูกหนี้ต้องให้สัญญาว่าจะไม่ก่อหนี้ใหม่อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี ขณะเดียวกัน ธนาคารและผู้ให้บริการสินเชื่อที่ร่วมอยู่ในโครงการ จะทราบได้ทันทีว่าลูกหนี้คนนั้นอยู่ในโครงการคลินิกแก้หนี้ ลูกหนี้ก็จะถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อระหว่างที่ติดเงื่อนไข อยู่ดี

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งคลินิกแก้หนี้ ผู้บริหาร SAM ให้ข้อมูลว่า ช่วงอายุของลูกหนี้ที่เข้าโครงการเยอะสุดอยู่ระหว่างอายุ 25-35 ปี ซึ่งคนเหล่านี้ถือเป็นกำลังสำคัญของชาติในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “บัตรเครดิตไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่ต้องใช้ให้เป็น แต่ถ้ามีปัญหาหนี้เสียเกิดขึ้นแล้ว ก็อย่าหมดหวัง ทุกปัญหามีทางออก และโครงการนี้ต้องการช่วยคนที่เป็นหนี้ให้มีชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจริงๆ”

เช่นเดียวกับความเห็นของหนึ่งในผู้ร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ที่พูดว่า “การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ใช่ผู้ร้ายของสังคม เป็นเพียงแค่ข้อผิดพลาดในการใช้ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งมาแก้ไขได้ที่คลินิกแก้หนี้”

นับตั้งแต่เฟสแรกในปี 2560 จนถึงสิ้นปี 2562 คลินิกแก้หนี้ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรให้กับลูกหนี้แล้ว 3,194 ราย ครอบคลุมบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกว่า 13,000 ใบ มีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 3 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อคนประมาณ 234,843 บาท ในจำนวนนี้มี 72 คนที่ “เป็นไท” หลุดพ้นจากวงจรหนี้บัตรเรียบร้อยแล้ว 

“คลินิกแก้หนี้ เฟส 3” ครอบคลุมหนี้บัตร NPL ส่วนใหญ่

จากเฟสแรก ที่เริ่มจากลูกหนี้ NPL หรือหนี้เสีย (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ที่เกิดจาหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อบุคคล กับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ในเฟสที่ 2 โครงการได้ขยับขอบข่ายกลุ่มลูกหนี้ NPL ครอบคลุมไปถึงเจ้าหนี้สินเชื่อที่เป็นกลุ่ม Non-Bank เช่น AEON, Frist Choice, บัตรเซ็นทรัลการ์ด ฯลฯ ทั้งสิ้น 19 แห่ง ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 90% ของมูลค่าสินเชื่อจาก Non-Bank ทั้งหมด และจากเฟสแรกที่ต้องเป็นลูกหนี้บัตรที่มีเจ้าหนี้ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป และยังไม่ถูกดำเนินคดี ในเฟสสองขยายไปถึงกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกฟ้องแล้ว แต่ยังไม่มีคำตัดสิน (คดีดำ)

สำหรับ เฟส 3 ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ได้ขยายขอบเขตให้สามารถแก้ไขลูกหนี้บัตรเครดิตที่เป็น NPL ที่อาจมีเจ้าหนี้เพียงรายเดียวหรือหลายรายก็ได้ รวมถึงลูกหนี้ที่ถูกฟ้องและศาลมีคำพิพากษาแล้ว (คดีแดง) ก็เข้าร่วมได้ ทั้งนี้ คุณสมบัติผู้เข้าโครงการในเฟส 3 ต้องเป็นลูกหนี้บัตรที่เป็น NPL ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 กล่าวคือ โครงการคลินิกแก้หนี้ เฟส 3 สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรของลูกหนี้ได้ในแทบทุกกลุ่ม

ปัจจุบัน โครงการคลินิกแก้หนี้มีสถาบันการเงิน non-bank และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นสมาชิกรวม 35 แห่ง ทำให้โครงการฯ กลายเป็น “เครือข่ายที่ช่วยเหลือประชาชนแก้หนี้บัตร” ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยธนาคารออมสินถือเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการฯ

สำหรับลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.debtclinicbysam.com หรือติดต่อได้ตามภาพข้างล่างนี้ …เมื่อใดที่คุณหลุดพ้นจาก “วงจรชีวิตลูกหนี้ NPL” ได้แล้ว ก็ขออย่ากลับเข้าไปสู่วงจรแห่งความทุกข์นี้อีก ด้วยความปรารถนาดีจาก Marketeer

 

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online