ตลาดสินค้าไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปี 2564 ในวันที่โควิดเข้ามาสร้างบรรทัดฐานการซื้อสินค้าใหม่ (วิเคราะห์)

ธุรกิจครึ่งปีแรก 2563 ถูกปั่นป่วนด้วยโควิด-19 ที่เข้ามาเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้า

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนหนึ่งมาจากการล็อกดาวน์ประเทศ ปิดสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะศูนย์การค้า ที่เป็นแหล่งรวมร้านค้าต่าง ๆ และการทำงานและเรียนจากบ้านที่เปลี่ยนบริบทการซื้อสินค้าไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้าไปจากเดิมแค่ไหน

 

ยอดขายไอที เครื่องใช้ไฟฟ้าหน้าร้านลดลง 19.9%

จากข้อมูลของเอปสัน อ้างอิงจาก GFK ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่องทางออฟไลน์ พบว่าช่องทางขายไอที/เครื่องใช้ไฟฟ้าตามร้านค้าออฟไลน์ได้รับผลกระทบทุกเซกเมนต์ จากการปิดห้างสรรพสินค้า ที่ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ ไม่สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ได้

ตลาดสินค้าไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 มีมูลค่ารวม 100,616 ล้านบาท ติดลบมากถึง 19.9% และมียอดจำหน่าย 21.6 ล้านเครื่อง ติดลบ 16.9%

โดยตลาดกล้องดิจิทัลเป็นตลาดที่มีการติดลบมากที่สุด จากการที่คนอยู่บ้าน ไม่ได้เดินทางออกท่องเที่ยว ทั้ง ๆ ที่ช่วงเดือนเมษายน ของทุก ๆ ปี เป็นช่วงเวลาแห่งการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในฤดูกาลขายกล้องดิจิทัล

ส่วนตลาดที่มีการติดลบน้อยที่สุดคือตลาดไอที เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก พรินเตอร์ และอื่น ๆ การติดลบที่น้อยที่สุดนี้ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานจากบ้านและเรียนจากบ้าน ที่จำเป็นต้องซื้อคอมพิวเตอร์ หรือพรินเตอร์ใหม่เพื่อใช้ทำงานและเรียนจากบ้านผ่านช่องทางออนไลน์

 

มือถือตลาดรวมเติบโต และก้าวกระโดดบนเส้นทางออนไลน์

สำหรับตลาดมือถือซึ่งถือเป็นหนึ่งดีไวซ์ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายเรียนออนไลน์จากภาครัฐในช่วงโควิดที่ผ่านมา

ยอดจำหน่ายมือถือในช่วงครึ่งปีแรก 2563 มูลค่า 7,796 ล้านบาท เติบโต 14% การเติบโตของตลาดมือถือมาจากการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากถึง 2,010 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามากถึง 163%

ซึ่งการเติบโตของยอดจำหน่ายมือถือผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ที่เดิมมองว่าการซื้อมือถือจะซื้อที่หน้าร้าน เพื่อสอบถามสินค้าจากพนักงาน เทสต์เครื่อง และให้พนักงานช่วยปรับแต่งและย้ายข้อมูล (ในบางสาขาที่ให้บริการ) พร้อมกับซื้ออุปกรณ์เสริมไปพร้อม ๆ กัน เป็นการเปลี่ยนสู่การซื้อออนไลน์ที่ผู้ซื้อจะต้องเรียนรู้สินค้าด้วยตัวเองเป็นหลัก

 

 

ตลาดพรินเตอร์ แม้จะเรียนออนไลน์ ทำงานจากบ้าน แต่กลับไม่เติบโต

แม้การเรียนออนไลน์และทำงานจากบ้านจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้หลายบ้านซื้อเครื่องพรินเตอร์เพื่อมาพรินต์งาน ประกอบการทำงาน หรือการเรียน ที่บ้านมากขึ้น

แทนที่ตลาดพรินเตอร์จะเติบโต แต่ในความเป็นจริงแล้วตลาดรวมของพรินเตอร์ทั้งซิงเกิลฟังก์ชันและออลอินวันยังคงติดลบทั้งคู่ ส่วนหนึ่งจากการชะลอการซื้อพรินเตอร์เครื่องใหม่ทดแทนเครื่องเก่าของ SME

แต่ภายใต้การติดลบยังคงมีความน่าสนใจคือ ยอดจำหน่ายที่เติบโตในช่องทางออนไลน์ โดยพรินเตอร์ออลอินวันมีการเติบโตมากถึง 68% และซิงเกิลฟังก์ชันเติบโต 22%

ทั้งนี้ แม้โควิด-19 จะเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้ออย่างไร แต่ที่สำคัญคือ ในวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้มองว่าจะซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ หรือออฟไลน์เท่านั้น แต่พวกเขาเลือกซื้อในช่องทางที่สะดวกและตอบโจทย์ที่สุดมากกว่า และหน้าที่ของแบรนด์คือการพัฒนาช่องทางการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเชื่อมประสบการณ์การซื้อสินค้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

เพราะเมื่อผู้บริโภคจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางไหน แต่เงินก็ไหลเข้ากระเป๋าเดียวกันคือ กระเป๋าของแบรนด์สินค้านั่นเอง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online