ข่าวที่ใหญ่ที่สุดในปี 2018 คงหนีไม่พ้น “ข่าวการควบรวมของ Grab Uber ในอาเซียน”

ว่ากันว่าดีลนี้ ทำให้ Market Share ในตลาด Ride-hailing ของ Grab สูงถึง 95% แต่ถ้านับในไทย ก็น่าจะ 99.99% ก็ว่าได้
การครอง Market Share สูงขนาดนี้ ทำให้ตลาดนี้ กลายเป็น “ตลาดผูกขาดโดยสมบูรณ์ Pure Monopoly” คือ ถ้าจะเปิดแอปฯ เรียกรถ ก็นึกถึง Grab เพียงอย่างเดียว

 

สำหรับผู้บริโภค ตลาดผูกขาด นั้นไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเท่าไหร่ เพราะ หมายถึง สินค้าและบริการไม่มีการแข่งขัน เมื่อไม่มีการแข่งขัน ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือก

แต่สำหรับ Grab การเป็นบริษัทเดียวนั้น ได้เปรียบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
1.การได้ฐานคนขับ และคนนั่งเพิ่มขึ้น (แบบสายฟ้าแล่บ)
2.การไม่ต้องโหมแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว

ส่วนข้อเสียนั้นก็คงหนีไม่พ้น จำนวนหนี้สิน ที่เพิ่มมากขึ้น 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังไม่รวมกับการขาดทุนในแต่ละปี ซึ่งในตลาดไทย ปี 2559 Grab ก็ขาดทุนไปอีกกว่า 500 ล้านบาท

ฉะนั้น ทิศทางของ Grab ตอนนี้ก็ชัดเจนมากๆ นั่นก็คือ ยกระดับสินค้า/บริการ, ขยายฐานคนขับ/คนนั่ง และทำกำไรให้ได้เสียที

Grab ควบรวม Uber

Grab Uber ผนึกกำลังรวมกัน แต่ก็มาพร้อมหนี้ก้อนใหญ่

 

ซึ่งบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย เพราะ บริการของ Grab ไม่ได้ ชนะรถแท็กซี่ทุกด้าน

โดยจุดที่ Grab ทำได้ดีกว่าก็คือ
1.มารยาท ที่มีการให้คะแนนคนขับ ทำให้คัดกรอง และพัฒนาบุคลากรได้
2.การจ่ายเงินผ่านบัตร ที่ทำให้ไม่สะดวกทั้งคนจ่าย/คนรับ และประหยัดเวลามากๆ

แต่จุดที่ Grab ยังไม่ได้เหนือกว่าแท็กซี่ก็คือ

1.เรื่องเวลา เพราะถ้าคนขับอยู่ในสถานที่ที่รถติด ซึ่งก็ติดเกือบทุกที่ในกรุงเทพฯ คุณอาจต้องรอรถมากกว่า 15 นาที ซึ่งในระหว่างนั้น รถแท็กซี่ก็ผ่านไปหลายคันแล้ว
(ถึงแม้เราจะสามารถกดเรียกรถเผื่อเวลาไว้ได้ แต่มันก็ลำบากที่จะต้องกะเวลาให้พอดี มิฉะนั้นก็ต้องให้คนขับรอนาน หงุดหงิดกันอีก)

2.เรื่องราคา ในช่วง 1-2 ปีแรก Grab จะมีเรทราคาที่ต่ำกว่า หรือเทียบเท่ากับแท็กซี่ และทำโปรโมชั่นเยอะมาก เพื่อดึงให้คนขับ/คนนั่งมาใช้เยอะๆ แต่ปัจจุบัน Grab ได้ขึ้นราคาไปสูงกว่าแท็กซี่แล้ว ทำให้ตอนนี้ ต่อให้ใช้โปรของ Grab (ลด 40-50 บาท) ก็ราคาเท่าแท็กซี่อยู่ดี

ยกตัวอย่างในรูป คือการเรียกรถในระยะ 650 เมตร ก็โดนไป 65 บาท ซึ่งถ้าได้โปรก็จะลดเหลือ 25 บาท แต่ถ้าไม่ได้โปรก็ถือว่าแพงกว่า ทั้งแท็กซี่/มอเตอร์ไซค์มาก และถ้าเรียกรถในช่วงเช้าและเย็น คุณอาจโดนชาร์จมากกว่าถึง 2-3 เท่า ได้เลยทีเดียว

