BEAUTY สวยสังหาร…เรารู้จักชื่อนี้ผ่านตลาดหุ้นเมื่อปี 2555
หุ้นที่เคยทำราคาขึ้นไปสูงถึง 20 บาท มาวันนี้ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 หุ้นบิวตี้มีราคาที่ 2 บาทกว่าๆ ต่อหุ้น
หากย้อนกลับไป “BEAUTY” หรือ บิวตี้ คอมมูนิตี้ เข้ามาสู่ธุรกิจความงามเครื่องสำอางในไทยเมื่อปี 2541
ตลาดความงามเครื่องสำอางที่ตอนนี้มีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ที่มีผู้เล่นมากมาย
คำยืนยันจากปากซีอีโออย่าง “นพ. สุวิน ไกรภูเบศ” ที่บอกในงานกางแผนธุรกิจปี 2563 นี้ ที่บิวตี้ผ่านอะไรมาเยอะ ผ่านมาหลายครั้ง ที่ผ่านมาคือประสบการณ์ที่ต้องปรับตัว และเปลี่ยนแปลง จากนี้บิวตี้จะไม่ใช่แค่รีเทล แต่จะเป็น “International Beauty & Health Business”
“บิวตี้ผ่านวิกฤตใหญ่ๆ หลายครั้ง ทั้งการเข้ามาของเครื่องสำอางต่างประเทศ เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ผ่านมาก็ให้ประสบการณ์และการปรับตัวของบิวตี้ ตอนนี้เรานั่งอยู่ท่ามกลางคลื่นลมกระแสโลก ทั้งระดับโลก และในประเทศ เราเจอความปั่นป่วน ทำให้เราปรับปรุงอีโคซิสเท็ม
ปี 2562 ที่ผ่านมาบิวตี้ปรับปรุงหลายด้านเพื่อมุ่งสู่บิวตี้แอนด์เฮลท์ สร้างฐานมั่นคง โดยไม่พึ่งรายได้จากขาใดขาหนึ่งเพียงอย่างเดียว”
แล้วทิศทางจากนี้ของ “BEAUTY” จะเป็นอย่างไร ตาม Marketeer มาอ่านกัน
ก่อนอื่นมารู้จักในเครือบิวตี้ตอนนี้มีร้านอะไร กี่สาขาบ้าง
- Beauty Buffet 251 สาขา
- Beauty Cottage 60 สาขา
รวมสิ้นปีที่ผ่านมามีร้านทั้งเครืออยู่ที่ 311 สาขา
แม้ตัวเลขในไตรมาส 4/61 จะยังไม่ออก ซึ่งไม่รู้จะเป็นไปตามความคาดหวังก่อนหน้านี้หรือไม่ ที่เคยตั้งเป้ารายได้ปี 2562 อยู่ที่กว่า 2,000 ล้านบาท แต่ดูจะไม่ค่อยเป็นใจเท่าไรเพราะรายได้รวม 9 เดือน อยู่ที่ 1,537.32 ล้านบาท ลดลงถึง 45.95% มีกำไร 167.17 ล้านบาท
เหตุผลส่วนใหญ่ที่รายได้ลดลงมาจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยน้อยลง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดธุรกิจเครื่องสำอาง
รวมทั้งผลกระทบจากการเก็บภาษีออนไลน์ของจีนสำหรับสินค้านำเข้า ทำให้รายได้จากต่างประเทศที่มีจีนเป็นตลาดหลักลดลงไปด้วย
สัดส่วนรายได้มาจากช่องทางไหนบ้าง
บิวตี้ บุฟเฟ่ต์ 43.61%
บิวตี้ คอทเทจ 12.09%
บิวตี้มาร์เก็ต 1.10%
ต่างประเทศ 24.93%
หมายเหตุ: ข้อมูลตัวเลขทั้งปี 2562
ปี 2563 นี้ ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า “บิวตี้” ตั้งเป้าคือ “การเพิ่มความสามารถทำกำไร”
คำถามคือแล้วบิวตี้จะใช้วิธีไหน
:: ตลาดต่างประเทศ ::
คงเดากันไม่ยากว่าลูกค้าต่างประเทศของบิวตี้คือกลุ่มไหน คำตอบคือ “ประเทศจีน” เพราะในส่วนยอดขายจากต่างประเทศเป็นรายได้จากจีนถึง 90%
แต่จากที่ซีอีโอบอกไปข้างต้นเพราะเราจะพึ่งแค่รายได้จากขาใดขาหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ โดยบิวตี้มีการรุกต่างประเทศ 16 ประเทศ เน้นการทำการตลาดร่วมกันและเพิ่มจำนวน SKUs สินค้า
และมี 5 ประเทศที่ปีนี้บิวตี้จะเน้นเข้าไปทำตลาดอย่างจริงจังคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ ทั้งในรูปแบบของตัวแทนจำหน่าย Product Distributor, Shop Licence, Shop in Shop หรือ Counter sales
