เจสสิก้า หวัง MasterChef คนใหม่ กับการฝึกฝนราว 8 ชม. ต่อวัน และวิธีการคิดเมนูที่ไม่ได้เตรียมมาจากบ้าน (สัมภาษณ์พิเศษ)
“มันเริ่มมาจากความคิดที่ว่า เป้อยากจะทำให้ป๊าม้าเห็นว่าสิ่งที่เขาลงทุนไปกับเรามันเอาไปใช้จริงได้
ไม่ใช่แค่เรียนทำอาหารมาเพื่อทำกับข้าวให้คนที่บ้านกินเฉย ๆ”
ประโยคด้านบนคือเหตุผลที่ทำให้ เป่าเป้-เจสสิก้า หวัง ตัดสินใจสมัครเข้าไปแข่งในรายการ MasterChef Thailand ซีซั่น 3
แม้ในครั้งนั้นจะพลาดโอกาสเข้ารอบชิงชนะเลิศไปเพียงแค่ 1 ก้าว แต่นั่นก็ถือเป็นใบเบิกทางที่ทำให้เป่าเป้ได้กลับมาแข่งในซีซั่น All Star อีกครั้ง ซึ่งผลลัพธ์ในการแข่งขันครั้งนี้แตกต่างกันออกไป
เพราะวันนี้เป่าเป้มาพูดคุยกับเราในฐานะแชมป์ MasterChef All Star พร้อมกับ MasterChef Trophy ที่กำลังวางอยู่ตรงหน้า และบทสนทนาที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งเป็นอะไรที่ช่างสวนทางกับภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูนุ่มนิ่มอ่อนโยนของเธอเสียเหลือเกิน
เด็กหญิงเป่าเป้ ที่ป๊าม้าส่งให้ไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง
ในวัยเด็ก เด็กหญิงเป่าเป้เป็นเหมือนไข่ในหิน เป็นลูกสาวคนเล็กที่ถูกตามใจ จนอายุ 12 ป๊าและม้าของเป่าเป้รู้สึกว่าหากจะให้ตามใจไปเรื่อย ๆ แบบนี้คงไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไร จึงตัดสินใจส่งไปเรียนที่สิงคโปร์ ไปอยู่ในแวดล้อมที่ไม่มีคนตามใจ และให้เริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตัวเอง
“จำได้เลยว่าตอนนั้นมันเป็นเรื่องยากมาก จากเด็กที่โดนสปอยล์มาโดยตลอด ไม่ค่อยมีความอดทนเท่าไร แต่ในเมื่อสภาพแวดล้อมมันบังคับ เป้ต้องสู้กับอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องภาษา การใช้ชีวิต ต้องฝึกให้อยู่ด้วยตัวเองให้ได้ เพราะไปอยู่ที่นั่นเราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว
อยู่ที่บ้านเราโดนตามใจ แต่อยู่ที่นี่เราโดนดูถูกว่าอ๋ออ…เด็กคนนี้พ่อแม่ส่งมา ดูไม่ค่อยฉลาดจะไหวหรือเปล่า เป้อยากเอาชนะคำดูถูกพวกนี้ ก็เลยพยายามมากขึ้น จากเป็นเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ เราก็ตั้งใจจนทำคะแนนอยู่อันดับทอป ๆ ได้
ตรงนี้ก็เลยน่าจะเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เราเป็นคนมีความอดทน มากกว่าคนเดิมที่เคยอยู่ที่บ้าน”
เมื่อสิ่งที่เป็น ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด
