เศรษฐกิจไทย ปี 2563 จะไปในทิศทางไหนหลังพิษโควิด-19 (วิเคราะห์)

จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก และดูเหมือนจะคุมไม่อยู่ในหลายประเทศ กลายเป็นปัจจัยหลักในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563-3564 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุม กนง. เมื่อวานนี้ (วันที่ 25 มี.ค. 2563)

การระบาดที่ลุกลามไปหลายพื้นที่ทำให้นักวิเคราะห์ทั่วโลกหลากหลายประเทศต่างพากันปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง โดยภาพรวม ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้

ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการส่งออกที่ลดลงอย่างมาก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปอย่างมาก จากปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่าน 5 ด่านสนามบินหลัก เฉลี่ยวันละ 100,000 กว่าราย ลดเหลือไม่ถึง 2,000 รายต่อวัน ขณะที่อัตราการจองห้องพัก 3 เดือนล่วงหน้า จากช่วงเดือน ม.ค. 2562 อยู่ที่ประมาณ 35% ลดเหลือเพียง 1.1% ในเดือน ม.ค. 2563 

จากสถานการณ์ดังกล่าว กนง. ยอมรับว่ามีความยากลำบากในการทำประมาณการ เนื่องจากเมื่อมองไปข้างหน้าพบว่าสถานการณ์โลกและประเทศไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นมาก โดยเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรในปีนี้และปีหน้า ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. ระยะเวลาและขอบเขตในการแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการสาธารณสุขของประเทศต่างๆ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนและยารักษา

2. ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

และ 3. มาตรการเงินการคลังของประเทศไทยเอง

แนวโน้ม เศรษฐกิจไทย ปี 2563 หดตัว -5.3%

สมมุติฐานสำคัญในการประมาณการ ประกอบด้วย 1) เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากโรคระบาดครั้งนี้ 2) การระบาดในไทยควบคุมได้ภายในไตรมาส 2 ตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข และ 3) การประมาณการครั้งนี้ยังไม่ได้รวมมาตรการทางการเงินและการคลังที่ภาครัฐจะออกมาเพิ่มเติม

คุณดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกและสมมุติฐานดังกล่าว นำมาสู่ตัวเลขประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย โดย กนง. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัว -5.3%

อย่างไรก็ดี ถ้าประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาส 2 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ ตัวเลขการหดตัวอาจแย่ลงไปอีก ตรงกันข้ามถ้าควบคุมได้ดีกว่าที่คาด เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่หดตัวลึกเท่าคาดการณ์ เช่นเดียวกัน ถ้ามาตรการของรัฐมีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์ ก็จะสามารถประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ติดลบน้อยลง หรือกลับมาเป็นบวกเร็วขึ้น 

สำหรับตัวเลขคาดการณ์ที่ -5.3% เป็นผลมาจากการส่งออกที่จะหดตัวรุนแรงถึง -16.4% และการท่องเที่ยวที่กว่าจะฟื้นตัว ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศที่ปรับตัวติดลบ -1.5% เมื่อความมั่นใจในการบริโภคลดลง จากปัจจัยรายได้ของประชาชนที่ลดลงและเลี่ยงการออกมาใช้จ่ายนอกบ้าน รวมถึงขาดความเชื่อมั่นในการบริโภค ส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงการลงทุนภาคเอกชน โดย กนง. คาดว่าจะลดลงถึง -4.3% เนื่องจากการหดตัวของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เหลือเพียงการลงทุนภาครัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งแม้จะขยายตัวถึง 5.8% แต่ก็ไม่มากพอจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัว

“เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวชั่วคราว แล้วจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 3% ในปีหน้าถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาด โดยคาดว่าการแพร่ระบาดจะแรงสุดในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเมื่อภาครัฐใช้มาตรการแบบ “เจ็บแต่จบ” คือห้ามการเคลื่อนย้ายและยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เศรษฐกิจจะกระทบหนักสุดในไตรมาส 2 นี้ แต่ครึ่งปีหลังสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลาย 

แต่สถานการณ์จะเลวร้ายกว่านี้ได้ ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือร่วมใจช่วยกันหยุดการแพร่ระบาด เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวรุนแรงกว่าที่คาด แต่ถ้าทุกคนช่วยกันปฏิบัติตามนโยบายรัฐอย่างเคร่งครัด เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า แล้วเราจะผ่านพ้นไปด้วยกัน” คุณดอนย้ำ

กนง. ให้คงอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ในการประชุมรอบนี้ กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยฯ ร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยมองว่าควรปรับลดเพิ่มเติมเพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวแรง (มีกรรมการ 1 ท่าน ลาประชุม)

อย่างไรก็ดี หากมองไปข้างหน้าแล้วพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธปท. จะทำการประเมินผลกระทบใหม่ทุกรอบการประชุม กนง.

นอกจากการพิจารณาด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมครั้งนี้ ธปท. ยังมีมาตรการอื่นๆ ในการดูแลลูกหนี้ให้ตรงจุดและเหมาะสมและทันการณ์

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่างๆ

นับตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. 2563 ธปท. ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยเหลือลูกหนี้ในการลดภาระหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยสามารถช่วยลูกหนี้ไปแล้ว 1.56 แสนราย วงเงินช่วยเหลือมีมูลค่ารวม 3.1 แสนล้านบาท

แต่หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มเติมที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งภาครัฐในวงกว้าง ธปท. จึงหารือกับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) กลุ่มผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ร่วมกับ 9 สมาคมและชมรม

ทุกฝ่ายเห็นกันว่าต้องมีมาตรฐานกลางเป็น “มาตรฐานขั้นต่ำ” ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน (NPL) เพื่อลดภาระหนี้และยืดการชำระหนี้ออกไป โดยลูกหนี้ไม่ต้องคอยพะวงโทรถามธนาคาร 

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละประเภท มีดังต่อไปนี้ 

.

สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์แพร่ระบาด Covid-19 เช่น กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มธุรกิจที่ถูกคำสั่งภาครัฐให้ปิดกิจการชั่วคราวเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด หรือธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น หลายธนาคารมีโครงการเยียวยาลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยเงื่อนไขพิเศษ

ขณะที่ลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ทาง ธปท. ก็ได้เจรจาให้ธนาคารมีเงื่อนไขพิเศษเพื่อเป็นแรงจูงใจและกำลังใจให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ มาตรการเหล่านี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่งวดการชำระที่ครบกำหนด 1 เม.ย. เป็นต้นไป

ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำว่าลูกหนี้ที่เข้ารับการช่วยเหลือตามมาตรการเหล่านี้ รวมถึงที่เข้าร่วมโครงการช่วยลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม จะไม่กระทบข้อมูลเครดิตหรือสถานะลูกหนี้ในเครดิตบูโร (แต่ลูกหนี้ยังคงมีภาระจ่ายหนี้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้ให้บริการทางการเงิน) 

“มาตรการทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของสถาบันการเงินที่ต้องการช่วยลดภาระประชาชนและธุรกิจ ในสถานการณ์ที่พวกเราไม่เคยเผชิญมาก่อน เพื่อให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online