ถึงแม้จะได้รับรางวัล Best Employers Thailand หรือรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยมาหมาดๆ แถมยัง ติดต่อกันเป็นปีที่สอง แต่นพ.สุรพล โล่สิริวัฒน์ ผอ.โรงพยาบาลพญาไท 3 ยังออกตัวตั้งแต่ประโยคแรก ว่าความสำเร็จวันนี้ไม่ใช่เพราะเขาหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความสำเร็จของพนักงานทุกคนที่ร่วมกัน สร้างวัฒนธรรมองค์กรต้นแบบเกิดขึ้น

วัฒนธรรมต้นแบบในความหมายของเขา คือการที่พนักงานทุกคนที่เปรียบเสมือนฟันเฟืององค์กร ร่วมกันทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยทีมเวิร์ค ด้วยความสร้างสรรค์ และสามารถสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการ ตลอดจนการบริการให้คนไข้ได้รับประโยชน์และได้รับความปลอดภัยสูงสุด ประการหลังคือเป้าหมายสำคัญที่สุด

และการรับรางวัลระดับสากลดังข้างต้น ยิ่งสะท้อนว่าไม่ใช่แค่คำพูด แต่ทำได้จริง

วันนี้มีโอกาสมาพูดคุยกับหัวเรือใหญ่ของโรงพยาบาลที่แอดมินเชื่อว่าเป็นที่พึ่งยามเจ็บไข้ของใครหลายคน รวมทั้งตัวแอดมินเอง เรียกว่าถ้าเป็นย่านโรงพยาบาลเอกชนฝั่งตะวันตก นี่คือเบอร์หนึ่งฝั่งธนที่ทุกคนเชื่อมั่น และแนวคิดหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ในแวดวงโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปรับใช้ได้ทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม

Best Employers Thailand สุดยอดนายจ้างดีเด่น

Best Employers Thailand หรือโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่น เป็นการสำรวจโดยบริษัท เอออน ฮิววิท ซึ่งผ่านการสำรวจด้วยเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถบ่งชี้จุดที่องค์กรสามารถพัฒนาต่อไปในด้านความผูกพันของพนักงาน, การสร้างภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพ, การสร้างองค์กรเป็นที่จดจำ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อมุ่งสู่ประสิทธิภาพของการทำงานที่ยอดเยี่ยม

“ต้องบอกว่าเราไม่เคยมีแผนที่จะคว้ารางวัลนี้ ไม่มีนโยบายที่จะคว้ารางวัลหรือการประกวดใดๆ สิ่งที่เราทำคือการมุ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเบอร์หนึ่งของฝั่งตะวันตก ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการรักษา และบริการ สิ่งที่เห็น คือสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด ต้องขอบคุณทางคณะกรรมที่มองเห็นความสำคัญ และมอบรางวัลให้กับเราตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งปีนี้พิเศษกว่าเดิม เพราะได้รางวัลทั้งเครือโรงพยาบาลพญาไท” ผู้บริหารอธิบาย

โดยการสำรวจครั้งนี้ผ่านการประเมินโดยผู้ตอบแบบสอบถามจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ และทั้งนี้เพื่อให้การประเมินการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยมีความสอดคล้อง และมุ่งเน้นต่อการพัฒนาบุคลากร และองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ เอออน ฮิววิท จึงร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยวิเคราะห์ และประเมินผลร่วมกัน

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลกว่า 80 องค์กร ผ่านการตอบแบบสอบถามจากพนักงานถึง 184,033 คน เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2016 ปรากฏว่ามี 7 องค์กรได้รับรางวัล โดยมีบริษัท โรงพยาบาลพญาไท 3 จำกัดเป็นหนึ่งในนั้น

ความสุขของพนักงาน คือความสำเร็จขององค์กร

ด้วยเวลาที่จำกัดเราจึงขอให้ผู้บริหาร ถอดกลยุทธ์สำคัญๆ สู่ความสำเร็จของโรงพยาบาล

“มีคนถามตลอดว่าทำอย่างไรให้องค์กรเดินหน้า คำตอบสั้นๆของผมคือคุณทำอย่างไรก็ได้ให้พนักงานมีความสุข ให้เขามีความภาคภูมิใจในองค์กร และเห็นคุณค่าในงานของเขา เรื่องของจิตใจนี่สำคัญมาก หน้าที่ของผมคือการให้ทุกคนทำงานด้วยความสุข ที่เหลือเมื่อพวกเขามีความสุข เมื่อพวกเขาเห็นคุณค่า พวกเขาก็จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้องค์กรได้”

เขาเน้นย้ำว่างานที่ดี หรือที่ทำงานที่ดี ต้องให้คุณมีความสุขสองอย่าง หนึ่งสุขกาย สองสุขใจ ทั้งสองปัจจัยนั้นเกื้อหนุนกัน ถ้างานรายได้ดีแต่เสียสุขภาพ ระยะยาวก็คงไม่ดี

ด้วยความที่เป็นโรงพยาบาล ดังนั้นเรื่องสุขกายนี่จึงไม่ต้องห่วง ที่นี่ดูแลดีอยู่แล้ว สวัสดิการสุขภาพของพนักงานดูแลเต็มที่ตามมาตรฐานสากล มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ซึ่งอาจารย์สุรพลเล่าว่าบังคับตรวจ วัคซีนก็บังคับฉีดสม่ำเสมอ เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพกายที่ดีที่เอื้อต่อสุขภาพจิตใจ และที่สำคัญแน่นอน ค่าจ้าง ที่ต้องให้ตามเหมาะสม ไม่น้อยกว่ามาตรฐาน