ความสำเร็จของใครหลายคนมีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งเล็ก ๆ
กับ เจสสิก้า หวัง ก็เช่นกัน สิ่งที่ทำให้เธอได้ลองก้าวเข้ามาทำอาหารไม่ใช่เพราะฝันที่ยิ่งใหญ่อะไรมากมาย แต่เป็นเพราะความสวย
“เป้รู้สึกว่าผู้หญิงทำอาหารเป็นมันดูสวยดูมีเสน่ห์บางอย่าง ก็เลยเลือกที่จะไปเรียนด้านนี้ต่อ แต่พอไปทำจริงมันไม่ได้สวยอย่างที่คิดไว้เลย เพราะทุกนิ้วคือมีพลาสเตอร์ มีแผลเต็มมือไปหมด
ความสวยความฟรุ้งฟริ้งที่เราคิดไว้ตอนแรกนี่หายไปหมดเลย เหลือแต่ความร้อน ความลำบากที่ต้องยืนนาน ๆ
จนวันหนึ่งก็มานั่งคิดกับตัวเองว่า เออ…..แปลกนะทั้งที่ลำบาก เหนื่อยก็เหนื่อย แต่เรากลับไม่เคยบ่นว่าไม่ชอบ หรือเบื่อสักคำ รู้สึกว่ามันมีแต่ความสนุก ยิ่งตอนมีคนบอกว่าอาหารที่เราทำมันอร่อยยิ่งมีความสุขเข้าไปใหญ่
ก็เลยคิดว่าสงสัยเราจะชอบการทำอาหารจริง ๆ แล้วแหละ”
ที่ตัดสินใจลงสนามจริง เพราะอยากพิสูจน์ตัวเอง
เป่าเป้เล่าให้เราฟังว่าสิ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจสมัคร MasterChef ซีซั่น 3 นั่นเป็นเพราะความคิดที่ว่า
“เป้อยากจะทำให้ป๊าม้าเห็นว่าสิ่งที่เขาลงทุนไปกับเรา มันเอาไปใช้ได้จริง ไม่ใช่แค่เรียนทำอาหารมาเพื่อทำกับข้าวให้คนที่บ้านกินเฉย ๆ
เพราะที่ผ่านมาเวลาเป้อยากทำอะไรป๊าม้าก็จะคอยสนับสนุนมาตลอด เป้คิดว่าในเมื่อพื้นฐานของป๊าม้าไม่ได้ดีเท่าเราแต่เขาสำเร็จได้
เราเองที่มีพื้นฐานที่ดีมาจากเขา ก็เลยไม่มีข้ออ้างอะไรที่จะทำได้ไม่ดีกว่าเขา เราต้องทำได้ดีกว่า เพราะทุกอย่างเราโชคดีกว่า”
สนามจริงที่โรงเรียนทำอาหารไม่เคยสอน
แม้จะร่ำเรียนตำราอาหารจากหลายสถาบันมาเยอะแค่ไหนแต่เป่าเป้ก็บอกกับเราว่าความรู้ที่เคยเรียนมา ก็ยังไม่เพียงพอกับการแข่งขันอยู่ดี
“เป้ต้องทำการบ้านเยอะมาก เพราะโจทย์ในรายการมันไม่ใช่เมนูปกติที่เชฟเขาจะทำกัน ไหนจะเรื่องเวลา เรื่องความกดดันอีก ปกติเวลาทำอาหารเราก็ทำของเราไปอย่างเดียว แต่นี่ต้องทำไปตอบคำถามกรรมการไปด้วย
รายการมีเวลาให้เราทำอาหาร 60 นาที แต่เอาเข้าจริง ๆ 60 นาทีนั้นรวมคิด รวมหยิบอุปกรณ์ รวมล้างวัตถุดิบด้วย เท่ากับว่าเหลือเวลาปรุงอาหารจริง ๆ แค่ 40 นาทีเท่านั้น ซึ่ง 40 นาทีกับหลายองค์ประกอบ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เป้จำความรู้สึกตอนซีซั่น 3 ที่ตกรอบได้ดี คือเสียดายแล้วก็เซ็งมาก เพราะอีกแค่ก้าวเดียวเราก็จะได้ใส่ชุดเชฟแล้ว