ขณะเดียวกันตลาดประเทศจีนที่เป็นตลาดหลัก จากที่แต่ก่อนจะเป็นลูกค้าชาวจีนมาซื้อไปขายตามช่องทางต่างๆ มาตอนนี้บริษัทจะลงไปตีตลาดจีนเองให้เป็นแบบออฟฟิเชียลมากขึ้น
ปีนี้เราคงได้เห็นบิวตี้สร้างฐานธุรกิจในประเทศจีนด้วยการตั้งบริษัทใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขยายตลาด และเพื่อความสะดวกในการพัฒนาสินค้าใหม่และการบริหารจัดการตลาดในประเทศจีน
เหตุผลที่รุกตลาดจีนเต็มตัว มองว่า จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่มีโอกาสทางธุรกิจสูง รวมทั้งบิวตี้เองก็อยากเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากช่องทางจำหน่ายตามร้านค้าโมเดิร์นเทรดต่างๆ
ขณะที่ช่องทางออนไลน์บิวตี้ก็ได้ขยายจำนวนสินค้าใหม่ๆ เข้าไปจำหน่ายในช่องทาง Cross Border E-Commerce อย่างต่อเนื่อง
ในปี 2562 บริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายแล้วจำนวน 10 Platforms
ซึ่งสินค้าที่เน้นไปทำตลาดต่างประเทศคือสินค้ากลุ่มขายดี หรือ HEROS Product ของบิวตี้
:: ตลาดในประเทศ ::
ข้ามกลับมาที่ในประเทศหลักๆ คือ ขยายช่องทางในการเข้าถึงสินค้ามากขึ้น โดยไม่ได้หมายถึงการขยายสาขาของตัวเอง แต่สินค้าของบิวตี้จะเข้าไปวางขายตามร้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบู๊ทส์ วัตสัน ซูเปอร์มาร์เก็ต หรืออีฟแอนด์บอยที่บริษัทกำลังเจรจาอยู่
กลยุทธ์การเข้าไปตามร้านอื่นนี้ทำให้บิวตี้ไม่ลงทุนงบให้เรื่องสาขาของร้าน และทำให้บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่สาขาของตัวเองจะมีการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร และทำตัวให้บิวตี้บุฟเฟ่ต์เป็นร้าน Multi Brand มากขึ้น จากที่เดิมก็เป็นร้านมัลติแบรนด์ที่มีแบรนด์ต่างๆของตัวเองมาวางขาย แต่ตอนนี้ถ้าเข้าไปร้านบิวตี้ บุฟเฟต์จะเห็นแบรนด์ไทยที่เป็นที่รู้จักมากกว่า 10 แบรนด์ อาทิ คาร์มาร์ท, สเนล ไวท์ มาวางขายด้วย
กลยุทธ์นี้เป็นการดึงทราฟฟิกลูกค้าแบรนด์อื่นให้มาใช้บริการร้านสาขาซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการซื้อสินค้าในร้านมากขึ้นด้วย
สาขาปี 2563 นี้ จะเหลือราว 285 สาขา
Beauty Buffet 250 สาขา
Beauty Cottage 35 สาขา
ส่วนช่องทางอีคอมเมิร์ซที่ถึงแม้มีสัดส่วนรายได้ไม่เยอะ แต่บิวตี้จะรุกตลาดออนไลน์ ด้วยกลยุทธ์ O2O มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสบการณ์การจับจ่ายให้กับลูกค้า
ทั้งนี้ บิวตี้จะออกสินค้าใหม่ๆ โดยจะเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภค และสินค้าสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยบิวตี้มีสินค้าทั้งหมด 1,400 SKU และมีสินค้าที่เป็น HEROES Product 28 SKU
สัดส่วนรายได้ปี 2563 จะมาจากช่องทางไหน
Beauty Buffet 38%
Beauty Cottage 6%
Oversea 36%
Consumer Product 17%
E-commerce 2%
Other Sales 1%
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือกลยุทธ์ปี 2563 ที่บิวตี้หมายมั่นปั้นมือที่จะใช้สร้างรายได้ให้กลับมาเติบโต 20%
ส่วนจะทำได้หรือไม่ต้องรอดูกันยาวๆ
ตอนนี้คงเป็น “บิวตี้” ที่รอวันกลับมาสวยอีกครั้ง
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



