บัณฑูร ล่ำซำ เปิดใจหมดเปลือก ถอดแนวคิด ชีวิต หลังวางมือจาก ธนาคารกสิกรไทย

หลังจากที่ คุณปั้น บัณฑูร ล่ำซำ ผู้ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของธนาคารกสิกรไทย ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา พร้อมแต่งตั้งสองแม่ทัพหญิง กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เป็นประธานกรรมการ และ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

วันนี้ 8 เมษายน 2563 ถือเป็นครั้งแรกที่บัณฑูรออกมาพูดคุยกับนักข่าวและพนักงานธนาคารกสิกรไทยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในกลุ่มเฉพาะ ในฐานะประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ฉายาที่บอร์ดกสิกรไทยมอบให้

 

ก่อนพูดถึงภารกิจหลังเกษียณจากนายธนาคารกสิกรไทย

บัณฑูรเปิดบทการพูดคุยในครั้งนี้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในช่วงเหตุการณ์ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่สร้างความสูญเสียให้กับเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ที่เป็นรากฐานสำคัญในการรับมือวิกฤตครั้งนี้

 

“ห้วงเวลานี้เป็นเวลาของความตึงเครียดและเดือดร้อนกันทั่วหน้าจากวิกฤตของโรคระบาด ผมอดหวนคิดกลับไปไม่ได้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลานั้นคนไทยทั้งประเทศเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดความล่มสลายทั้งประเทศเช่นกัน”

 

ในช่วงเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสไว้ว่า

 

“ไม่ว่าจะทำอะไรกันก็ตามขอให้แน่ใจว่าถ้าวันหนึ่งพายุมาก็อย่าถึงกับล่ม”

 

บัณฑูรขยายความว่า ถ้าวันหนึ่งพายุมาก็อย่าถึงกับล่ม หมายถึงอย่าทำจนสุดโต่งเกินตัว ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการ เพราะโลกมนุษย์มีความผันแปรอย่างมากมายที่นึกไม่ถึง

 

เพราะถ้าไม่เตรียมการ ประมาทไม่ระวังในมิติต่างๆ เมื่อวิกฤต ที่เหมือนพายุที่พัดเข้ามาจะเกิดความเสียหายมากมายเหมือนกับที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

 

และสร้างความตระหนักรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงที่เห็นภาพอย่างชัดเจนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

บัณฑูรเล่าต่อว่า วันนี้พายุไม่ได้มาในรูปแบบวิกฤตเศรษฐกิจ แต่มาในรูปแบบของโรคระบาด ที่เป็นพายุลูกใหญ่พัดทั้งโลก จากเดิมที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในทิศทางที่ดี กลายเป็นเศรษฐกิจไม่ดีชั่วข้ามคืน เพราะคนไม่สามารถทำมาหากินตามปกติได้

 

จากบทเรียนในปี 2540 การพัดมาของพายุที่เรียกว่าโรคระบาดในปีนี้ ทำให้ภาคธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เตรียมความพร้อมด้านทุนสำรองเพื่อรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้ก่อนหน้านั้น

 

“โรคระบาดครั้งนี้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจจากผู้คนทำงาน ค้าขายไม่ได้ตามปกติ แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจสถาบันการเงินได้ตุนเสบียงเงินทุนสำรองไว้พอสมควร และระบบธนาคารพาณิชย์ยังรับได้แม้สูญเสียกำไรจากการประกอบธุรกิจไปบ้างแต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่”

 

บัณฑูรมองไปข้างหน้าว่าหลังจากพายุโรคระบาดได้ผ่านพ้นไป สิ่งที่สำคัญคือ การทำอย่างไรให้คนกลับมาทำมาหากินได้อีกครั้ง โดยปัญหาที่สำคัญไม่ใช่แหล่งเงินทุน แต่เป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะการแข่งขันในอนาคตความรู้เดิมจะไม่สามารถแข่งขันให้อยู่ดีกินดีได้อีกต่อไป โดยองค์ความรู้ใหม่นี้ต้องมาจากการศึกษาและการวิจัย

 

“ประเทศจะไม่มีการวิจัยเลยไม่ได้ ภาครัฐและเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการลงทุนองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับคนไทยได้ อย่างสถาบันวิทยสิริเมธี โดย ปตท. ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและเป็นประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างทันเวลา โดยล่าสุดสถาบันนี้ได้ชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 ส่วนธนาคารกสิกรไทยก็มีความคิดที่จะลงทุนเรื่องวิจัยและพัฒนาในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศเช่นกัน”

บัณฑูร ล่ำซำ กล่าวถึงองค์ความรู้ที่สนใจส่วนตัวคือ ความรู้ด้านเกษตร

“องค์ความรู้ด้านการเกษตรมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรักษาทรัพยากรป่าของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้ความสนใจเป็นการส่วนตัวและดึงธนาคารกสิกรไทยมาเกี่ยวข้องด้วยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะป่าต้นน้ำแห่งใหญ่ของประเทศคือน่าน”

ในมุมของบัณฑูรคือความพยายามที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน ถูกต้องตามกฎหมาย สร้างป่าที่ถูกทำลายไปกลับคืน โดยแก้ปัญหาที่กล่าวมา สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ความรู้ใหม่ในการทำมาหากินการเกษตร” ที่ทันต่อเวลาเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้โดยไม่อดอยาก และไม่ต้องบุกรุกป่าเพื่อทำกิน

 

การสานต่อพันธกิจ “รักษ์ป่าน่าน” โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์ ภารกิจทวงคืนป่าต้นน้ำในจังหวัดน่าน ที่บัณฑูรได้ปูรากฐานมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นภารกิจใหม่ของบัณฑูร กับการใช้ชีวิตหลังเกษียณจากนายธนาคาร

 

“เกษียณจากธนาคารใช่ แต่ไม่เกษียณจากการทำงาน แต่คือการเริ่มต้นอีกฉากหนึ่งของชีวิต”

 

“สำหรับผมเป็นการเริ่มต้นอีกฉากหนึ่งของชีวิต การทำงานธนาคารที่ผ่านมาได้ทำให้ได้มุมมองที่กว้างไปกว่าเดิม และสามารถนำมาใช้กับการหาเทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างอาชีพในระดับท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับป่า และเป็นอีกมิติของความเป็นตัวตนของผม แต่ทุกอย่างต้องทำไปด้วยกัน ใครมีกำลังมาก็ช่วย สถาบันการเงินมีทรัพยากรเงิน งบประมาณ บุคลากรช่วยได้”

 

แม้ที่ผ่านมา โครงการรักษ์ป่าน่าน ของบัณฑูรยังไม่ได้พื้นที่ป่าที่เคยเสียไป 28% กลับคืนมา แต่ความสำเร็จในวันนี้คือคนในพื้นที่มีความเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม มีความร่วมมือกันระหว่างประชากับภาครัฐมากขึ้น

 

“โจทย์ที่ท้าทายต่อไปคือองค์ความรู้ในการจัดการที่ต้องให้คนที่อาศัยอยู่กับป่ารู้จักทำมาหากินที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพแบบใหม่ มากกว่าการปลูกพืชแบบเดิมๆ ขายของแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้อิ่มได้”

 

ในวันที่บัณฑูรถอดสูท ปลดเนกไท หันหลังให้กับนายธนาคาร ลุยโครงการรักษ์ป่าน่านอย่างเต็มที่ตามชีวิตบทใหม่ที่เขาได้วางไว้

บัณฑูรกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าวันนี้ถึงเวลาที่สมควรแก่เวลาส่งไม้ต่อให้กับกอบกาญจน์ และขัตติยา เป็นสองแม่ทัพหญิง ขับเคลื่อนกสิกรไทย  

บัณฑูรให้เหตุผลของการคัดเลือกกอบกาญจน์และขัตติยาขึ้นดำรงตำแหน่งที่สำคัญ มาจากการมองเห็นกอบกาญจน์เป็นคนที่มีประสบการณ์ทางด้านภาคธุรกิจและภาครัฐ ทำให้มีมุมมองหลากหลายเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับในความมีคุณธรรมความมีจริยธรรม

ส่วนขัตติยาเป็นคนเก่งด้านการบริหาร มีความเฉียบคมในความรู้ทางเทคนิคทางการเงินและการจัดการ

และการที่บัณฑูรได้มอบภารกิจสานต่อธนาคารในช่วงเวลานี้ เขามองว่าคือบททดสอบที่ดี เพราะถ้าสามารถผ่านไปได้ เรื่องอื่นๆ จะสามารถผ่านไปได้ด้วยเช่นกัน

 

สุดท้ายบัณฑูรฝากข้อคิด 4 ประการให้กับทีมบริหารธนาคารว่า

อย่ามั่ว เพราะมั่วคือความไม่ชัดเจน ตกลงอย่างหนึ่งไปทำอีกอย่าง จะแก้ปัญหาใหญ่ไม่ได้

อย่าไม่คำนวณ การมีตัวเลขกำกับที่ถูกต้องจะทำให้คำพูดเป็นนามธรรมที่จับต้องได้

อย่าชุ่ย ทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง

อย่าเหยียบตีน การรักษาความสัมพันธภาพของคนเป็นเรื่องใหญ่

 

Marketeer FYI

บัณฑูร ล่ำซำ เป็นบุตรของ “บัญชา” และท่านผู้หญิงสำอางวรรณ ล่ำซำ

และเป็นหลานปู่ของ “โชติ ล่ำซำ” ผู้ก่อตั้งธนาคารกสิกรไทยในปี 2488

ก่อนวางมือ บัณฑูร ได้ทำให้กสิกรขึ้นไปอยู่ในจุดสูงสุด ด้วยการเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์รวมสูงเป็นอันดับ 1 คือ 3,155,090.81 ล้านบาท มีรายได้รวมและกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 คือ 160,491 ล้านบาท และ 38,728 ล้านบาทตามลำดับ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน