ธุรกิจสายการบินไหวไหม?
ภาพรวมปี 2562 ที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวด้วยปัจจัยสำคัญหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสถานการณ์ประท้วงในฮ่องกง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และอุตสาหกรรมภาคบริการทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย
นอกจากปัจจัยเหล่านี้ ยังมีสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลทั้งธุรกิจส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินของไทย ที่นักเดินทางส่วนหนึ่งอาจจะเลือกเปลี่ยนจุดหมายปลายทางจากไทยไปเป็นประเทศอื่น ด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
รวมทั้งการแข่งขันกันเองอย่างรุนแรงของสายการบินต่างๆ ที่แข่งกันทำโปรโมชั่น แข่งกันทำราคาเพื่อดึงผู้บริโภคมาอยู่ในมือ
แล้วภาพรวมปีที่ผ่านมาแต่ละสายการบินเป็นอย่างไร
“การบินไทย” รักคุณเท่าฟ้า แต่ยังมีหนี้มากกว่า
ในปีที่ผ่านมา “การบินไทย” ต้องหาวิธี กลยุทธ์ในการทำให้สายการบินขาดทุนน้อยลง และนำมาซึ่งการทำกำไรให้ได้ แม้มาตรการคุมค่าใช้จ่ายจะทำได้ดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะขาดทุนหนักกว่าเดิม
สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น ส่งผลให้การควบคุมค่าใช้จ่ายลดลงกว่าปีก่อน 5.8% มีค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท
แม้ค่าใช้จ่ายจะลดลง ภาพรวมรายได้ของการบินไทยในปีที่ผ่านมาก็ลดลงเช่นกัน โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 184,046 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกิน ทั้งปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร รายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รายได้ค่าระวางขนส่งและค่าไปรษณียภัณฑ์ลดลง
ทั้งนี้การบินไทยขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท
“แอร์เอเชีย” จากเคยกำไรปีนี้ขาดทุน 400 ล้าน
สายการบินโลว์คอสต์หางแดงที่เคยทำกำไรได้กว่า 1,800 ล้านบาทในปี 2559 กว่า 1,400 ล้านบาทในปี 2560 และกำไร 69 ล้านบาทในปี 2561
มาปี 2562 ที่ผ่านมา แอร์เอเชียคงต้องกุมขมับเพราะพลิกกลับมาขาดทุนถึง 474 ล้านบาท ลดลงมากกว่า 100% แม้จะมีรายได้และจำนวนผู้โดยสารมากขึ้นก็ตาม
ส่วนในปี 2563 นี้ แอร์เอเชียปรับลดเป้าผู้โดยมาอยู่ที่ 20.5 ล้านคน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมทั้งจะดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย บริหารต้นทุนอย่างจริงจัง
“นกแอร์” ขาดทุนเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือขาดทุนน้อยลง
วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2562 ไม่รวมบริษัทย่อยว่า บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนเบ็ดเสร็จอยู่ที่ 1,591.12 ล้านบาท ลดลง 813.72 ล้านบาท หรือลดลง 33.84% จากปี 2561 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 2,404.84 ล้านบาท
โดยการขาดทุนที่ลดลงนี้มาจากที่นกแอร์สามารถลดต้นทุนต่างๆ ตามแผนลดค่าใช้จ่ายตามแผนฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท
ขณะที่บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 12,708.63 ล้านบาท ลดลง 8.47% จากปีก่อนหน้า
“บางกอกแอร์เวย์ส” ของ ’หมอเสริฐ’ ยิ้มร่า กำไร 300 ล้าน
ส่วน “บางกอกแอร์เวย์ส” มีรายได้รวม 28,609.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% ซึ่งเหตุผลหลักไม่ได้มาจากธุรกิจสายการบิน แต่มาจากกําไรจากการขายเงินลงทุนระยะยาวในหุ้นกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ระหว่างปีจํานวน 1,990.8 ล้านบาท
รวมถึงผลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน โดยเติบโต 6.6%
ส่งผลให้ปีที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 350.83 ล้านบาท
ส่วนปี 2563 นี้ คงเป็นปีหินอีกปีของธุรกิจสายการบินที่เจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลเต็มๆ ในไตรมาส 1 ของปีนี้ คงต้องจับตาดูว่าการแก้เกมของสายการบินทั้งปีนี้จะเป็นอย่างไร
แต่ที่แน่ๆ บางสายการบินต้องประกาศลดเงินเดือนตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ให้พนักงานลางานแบบไม่รับเงินเดือนสู้สถานการณ์ตอนนี้เลยทีเดียว
อ่าน: ถึงเวลาที่สายการบินต้องลดสู้โควิด-19
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