 

การปรับตัวของกรมการขนส่ง

ต้องยอมรับว่า การเข้ามาของทั้ง Grab Uber ทำให้ทุกฝ่าย เริ่มตื่นตัว และจริงจังกับการแก้ปัญหามากขึ้น

ด้าน Hardware : ปัจจุบันมีแท็กซี่รุ่นใหม่ 20,000 คันที่มีการยกระดับให้สูงขึ้น โดยมีระบบ GPS, ปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน, กล้องบันทึกภาพในรถ และสามารถสังเกตได้ง่ายจากไฟว่างสีเขียว
โดยหลังจากลองโบก และนั่งดูแล้ว ก็ต้องบอกว่ารถสภาพใหม่มาก คนขับดี ทำให้อุ่นใจขึ้นเยอะ

แต่ด้าน Software : เป็นสิ่งที่เลียนแบบได้ยากมาก เพราะแอปฯ Taxi OK นั้นไม่สามารถให้ประสบการณ์ที่ดีเทียบเท่า Grab Uber ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ทั้ง Grab และ Uber เป็น Tech-Company ที่ทำเรื่องนี้มานาน มีทั้งคน มีทั้งทรัพยากรพร้อมในการทำแอปฯ

แอป กรมการขนส่ง

ในขณะที่กรมการขนส่งนั้น ไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้เลย จึงต้อง Outsource ไปให้คนนอกทำ ซึ่งมั่นใจได้ว่าก็ต้องมีการควบคุมต้นทุนแน่นอน เพราะ Feedback จากผู้ใช้นั้น ไม่ดีเอาซะเลย

 

ล่าสุด ก็มีผู้เล่นใหม่ถือกำเนิกขึ้น นั่นก็คือ LINE Taxi

ซึ่งก็คือ การให้แท็กซี่ ได้เข้ามาใช้แพล็ตฟอร์มของ LINE ซึ่งมีบริการอย่าง LINE MAN ที่เดิมรับส่งของ ส่งอาหารอยู่แล้ว ทำให้ระบบนี้เสถียรกว่าระบบที่กรมการขนส่งทำอยู่มาก

และที่น่าจับตาก็คือ LINE ไม่ได้มีธุรกิจเดียวแบบ Uber แต่ยังมีทั้ง Social Media, Payment, Online Shopping และธุรกิจในเครืออีกมากมาย ฉะนั้นสายป่านในการเล่นเกมราคาจึงยาวมาก รวมถึงกลยุทธ์ในการทำการตลาดจึงหลากหลายมากกว่า Grab

ประสบการณ์ตรง เมื่อวันที่ 2 เมษายน ได้มีโอกาสกดใช้บริการ LINE Taxi ผ่านแอปฯ LINE Man ก็พบว่ามีความเร็ว ความแม่นยำของแผนที่ และคนขับรับรถเร็วมาก ซึ่งเมื่อได้สอบถามไปยังคนขับก็พบว่าบริการนี้มีมา 2 เดือนแล้ว แต่พึ่งโปรโมทจริงจังก็ปลายเดือนมีนาคมนี้เอง

โปร Line Taxi

ภาพด้านบนเป็นป้ายโปรโมชั่นของ LINE Taxi ที่แขวนในรถแท็กซี่ ซึ่งรถนี้ก็มีการแปะสติ๊กเกอร์ของ Grab อยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ในการแข่งขัน Ride-hailing Service ในไทย คงหนีไม่พ้นเกมราคาอีกแน่นอน เพราะทั้งคนนั่ง/คนขับ ก็อยากได้ผลประโยชน์ที่มากที่สุดให้ตัวเอง

 

สถานการณ์ของ Grab ในไทย อาจเห็นกลีบกุหลาบโปรยอยู่ในทางข้างหน้า หลังจากที่ควบรวมกับ Uber สำเร็จ

แต่ก็มีหนามของกุหลาบจาก LINE ที่โผล่ขึ้นมาพร้อมทิ่มแทงเช่นกัน

 

ในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็ต้องวัดกันแล้วล่ะว่า ใครจะกลายเป็น เบอร์ 1 ระหว่าง

Grab ผู้ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจนี้อย่างยาวนาน และพึ่งได้ฐานคนขับ/คนนั่ง ไปจาก Uber

กับ

LINE แชทแอปฯ อันดับหนึ่ง พร้อมด้วยธุรกิจในเครืออีกมากมาย

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online