JD.COM ทำความรู้จักกับหนึ่งในเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซที่ธุรกิจเกิดจากการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส (กรณีศึกษา)
ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ถ้าเรามองเห็นมัน
เมื่อปี 2546 เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส ที่คร่าชีวิตคนจีนจำนวนมาก ในเวลานั้นคนจีนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อ
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนจีนในเวลานั้นค่อนข้างกระทบกับเศรษฐกิจจีนและร้านค้าจำนวนมาก จากที่เคยมีลูกค้าเดินเข้ามาจับจ่ายในร้านไม่ขาดสาย กลายเป็นร้านที่เงียบเหงา ถนนหนทางไร้ผู้คนเดินขวักไขว่
ในช่วงเวลานั้น ริชาร์ด หลิว เจ้าของร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในกรุงปักกิ่ง ที่มีชื่อว่า JingDong Century ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของซาร์สเช่นกัน เพราะปักกิ่งถือเป็นเมืองที่มีการแพร่ระบาดของโรคซาร์สสูงอีกเมืองหนึ่งของจีน
ในช่วงวิกฤตครั้งนั้น ริชาร์ด หลิว มีความคิดว่า ถ้าสามารถพาธุรกิจตัวเองขายอยู่บนอีคอมเมิร์ซ เปิดให้ลูกค้าสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมบริการส่งสินค้าตรงถึงหน้าบ้านจะสามารถสร้างโอกาสให้กับธุรกิจอย่างมหาศาล
ไม่เพียงแค่คิด ในปี 2547 ริชาร์ด หลิว เปิด JD.COMหรือที่คนจีนเรียกว่าจิงตง (JingDong) เข้ามาร่วมแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซจีน ที่ในเวลานั้นมีคู่แข่งคนสำคัญอย่างเถาเป่าจากอาลิบาบา ลงเล่นอยู่ในตลาดล่วงหน้ามาตั้งแต่ปี 2546 ปีที่โรคซาร์สระบาด
ริชาร์ด หลิว มองธุรกิจในเวลานั้นมีความพร้อมในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก new normal ของคนจีนที่หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่เมื่อเข้ามาในธุรกิจช้ากว่าหนึ่งก้าว จำเป็นต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งนับตั้งแต่วันแรกที่แข่งขัน
โดยความแตกต่างนี้ประกอบด้วย
หนึ่ง-การการันตีของแท้ จากการมองเห็นปัญหาหลักของอีคอมเมิร์ซจีนที่ไม่สามารถจับต้องสินค้าก่อนซื้อได้ และอาจจะทำให้ผู้ซื้อรู้สึกไม่มั่นใจในสินค้า เนื่องประเทศจีนเป็นประเทศที่แหล่งการผลิตสินค้าปลอมขนาดใหญ่ของโลก
สอง-การมีระบบขนส่งของตัวเอง เพื่อส่งสินค้าถึงมือลูกค้า ควบคุมประสบการณ์การสั่งซื้อสินค้าจากต้นน้ำถึงปลายทาง
การที่ JD.COMมีระบบขนส่งเป็นของตัวเองถือว่าเป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งสำคัญอย่างอาลีบาบา ที่ส่งสินค้าผ่าน Third Party ที่ไม่สามารถควบคุมการส่งได้
ธุรกิจของ JD.COMของ JD.COMแม้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยพละกำลังในการแข่งขันที่มีน้อยกว่ายักษ์ใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซอย่าอาลีบาบาที่ริชาร์ด หลิว วางเป้าหมายในการแข่งขัน
เกมธุรกิจของ JD.COMในช่วงเวลานั้นไล่ตามหลังอาลีบาบาของแจ็คหม่าอยู่หลายเท่าตัว
จนเวลาผ่านไป 10 ปี ในปี 2557 ธุรกิจ JD.COMเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สองเรื่องคือ
หนึ่ง– Tencent ยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีประเทศจีน เข้ามาขอร่วมหุ้น 15% ในธุรกิจ D.COM ในช่วงเริ่มต้น พร้อมกับยกแพลตฟอร์มแชตอย่าง QQ Wanggou และเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Paipai ของ Tencent ให้ JD.COMเป็นผู้ดูแล
การที่ Tencent เข้ามาถือหุ้นใน JD.COMมาจากเป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างความแข็งแกร่งเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งคนสำคัญอย่างอาลีบาบา
สอง– JD.COM พาตัวเองสู่ตลาดหลักทรัพย์อเมริกา Nasdaq ก่อนอาลีบาบา
