ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง หลังโควิด ถึงเวลาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด (วิเคราะห์)
อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างในประเทศไทยจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ของประเทศไทยเป็นตัวเลขประมาณ 8-9% และยังเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้มีอัตราการจ้างงานสูงขึ้น ในยุคที่มีความวิตกกังวลในเรื่องเศรษฐกิจ การเฝ้าสังเกตอุตสาหกรรมหลักของประเทศจึงเป็นเรื่องที่พึงกระทำโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างที่เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540 ในบทความนี้จะอธิบายถึงโครงสร้างมหภาคของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างและมาดูกันว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้อย่างไรบ้าง
โครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ปัจจุบันบริษัทที่ทำการจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้หมวดหมู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีจำนวนทั้งสิ้น 22 บริษัท มูลค่าตลาดโดยรวมของธุรกิจในกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยที่บริษัทยักษ์ใหญ่ 5 อันดับ ได้แก่ บริษัท ช. การช่าง ชิโนไทย เอสทีพี แอนด์ ไอ อิตาเลียนไทย และ ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น มีสัดส่วนทางการตลาดรวมกันถึง 71% ของมูลค่ารวมของตลาดทั้งหมด กลุ่มลูกค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้คือ กลุ่มงานราชการและงานเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 55:45 กลุ่มงานราชการหลัก ๆ เป็นงานเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ส่วนงานเอกชนเป็นการก่อสร้างที่พักอาศัย เช่น คอนโดมิเนียมและบ้านพัก สืบเนื่องจากกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ จากรัฐบาลทำให้โครงการใหญ่ ๆ หรือที่เรียกว่าเมกะโปรเจกต์ จะถูกประมูลโดยบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น โดยในส่วนของบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดกลางและเล็กจะได้งานจากกลุ่มงานราชการไปในลักษณะเป็นรับเหมาช่วง หรือเป็น sub contract จากบริษัทใหญ่อีกที
โครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ อาทิ การก่อสร้างรางรถไฟรางคู่เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการก่อสร้างเพื่อรองรับการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ เป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนจำนวนมหาศาล และยิ่งไปกว่านั้นงานที่เกี่ยวกับโครงการรับเหมาก่อสร้างยังสามารถได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ซึ่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ๆ เหล่านี้ยังได้รับโอกาสเข้าร่วมประมูลงานและก่อสร้างให้กับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
อุตสาหกรรมก่อสร้างกับวิกฤตโควิด-19
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นก่อนวิกฤต หรือโครงการในอนาคตที่ถูกวางแผนไว้แล้ว เนื่องด้วยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้น บางประเทศถึงขั้นมีการระบาดเป็นระลอกที่สองแล้วอีกด้วย การคาดคะเนถึงระดับความรุนแรงต่อเศรษฐกิจและระยะเวลาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก
ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นี้ ทำให้โครงการภาคเอกชนหลาย ๆ โครงการต้องถูกเลื่อนระยะเวลาการก่อสร้างออกไปอย่างไม่มีกำหนด หรือบางโครงการอาจจะถูกยกเลิกไปเลย ซึ่งผลกระทบนี้ยังไม่ส่งผลที่ชัดเจนมากนักในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2563 อันเนื่องมาจากการที่มียอดรายรับที่ได้ขายหรือถูกจองไปก่อนหน้านี้ รายรับรวมของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างของไตรมาสแรกอยู่ที่ 34,365 ล้านบาท หรือเติบโต 2% จากปี พ.ศ. 2562 ถึงแม้ยอดขายจะไม่แตกต่างจากปีก่อนมากนัก แต่ในส่วนของกำไรนั้นลดลงมากถึง 828 ล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวของกำไรถึง 74% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19 อาทิ มูลค่าตลาดได้ลดลงอย่างมากเนื่องจากราคาหุ้นในตลาดดิ่งลงอย่างรุนแรงในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม การเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผลจากการที่โครงการก่อสร้างจะถูกเลื่อนและยกเลิกไปนั้นจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ถึงไตรมาสแรกของปีหน้า
กล่าวโดยละเอียดจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างในครั้งนี้ บริษัทที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ไปรับเหมาช่วงต่อมาอีกที ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงและทำให้ต้องปิดกิจการลงไปในที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังโครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ทำให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง โครงการต้องแบกรับต้นทุนทั้งด้านค่าแรง ดอกเบี้ยเงินกู้ และขาดความสามารถที่จะชำระหนี้ในที่สุด ซึ่งโดยส่วนมากแล้วบริษัทรับเหมาก่อสร้างมักจะมีโครงสร้างของเงินทุนที่มาจากการกู้เงินเป็นส่วนใหญ่
ในประเทศสหรัฐอเมริกา นายเคน ซิมอนซัน Chief economist ของ AGC ได้ทำการสำรวจผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมธุรกิจก่อสร้างเป็นจำนวน 909 บริษัท และได้พบว่า 28% ได้ดำเนินการหยุดโครงการที่กำลังจะก่อสร้างในอนาคต 11% หยุดงานก่อสร้างที่กำลังดำเนินงานอยู่ 22% ได้รับการแจ้งว่าผู้รับเหมาย่อยจะขอเลื่อนส่งงานหรือขอยกเลิกงาน 16% ขาดวัสดุก่อสร้าง และ 8% ได้รับการรายงานผู้ติดเชื้อในคนงานและอาจจะมีการแพร่ระบาดในส่วนหน้างานก่อนสร้างได้
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง กับการบริหารจัดการวิกฤตครั้งนี้
บริษัทธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและเล็กในกลุ่มนี้ ควรวางแผนเพื่อรองรับผลกระทบและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยปัญหาหลักที่จะพบ คือการยกเลิกหรือยืดระยะเวลาในการก่อสร้างออกไป เพราะการซื้อขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีแนวโน้มลดต่ำลงทั้งในช่วงและหลังวิกฤตโควิด-19 บริษัทควรเตรียมเงินสด เพื่อรักษาสภาพคล่องภายในบริษัทและรักษาการเป็นลูกหนี้ชั้นดี ถ้ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงเปรียบเสมือนถูกคลื่นระลอกใหญ่ที่ซัดให้เศรษฐกิจของประเทศไทยต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบากอีกครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจจะหนักกว่าทุก ๆ วิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังแนวคิดของลามาร์ค ที่กล่าวไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมมีผลให้สิ่งมีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และสิ่งมีชีวิต มีพลังชีวิต (Vital force) ภายในเป็นแรงผลักดันให้เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา” ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด บริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
Reference and data
Office of the national Economic and Social Development Council
https://www.pwc.com/us/en/library/covid-19/coronavirus-impacts-engineering-construction.html
Krungsri research
SETSMART
https://www.ecmweb.com/covid-19/article/21126812/covid19s-impact-on-the-construction-industry
บทความนี้เขียนโดย
- ศาสตราจารย์ ดร.ศิริมล ตรีพงษ์กรุณา University of Western Australia
- รองศาสตราจารย์ ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส Sasin School of Management
- ศาสตราจารย์ ดร.ภรศิษฐ์ จิราภรณ์ Pennsylvania State University
- นางสาว นพรัตน์ วงศ์สินหิรัญ Sasin PhD. candidate
- นางสาว ณลินี เด่นเลิศชัยกุล Sasin Ph.D. candidate
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



