AIS 5G เกมนี้แพ้ไม่ได้ (วิเคราะห์) กลยุทธ์ผู้นำตลาดที่ขอสู้เพื่อการเติบโต

โควิด-19 สร้างความถดถอยทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทย

ในปีนี้คาดการณ์ว่า GDP ประเทศไทยจะหดตัวลง 7.7%

ส่วนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คาดการณ์หดตัว 3-4%  น้อยกว่า GDP ประเทศ

เหตุผลในแต่ละปีอุตสาหกรรมโทรคมนาคมรวมมีการเติบโตสูงกว่า GDP ประเทศในทุก ๆ ปี จากการเป็นส่วนหนึ่งใน Infrastructure ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ส่วนปีนี้สถานการณ์โควิด-19 แม้จะมีการใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้น แต่ความท้าทายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนในประเทศ

ในงานแถลงข่าว ทิศทาง-วิสัยทัศน์ ประจำปีของเอไอเอส ภายใต้หัวข้อ AIS 5G – Forging Thailand’s Recovery ผ่าน Zoom  สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส มองว่า ตลอดช่วงเวลาโควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในช่วง Fall ป้องกันและรักษา

และจากนี้ต่อไปประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Fight เพื่อการเติบโตในอนาคต

สมชัยมองว่าวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบเพียงแต่ประเทศไทย แต่ได้รับผลกระทบทั่วโลก และการต่อสู้อยู่รอดเพื่อเติบโตในอนาคต ต้องมี Digital Infrastructure ผ่านเครือข่าย 5G ในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งการมี Digital Infrastructure ที่มีประสิทธิภาพเป็นโอกาสมหาศาลของประเทศเล็ก ๆ อย่างไทย ที่สามารถขับเคลื่อนประเทศเติบโตชนะประเทศใหญ่ได้

ในมุมมองที่สมชัยกล่าวมา ในปีนี้ เอไอเอส มุ่งเน้นขับเคลื่อนธุรกิจผ่านเครือข่าย 5G ด้วยงบลงทุนด้านเครือข่ายตลอดทั้งปี 35,000-45,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงกว่าช่วงเวลาปกติที่เอไอเอสใช้งบลงทุนด้านเครือข่ายเฉลี่ยปีละ 10,000-20,000 ล้านบาทเท่านั้น

การลงทุนด้านเครือข่าย 5G ของเอไอเอส มาพร้อมกับแนวทางในการพัฒนา AIS 5G สู่อุตสาหกรรมหลัก 5 อุตสาหกรรมให้แก่

1. สาธารณสุข

ที่ผ่านมา เอไอเอส มีการนำ 5G มาใช้กับ Robot และ AI เข้าไปสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการ คัดกรองคนไข้ (Robot for Care), Telemedicine, AI Assisted CT SCAN และ Mobile Stroke Unit ตลอดช่วงระยะของการแพร่ระบาดรุนแรง จนถึงการผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตร (Strategic Partner) เพื่อพัฒนา Telemedicine อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สมชัยมองว่าจากการป้องกัน ดูแล รักษาโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้ต่างประเทศเห็นศักยภาพด้านการรักษา แม้ในวันนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถสร้างการเติบโตจากการท่องเที่ยวด้วยการเปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ๆ เหมือนในอดีตได้ แต่ประเทศไทยสามารถนำจุดเด่นด้านการแพทย์ เป็นจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวเพื่อการรักษาในกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในวันที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

2.อุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก: Eastern Economic Corridor-EEC

สมชัยมองว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ที่สำคัญอีกภาคส่วนหนึ่งคือจากการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ และในพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในภาคอุตสาหกรรม

และเอไอเอสวางทิศทางขับเคลื่อน EEC ผ่าน 5G ให้เป็น ICT Infrastructure เพื่อเสริมขีดความสามารถในการบริหารจัดการในพื้นที่ EEC ทั้งภาคพื้นดิน ภาคอากาศ และภาคทางทะเล ประกอบด้วย

–   ภาคพื้นดิน: จับมือกับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อมตะ คอร์ปอเรชัน, สหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง, กลุ่ม WHA ทดสอบ 5G Smart City

–  ภาคทางอากาศ จับมือกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ในนาม กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่เริ่มทดลองทดสอบ 5G Smart Airport

–  ภาคทางทะเล ร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่เริ่มทดลองทดสอบ 5G แล้ว ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง

 

3. ภาคการค้าปลีก

เอไอเอสให้ความสนใจในการนำ 5G เข้าไปสร้างประสบการณ์ในธุรกิจรีเทล สู่ Smart Retail ด้วยการจับกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล ร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มในหลายรูปแบบ

 

4. Multimedia ใหม่สร้าง Immersive Experience

นำเทคโนโลยี AR/VR มาใช้สร้างประสบการณ์ 5G ในรูปแบบ Immersive Experience ด้วยการจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างประสบการณ์ใหม่ของ Unseen Thailand ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

รวมถึงการจับมือกับผู้พัฒนาคอนเทนต์ด้านการศึกษา และความบันเทิง พลิกโฉมการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของ Creator สัญชาติไทย ด้วย Next Reality Studio-AR/VR Studio แห่งแรกของเมืองไทย

 

5. Sustainability Development

นำ 5G เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา สิ่งแวดล้อม การเกษตร และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยผนึกพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้าง SDG Lab ในพื้นที่ 100 ไร่ ในอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี หรือสวนป๋วย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต้นแบบการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมที่สุดแห่งหนึ่ง

สิ่งที่ทำให้เอไอเอสให้ความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนธุรกิจผ่านเทคโนโลยี 5G และเน้นไปยังอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่เป็นมหภาคมากกว่าการนำ 5G มาให้บริการกับผู้บริโภคที่เป็น End User โดยตรง Marketeer มองว่ามาจากเหตุผล

 

1. การตื่นตัวสู่ Digitalization ของภาคธุรกิจ

แม้คำว่า Digital Transformation จะถูกพูดถึงเป็นระยะมากว่า 10 ปี แต่ที่ผ่านมาการ Transform ธุรกิจสู่ดิจิทัลในประเทศไทยค่อนข้างเป็นไปได้ช้า จากหลายธุรกิจที่ยังมองไม่เห็นความสำคัญ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขับเคลื่อนให้ Digitalization เติบโตอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต่างเห็นความสำคัญของดิจิทัลที่มาพร้อมโอกาสธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ และให้ความสำคัญในการลงทุนด้านดิจิทัลมากขึ้น

การลงทุนด้านดิจิทัลของภาคเอกชนนอกจากจะลงทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แล้ว สิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการเชื่อมต่อสู่โลกดิจิทัลคือ อินเทอร์เน็ต และจุดเด่นของเทคโนโลยี 5G คือประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว ในความหน่วงที่ต่ำ และไม่ต้องลากสาย จึงเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสนใจ

ซึ่งการที่เอไอเอส รุกบริการ 5G ในภาคธุรกิจก่อนคู่แข่ง เป็นการสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้นำธุรกิจ ไปพร้อมกับการสร้าง User Case ในการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่อประกาศความพร้อมในการให้บริการ เชิญชวนให้ธุรกิจที่สนใจเข้ามาเป็นลูกค้าของเอไอเอสแทนคู่แข่ง

 

2. เทคโนโลยี 5G ระดับแมสยังไม่เกิด บนกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัว

สมชัยให้ข้อมูลว่าไตรมาสแรกปี 2563 ที่ผ่านมา โควิด-19 ทำให้ยอดการใช้งานมือถือสูงขึ้น 20% แต่รายได้ลดลง 2-3% การลดลงของรายได้มาจากโครงการจากอินเทอร์เน็ตและโทรฟรีเพื่อเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง และการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อรวมกับดีไวซ์ 5G ที่ยังอยู่ในกลุ่มระดับไฮเอนด์ จากราคาจำหน่ายที่สูง ทำให้การเข้าถึง 5G ของผู้บริโภคที่เป็น End User อยู่ในกลุ่มที่จำกัด และรายได้จากการให้บริการดาต้าบนโครงข่าย 5G จะมีน้อยลงตามมา

เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจเอกชน ที่เอไอเอสสามารถสร้างรายได้ 5G จากการให้บริการในรูปแบบโซลูชั่น และการให้บริการในรูปแบบ IoT ที่คิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินโดยรวมที่น่าสนใจ

 

3. เครือข่าย AIS 5G แม้ครอบคลุม 77 จังหวัด แต่ยังไม่ครบทุกพื้นที่

ในวันนี้แม้เอไอเอสจะมีการวางโครงข่าย 5G ครอบคลุม 77 จังหวัด แต่เป็นการวางโครงข่ายที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จากดีไวซ์ในการเชื่อมต่อของ End User ที่ยังมีอยู่จำกัด ก่อนที่จะขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่การใช้งานในอนาคต

ซึ่งการให้ความสำคัญใน 5G ตาม 5 อุตสาหกรรมที่กล่าวมา เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการวางโครงข่าย 5G เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในกรุงเทพฯ และ EEC สามารถใช้บริการ 5G ภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่มีการวางเครือข่าย 5G สามารถใช้ได้ในเดือนสิงหาคม 2563

ทั้งนี้ อย่างไรก็ดี แม้ที่ผ่านมาประเทศไทย จะให้บริการ 3G ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ประมาณ 10 ปี และ  4G เรายังช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 5 ปี แต่สำหรับในยุค 5G ประเทศไทยไม่ช้าไปกว่าใคร และ AIS เชื่อว่า 5G จะเป็น Infrastructure ใหม่ของประเทศไทยที่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเอไอเอสอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน