วิกฤติจากโควิด ถล่มเศรษฐกิจโลกรุนแรงแค่ไหนเมื่อเทียบกับ วิกฤติการเงินโลกปี 2008 (วิเคราะห์)

เป็นเวลากว่า 100 วันนับตั้งแต่การอุบัติขึ้นของโรคปอดอักเสบรุนแรงจากไวรัสโคโรนา 2019 ในอู่ฮั่น มาถึงวันนี้ วิกฤติโรคระบาด Covid-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเป็นอยู่และเศรษฐกิจโลกแทบทุกหย่อมหญ้า จนดูเหมือนว่าจากวิกฤติโรคระบาดอาจจะขยายผลไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง

นักวิเคราะห์หลายสำนักมักคาดการณ์ระดับความรุนแรงของ “วิกฤติเศรษฐกิจปี 2020” โดยย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับ “วิกฤติการเงินโลกปี 2008” ซึ่งพบว่าวิกฤติทั้งสองได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเหมือนและต่างกันในหลากหลายมิติ โดยสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันชัดเจนคือ ทั้งสองวิกฤติทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จุดเริ่มต้นของปัญหา

วิกฤติการเงินโลกปี 2008: Kick-off มาจากประเทศสหรัฐฯ​ โดยมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากภาคอสังหาปัญหาฟองสบู่ขนาดใหญ่และหนี้ครัวเรือน (โดยเฉพาะหนี้บ้าน) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัยโดยมีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (Search for yield) เมื่อบวกกับความหละหลวมในการกำกับดูแลภาคการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ทำให้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ โดยไม่ต้องมีหลักประกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ “วิกฤติซับไพรม์ (Subprime)”

เพื่อลดความร้อนแรงในการเก็งกำไรที่อยู่อาศัย FED จึงขึ้นดอกเบี้ย เมื่อลูกหนี้ด้อยคุณภาพเจอดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงเกิดหนี้สูญ (NPL) เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและเกิดผลพวงเป็นลูกโซ่ถึงต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ในที่สุดก็นำไปสู่การล้มครืนของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ บางแห่งที่ยังยืนอยู่ได้ก็อยู่อย่างโซซัดโซเซ นำไปสู่การหดตัวอย่างรุนแรงของสินเชื่อและสภาพคล่องของธุรกิจ

วิกฤติโรคระบาด COVID-19: ความต่างคือ ต้นตอของวิกฤติ Covid-19 ไม่ได้เกิดจากระบบการเงิน แต่เริ่มต้นจากการระบาดของไวรัสที่เริ่มต้นมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จากนั้นก็เริ่มแพร่กระจายไปยังทั่วประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลจีนสั่งปิดประเทศ (Lockdown) ห้ามการเดินทางออกนอกประเทศของคนจีน และห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจีน และที่สำคัญคือสั่งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด (Economic Shutdown)

มาตรการเด็ดขาดดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ยังทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงันอย่างฉับพลัน (Sudden Stop) เพราะสินค้าหลายอย่างมี “ห่วงโซ่การผลิต” อยู่ในจีน! 

การขยายผลสู่เศรษฐกิจโลก

วิกฤติการเงินโลกปี 2008: ด้วยความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินของสหรัฐฯ กับสถาบันการเงินในหลายประเทศ เมื่อสถาบันการเงินในสหรัฐฯ เกิดปัญหาสภาพคล่องจึงส่งผลกระทบไปยังสถาบันการเงินในประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ภาคธุรกิจในหลายประเทศขาดสภาพคล่องตามไปด้วย

วิกฤติโรคระบาด COVID-19:  นอกจากอุตสาหกรรมการผลิตในหลายประเทศทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการที่จีนปิดประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงสินค้าหลายอย่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักทันทีที่ผู้บริโภครายใหญ่อย่างจีน ถูกระงับการเดินทางภายในประเทศและออกนอกประเทศ

แย่กว่านั้นคือ การแพร่ระบาดได้ลุกลามไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก และดูเหมือนจะรุนแรงและควบคุมได้ยาก ส่งผลให้หลายประเทศต่างใช้มาตรการเดียวกับจีน คือ Lockdown หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆ อย่าง ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ภาคการบริการและท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน และที่สำคัญคือการจ้างงาน จนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยพร้อมกันในหลายๆ ประเทศ​ รวมถึงประเทศไทย

โดย “แบงก์ชาติ” คาดการณ์ว่า GDP ไทยปีนี้จะหดตัวถึง 5.3% ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ปี 1997 (พ.ศ. 2540)

ขอบเขตผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

วิกฤติการเงินโลกปี 2008: วิกฤติคราวนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนา โดยเซกเตอร์ที่กระทบหนักที่สุดคือ ภาคการเงินและตลาดทุน เนื่องจากการขาดสภาพคล่องอย่างหนักทำให้เกิดการเทขายหุ้นและตราสารหนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

วิกฤติโรคระบาด COVID-19: KKP Research ระบุว่าปรากฏการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ประสบกับวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในแทบทุกช่องทางอย่างหลบเลี่ยงไม่ได้ และส่งผลกระทบทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง

โดยเฉพาะมาตรการของภาครัฐและเอกชนในการเอาชนะ “สงครามโรค” ครั้งนี้ ส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงักงันโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ จนอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางการเงินได้อีกด้วย KKP Research จึงสรุปว่า วิกฤติครั้งนี้สร้างบาดแผลทางเศรษฐกิจและสังคมได้ลึกและเป็นวงกว้างกว่าวิกฤตการเงินปี 2008

เช่นเดียวกับมุมมองของ SCB EIC ที่มองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรอบนี้น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้างกว่า เพราะกระทบต่อ 1) ช่องทางการส่งออกสินค้า เนื่องจากประเทศคู่ค้าทั่วโลกลดอุปสงค์ลง 2) ช่องทางนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ 3) การชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และ 4) ความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภค อันเนื่องจากความไม่แน่นอน

ขณะที่วิกฤติปี 2008 ก่อตัวจากภาคการเงิน นำหายนะไปสู่ภาคธุรกิจจริง วิกฤติปี 2020 เริ่มต้นจากเชื้อไวรัสสร้างหายนะไปสู่ภาคการผลิตจริง และอาจตามมาด้วยความเสียหายในภาคการเงิน …

แต่แน่นอนว่า ทั้งสองวิกฤติส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นไทยสาหัสไม่แพ้กัน โดยหลายฝ่ายมองว่าวิกฤติไวรัสครั้งนี้อาจสร้างบาดแผลลึกกว่าวิกฤติซับไพร์มโดยเฉพาะในไตรมาส 2 ปีนี้

ความต่างที่คล้ายกันของสภาพแวดล้อม

วิกฤติการเงินโลกปี 2008: SCB EIC ให้มุมมองว่า ก่อนเข้าสู่วิกฤติ เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ในระดับสูงที่ 5.6% ในปี 2007 นำโดยเศรษฐกิจจีนซึ่งขยายตัวได้ถึง 14.3% ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเอเชีย และในปี 2008 ปัญหาการก่อหนี้สูงเกิดขึ้นในภาคครัวเรือนและภาคการเงิน

วิกฤติโรคระบาด COVID-19: ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปี 2019 ขยายตัวเพียง 3% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าที่ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศชะลอลง ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากมาอยู่ที่ 6.1% และปัญหาการก่อหนี้สูงอยู่ในภาคเอกชนและหนี้ภาครัฐ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว

“อุบัติเหตุภาคการเงิน” ที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากจะมาจากความเสี่ยงจากการที่ลูกหนี้บุคคลและธุรกิจไม่สามารถชำระหนี้ได้ อีกความเปราะบางสำคัญยังมาจากการก่อหนี้ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะรูปแบบของหุ้นกู้เอกชน ที่พบว่ามีการก่อหนี้สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเทศไทย นี่จึงเป็นที่มาให้แบงก์ชาติรีบออกมาตรการ “อุ้มตราสารหนี้ (หุ้นกู้) คุณภาพดี” เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา เพราะกลัวว่าความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจอาจทำให้นักลงทุนแห่ขายหุ้นกู้จนอาจก่อให้เกิดวิกฤติการเงินรอบใหม่

มาตรการแก้ไขวิกฤติ

วิกฤติการเงินโลกปี 2008: เนื่องจากต้นตอมาจากภาคการเงิน หลายประเทศจึงใช้นโยบายการเงินแก้ปัญหา โดยเริ่มจาก FED ใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยลง ควบคู่กับมาตรการ QE (Quantitative Easing) เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อยๆ กลับฟื้นตัวขึ้นมา หลังจากนั้นธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ก็เริ่มทำตามจนเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาเรื่อยๆ

แก้เกม วิกฤติจากโควิด

วิกฤติโรคระบาด COVID-19: KKP Research มองว่านโยบายการเงินและมาตรการช่วยเหลือทางการคลัง ไม่ว่าจะอัดฉีดเข้ามามากเท่าไร แต่ก็ทำได้แค่เพียงยืดเวลาเพื่อให้ธุรกิจและระบบการเงินสามารถอยู่รอดได้จนการระบาดของ COVID-19 หมดไปหรือมีการค้นพบวัคซีนได้สำเร็จ แล้วนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ มาตรการเหล่านี้ก็ไม่อาจช่วยได้ ดังนั้น เมื่อต้นตอปัญหาเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทางแก้ปัญหาก็คือการทำให้การระบาดหมดไป หรือการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคมาใช้ 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

วิกฤติการเงินโลกปี 2008: หลังการใช้นโยบายทางการเงินอย่างหนักในหลายประเทศ ก็ทำให้ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีนและประเทศเกิดใหม่ที่ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง เป็นแรงพยุงให้เศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ โดย SCB EIC ระบุว่า รวมเวลาทั้งสิ้นราว 1 ปี 6 เดือน

วิกฤติโรคระบาด COVID-19: SCB EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะหดตัวลง 0.8% ซึ่งลึกกว่าผลกระทบในปี 2009 ที่เศรษฐกิจโลกหดตัวประมาณ 0.1% เท่านั้น แต่หากประเทศต่างๆ สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ก็อาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เร็วขึ้นกว่าการฟื้นตัวในวิกฤติปี 2008

แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อและยังไม่สามารถผลิตวัคซีนได้สำเร็จในเวลาอันใกล้ วิกฤติครั้งนี้อาจลุกลามจนทำให้คนตกงานและธุรกิจต้องปิดลงเป็นจำนวนมาก และอาจกระทบต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินของหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้ยิ่งยากลำบากในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายโดยถาวรต่อทั้งธุรกิจ ประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ดี  การที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างแท้จริง ทั่วโลก (โดยเฉพาะชาติที่ร่ำรวย) ต้องช่วยกันหยุดการระบาด ต้องช่วยดูแลกันและกันเพื่อให้ทุกคน (โดยเฉพาะในประเทศยากจน) เข้าถึงการรักษาหรือวัคซีน ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรอบใหม่ รวมถึงต้องช่วยกันประคับประคองไม่ให้เกิดวิกฤติการเงินในประเทศหนึ่งลุกลามไปสู่วิกฤติการเงินโลกรอบใหม่

…เรียกว่าวิกฤติรอบนี้ “ห้ามทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เด็ดขาด!

 

 

ที่มา: KKP Research โดยกลุ่มธนกิจการเงินเกียรตินาคิน, SCB EIC และ ASIA Plus Resarch

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online