แม้ในช่วงเวลาแรกของ JD.COMในตลาดหลักทรัพย์วางกลยุทธ์เร่งการเติบโตมากกว่าผลกำไร ผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ แต่หุ้น JD.COMได้รับความสนใจจากนักลงทุนไม่น้อย เนื่องจากมี Tencent เป็นผู้สนับสนุนหลัก ที่พร้อมทั้งเงินทุน ฐานลูกค้า และช่องทางการตลาดต่างๆ ที่ Tencent มีอยู่
ในปีที่ผ่านมา JD.COMมีรายได้ 576,888 ล้านหยวน หรือ 2,632,541.28 ล้านบาท กำไร 8,995 ล้านหยวน หรือ 41,047.32 ล้านบาท มาจากการขายสินค้า 510,734 ล้านหยวน หรือ 2,330,657.49 ล้านบาท รายได้จากบริการ, โฆษณา และบริการระบบขนส่ง 66,154 ล้านหยวน หรือ 301,883.79 ล้านบาท
และเป็นปีแรกที่ JD.COMมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจจากที่ JD.COMขาดทุนจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายคลังสินค้า พัฒนาการส่งสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งการส่งสินค้าผ่านโดรน การส่งสินค้าด้วยรถยนต์ไร้คนขับ ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงาน ซูเปอร์มาร์เก็ตดิจิทัล ร้านอาหารที่มีพ่อครัวและพนักงานเสิร์ฟเป็นหุ่นยนต์ เจดีไฟแนนซ์ รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เป็นต้น
ในประเทศไทย JD.COMเข้ามารุกตลาดผ่านการจับมือกับกลุ่มเซ็นทรัลใน ตั้งแต่ปี 2560 ในชื่อของ JD-Central จากการมองเห็นโอกาสการเติบโตในประเทศไทย ที่ตลาดนี้มี Lazada แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสในเครืออาลีบาบา และ Shopee จาก SEA เป็นผู้เล่นในตลาดก่อนหน้านั้น
แม้ JD-Central จะเน้นจุดเด่นในการแข่งขันของแท้ 100% เหมือนกับ JD.COMการแข่งขันในตลาดประเทศไทยวันนี้ JD-Central ยังคงมีจุดอ่อนที่ต้องเสริมในเรื่องของ
1. ความหลากหลายของสินค้า
เนื่องจาก JD-Central เน้นการันตีของแท้ ทำให้การตัดเลือกสินค้าที่มาจำหน่ายยังคงไม่หลากหลายเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสทั้งสอง ที่เปิดโอกาสให้ร้านค้าเข้ามาเปิดร้านในแพลตฟอร์มได้ง่ายกว่า และทำให้สินค้าที่จำหน่ายมีความหลากหลายและสามารถเปรียบเทียบสินค้าจากหลายๆ ร้านค้าได้ในแพลตฟอร์ม
แต่ข้อเสียของความง่ายในการเปิดร้านคือสินค้าที่เข้ามาจำหน่ายอาจมีสินค้าปลอม หรือของไม่มีคุณภาพได้เช่นกัน
2. การทำตลาดสร้าง Brand Awareness
แม้ตลาดธุรกิจอีมาร์เก็ตเพลสจะเกิดการซื้อขายในโลกออนไลน์ และทำให้การทำตลาดส่วนใหญ่จะอยู่บนโลกออนไลน์ แต่ที่ผ่านมาอีมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee และ Lazada มีกลยุทธ์สร้าง Brand Awareness ผ่านสื่อทีวีและสื่ออื่นๆ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง และเมื่อคิดถึงอีมาร์เก็ตเพลส ผู้ซื้อในกลุ่มแมสจะคิดถึงทั้งสองแพลตฟอร์มนี้ก่อนเสมอ
โดยผลประกอบการของ JD-Central ยังอยู่ในภาวะขาดทุนเหมือนกันแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสอื่นๆ ในประเทศไทย
2560 522,296 บาท ขาดทุน 3,799,465 บาท
2561 457,531,580 บาท ขาดทุน 944,120,208 บาท
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์
การที่อีมาร์เก็ตเพลสในประเทศไทยยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง มาจากการแข่งขันที่สูงที่มาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคสู่ความเคยชินในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ ที่ต้องเผาเงินเพื่อดึงทราฟิกยอดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
แต่การระบาดของโควิด-19 นักการตลาดและนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นตัวเร่งชั้นดีให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จนการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กลายเป็น new normal ในระยะเวลาอันใกล้
cr. ภาพจาก JD.COM
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