 “คุณต้องใส่ใจรายละเอียดของพนักงาน ไม่ใช่แค่วางนโยบาย หรือพูดในที่ประชุมเท่านั้นนะ แบบนั้นใครๆก็พูดได้ ทำจริงมันต้องใส่ใจรายละเอียด ใส่ใจความเป็นอยู่ของพนักงาน ที่สำคัญคือต้องสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี”

Bad day แค่ไหน ทีมเวิร์คต้องมาก่อน

ใครๆก็อยากได้บรรยากาศที่ทำงานดีๆ ว่าแต่เรื่องพวกนี้ผู้บริหารสามารถสร้างได้หรือไม่ และถ้าสร้างได้ต้องสร้างอย่างไร

 “ผมเน้นย้ำเรื่องความสามัคคีหรือทีมเวิร์คอันนี้เป็นบรรยากาศที่ทุกคนต้อง Keep ให้ได้ ผมเชื่อว่าถ้า Good day เราก็คงไม่มีปัญหากัน ทีนี้มันจะวัดกันตอน Bad day นี่ล่ะ หลายครั้งที่ความผิดพลาดทำให้ความสามัคคีนั้นเริ่มสั่นคลอน เริ่มที่จะหาข้อผิดพลาด เริ่มที่จะเกี่ยงโทษกัน หาจำเลย ซึ่งจุดนี้ที่ผมยอมไม่ได้”

“ทุกคนตั้งใจทำงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งมันอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ ผมโอเคหากเกิดความผิดพลาดขึ้น แต่ที่นี่เราจะพยายามไม่โทษความผิดกัน หมายความว่า ทุกคนต้องยอมรับความผิดพลาด และก็หาทางแก้ไขพร้อมๆกัน”

“องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะดูว่าวันที่ Bad day แล้ว ยังสามัคคีกันหรือเปล่า อย่างที่บอกคือทุกคนเท่าเทียมกันหมด ถ้ามีเคสผิดพลาด ผู้บริหารหรือผู้จัดการต้องเรียกมาคุยก่อน ไม่ใช่ว่าอะไรโยนให้ลูกน้องผิดตลอด เพราะคุณต้องคอยถามลูกน้องมีอะไรให้ช่วย ขาดเหลืออะไร ซึ่งวิธีนี้ทำให้ระดับหัวหน้าเองก็ทำงานละเอียดขึ้น ส่วนผู้ปฏิบัติการเองก็จะเห็นว่าเราเข้าใจเขา ให้ความสำคัญกับเขา มันจึงก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันได้”

 

3 N สร้างบรรยากาศแห่งความสุข

เพื่อให้ผู้บริหาร พนักงานเข้าใจชัดเจนขึ้น ผู้บริหารให้หลักการมา 3 N ประกอบด้วย

No Harm   การทำงานต้องเน้นไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียผลประโยชน์ หรือไม่ปลอดภัย ต้องรัดกุมในคุณภาพการรักษาและการบริการ

NO Shame หากเกิดข้อผิดพลาด ต้องไม่อายที่จะบอกความจริง ห้ามหมกเม็ด ซ่อนปัญหาไว้ นี่เป็นหลักการสำคัญ ทุกคนต้องซื่อสัตย์ต่อทั้งองค์กร เพื่อนร่วมงาน และคนไข้ เมื่อทำสิ่งที่ผิดพลาดต้องกล้าที่จะยอมรับ การเป็นองค์กรที่ซื่อสัตย์จะได้รับความเชื่อมั่นเชื่อใจในระยะยาว และที่สำคัญการยอมรับความผิดพลาดเป็นประตูสำคัญของการแก้ไข

NO Blame สามัคคี ไม่โทษความผิดกันและกัน ร่วมรับผิดชอบและแก้ไขไปพร้อมกัน

ทั้งหมดเป็นหลักการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน อย่างไรก็ตามกรอบหรือหลักการอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่จะหลอมรวมความสามัคคีจริงๆ คือความรักความผูกพันกันในเพื่อนร่วมงาน ซึ่งนอกจากบรรยากาศในการทำงานแล้ว ควรเสริมด้วยกิจกรรมภายนอกที่ให้พนักงานทำร่วมกัน ซึ่งที่โรงพยาบาลพญาไท 3 มีกิจกรรม CSR อย่างต่อเนื่อง เสริมความสามัคคีและสร้างคุณค่าในการทำงาน

 

“คนทุกคนต้องการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ผมพยายามทำให้พนักงานทุกคนเห็นคุณค่าในตนเอง ด้วยการสนับสนุนกิจกรรมให้พวกเขาได้ช่วยเหลือชุมชนและสังคม”

สิ่งที่สะท้อนตลอดการพูดคุย คือการให้ความสำคัญกับพนักงานทุกระดับโดยเฉพาะพนักงานตัวเล็กๆ เขาบอกว่าองค์กรจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้ด้วยฟันเฟืองตัวเล็กๆ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติงานจึงมองเห็นจุดแข็ง และจุดอ่อนได้มากกว่า

“บางเรื่องพนักงานตัวเล็กๆนี่ล่ะ ที่รู้สถานการณ์มากกว่า เราต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้ตามเขา ไม่ควรบล็อกความคิดเห็นเวลาเขานำเสนอ ผมเปิดโอกาสให้ทุกคนผิดพลาดได้ เพราะการผิดพลาดคือการเรียนรู้ แต่อย่าผิดบ่อยละกัน”เขายิ้ม

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online