ที่ผ่านมา ชา และ กาแฟ ได้รับการยกเว้น ภาษีสรรพสามิต เพราะเป็นสินค้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีรายได้

แต่ภาษีสรรพสามิตรที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 นั้น ชา และกาแฟ 3 in 1 ไม่รอดแล้ว

 

ภาษีนี้จะได้รับผลกระทบต่อผู้ผลิต 3 เด้ง

1.ภาษีมูลค่า 10%

หากสินค้ามีราคา 25 บาท 10% ก็เท่ากับ 2.5 บาท

2.ภาษีความหวาน

หากมีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัม/ลิตร ไม่เสียภาษี
น้ำตาล 6-8 กรัม เสียภาษี 0.10 บาท/ลิตร
น้ำตาล 8-10 กรัม เสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร
น้ำตาล 10-14 กรัม เสียภาษี 0.50 บาท/ลิตร
น้ำตาล 14 กรัมขึ้นไป เสียภาษี 1 บาท/ลิตร

3.โครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนไป

กว่าสินค้าจะถึงมือผู้บริโภค ต้องผ่านตัวกลางอย่างห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อก่อน

ซึ่งการคิดหากำไรขาดทุน ไม่ได้ง่ายแบบ “ขึ้นราคาชา 5 บาท รัฐได้เพิ่ม 5 บาท”

ทำให้เมื่อมีการเก็บภาษีขึ้น ไม่มีใครอยากสูญเสียรายได้ ภาระจึงมาตกที่ประชาชน

 

โดยเหตุผลของการขึ้นราคาครั้งนี้ กรมสรรพสามิตให้เหตุผลว่า

“เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพหากบริโภคเครื่องดื่มดังกล่าว”

 

หากดูจากอัตราที่กล่าวไป หากลองเอาชาเขียว ฟูจิชะ รส Tasty มาคำนวณดู จะพบว่าราคาเดิมคือ 25 บาท

1.คิดภาษีมูลค่า 10% เท่ากับ 2.5 บาท
2.คิดภาษีน้ำตาล อีกประมาณ 0.5 บาท เพราะมีน้ำตาล 6% หรือ 30 กรัมต่อปริมาณน้ำ 500 มิลลิลิตร

ราคาใหม่ที่ได้เท่ากับ 28 บาทเท่านั้น แต่กลับขึ้นเป็น 30 บาททันที

เช่นเดียวกับโออิชิ อิชิตัน ขวด 20 บาท เป็น 25 บาท และ ขวด 15 บาท เป็น 20 บาท

เพราะอะไร?

 

นิสัยคนไทย ชอบเลขกลมๆ

ตัวเลขมีผลต่อจิตวิทยาของเรามาก เช่น ‘99 บาท รู้สึกถูกกว่า 105 บาท จัง’ หรือ ’70 บาท กับ 79 บาท ก็เลข 7 เหมือนกัน’

แต่ในสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ราคามักจะถูกปัดไปเลข 0 และ เลข 5 อัตโนมัติ เพราะสะดวกในการจ่ายเงิน ทอนเงิน

อย่างร้านน้ำที่ขายตามข้างถนน ตามที่ท่องเที่ยว จะขายขวดละ 10 บาท ทั้งๆ ที่ต้นทุนแค่ 6-7 บาท เท่านั้น เท่ากับว่าขึ้นราคา 40-60%  เลยทีเดียว หรือแม้แต่ น้ำอัดลมที่ราคา 14 บาท ถ้าขาย 15 บาท ก็จะได้ตังน้อยไป งั้น 20 บาท เลยละกัน !!! O.O

เพราะฉะนั้นจากหลักการเลขกลมๆ แล้ว ไม่ต้องแปลกใจที่จะเห็นชาเขียวขึ้นราคาพรวดเป็น 30 บาท แทนที่ควรจะเป็น 28-29 บาท

 

ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล ต้องโดนภาษีด้วย อันนี้ลองไปดูในเพจชาเขียว แอดมินเพจก็ไม่สามารถตอบในประเด็นนี้ได้

แต่ถึงแม้ว่า ชาเขียวที่ไม่มีน้ำตาลจะไม่โดนภาษีนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ผลิตจะขายชาเขียว 2 ราคา แบบ ไม่มีน้ำตาล 25 บาท มีน้ำตาล 30 บาท เพราคงไม่มีใครซื้อแบบมีน้ำตาลอีกเลย

แล้วชาสูตรน้ำตาลที่ผลิตมาล่ะ การผลิต การนำเข้า ทุกอย่างจะรวนไปหมด …ทางที่เป็นไปได้คือ ตั้งราคา 28 บาท ในทั้งสองแบบมากกว่า

 

หากการห่วงใยสุขภาพประชาชน หมายถึงการขึ้นภาษี

แบบนี้ไม่ต้องขึ้นราคาแทบทุกอย่างเลยหรอ ลูกอม ขนมถุง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ช็อคโกแลต ฯลฯ

จริงๆ แล้วอะไรที่รับประทานมากไป ก็มีโทษทั้งนั้น ผลไม้ที่ว่ามีประโยชน์ กินมากไปก็ได้น้ำตาลเยอะเกิน ดื่มนมมีประโยชน์ ดื่มมากไปก็ได้ไขมัน กับน้ำตาลเยอะเกิน หรือแม้แต่น้ำเปล่าหากดื่มมากเกินไป ก็มีโทษได้เหมือนกัน

โดยการขึ้นราคาครั้งนี้ เป็นมาตรการนำร่อง 2 ปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจะปรับเพิ่มภาษีอีกทุกๆ 2 ปี จนถึง ปี 2566 นั่นหมายความว่า ถ้าขึ้นราคาครั้งละ 5 บาท เราอาจได้เห็นชาเขียวในราคา 40 บาท ในอีก 6 ปีข้างหน้าก็ได้

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online