พอมีโอกาสได้กลับมา All Star ก็เลยตั้งใจฝึกซ้อมทำการบ้านอย่างเต็มที่ วันหนึ่งฝึก 7-8 ชั่วโมง อะไรที่เราไม่กล้าทำหรือไม่ชอบอย่างกบกับปลาไหลก็ต้องซื้อมาทำ ไม่ชอบอาหารอินเดียก็ต้องลองกิน ลองค้นหาว่ามันทำยังไง
หรือการฝึกทำอาหารคาวให้เป็นอาหารหวานและอาหารหวานให้เป็นอาหารคาว อะไรแบบนี้ต้องทำหมด เพราะรายการเขาคงไม่เอาโจทย์ธรรมดา ๆ มาให้เราทำแน่ ๆ
อีกวิธีคือลองคิดไปเลยว่าถ้าเราเจอวัตถุดิบหนัก ๆ ที่เข้ากับอย่างอื่นได้ยาก อย่างเช่นปลาร้า เราจะเอาไปทำอะไร ถึงเวลาจริงที่เราเจอโจทย์แบบนี้แต่วัตถุดิบไม่ได้มีเหมือนที่คิดไว้เป๊ะ ๆ อย่างน้อยเราก็มีคอนเซ็ปต์หลักที่เอาไป Adapt กับวัตถุดิบอื่น ๆ ให้ออกมาเป็นเมนูที่ดีได้
นอกจากฝึกในครัวแล้วก็ยังฝึกเลกเชอร์ด้วยเหมือนกัน เป้นั่งย้อนดูรายการตั้งแต่ซีซั่น 1 ว่ามีโจทย์อะไร ทำยังไงบ้าง แล้วเอากลับมาคิดว่าถ้าเจอแบบนี้เราจะทำได้ไหม
คือมันต้องฝึกหนักจริง ๆ เพราะการแข่งครั้งนี้มีแต่หัวกะทิทั้งนั้น แล้วโอกาสที่เราจะได้กลับมาแข่งแบบนี้มันคงไม่ได้มีอีกแล้ว”
บางครั้งความถ่อมตัวที่มากไป ก็ไม่ได้ดีเสมอไป
จากการฝึกฝนตัวเอง ด้วยการย้อนดูเทปเมื่อตอนแข่งในซีซั่น 3 นอกจากโจทย์ในการทำอาหารแล้วเป่าเป้ยังได้เรียนรู้ในแง่มุมที่ว่า บางครั้งการถ่อมตัวก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป
“อย่างหนึ่งที่เห็นชัดเลยตอนย้อนดูตัวเองในซีซั่น 3 ก็คือทำไมเราดูไม่มั่นใจเลย ซึ่งก็ย้อนกลับไปในตอนนั้น เราคิดว่าเราไม่ได้อยากมั่นใจจนกลายเป็นคนที่ดูมั่นหน้า ถ้ากรรมการถามว่าเรามั่นใจไหมแล้วเราตอบว่าใช่ แต่สุดท้ายผลไม่ได้ออกมาดี เรารู้สึกว่าแบบนั้นมันไม่โอเคเท่าไร
แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าการที่เราพยายามถ่อมตัวมันกลับทำให้เราดูเป็นคนไม่มั่นใจ เมื่อไม่มั่นใจทั้งคนดูและกรรมการก็ไม่เชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันจะออกมาดี
พอมาเป็นซีซั่น All Star ก็เลยลองเปลี่ยนตัวเอง กล้าที่จะมั่นใจขึ้น แล้วผลลัพธ์ที่ได้ภายนอกก็คือการที่คนอื่นรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเรามากขึ้น
ส่วนภายในตัวเราเองก็รู้สึกว่าได้ปลดแอกอะไรบางอย่าง และทำให้เราได้รู้จักตัวเองในอีกด้านหนึ่งด้วยเหมือนกัน”
นิยามคำว่าเชฟของ MasterChef อย่างเป่าเป้
เราตั้งคำถามไปว่านิยามของคำว่าเชฟในความหมายของเป่าเป้คืออะไร สิ่งแรกที่เป่าเป้ตอบกลับมาไม่ใช่การทำอาหารอร่อยให้ถูกปากคนกิน แต่กลับเป็นเรื่อง ‘ความรับผิดชอบ’ ต่างหาก
“การที่เราทำอะไรให้คนกินมันหมายถึงว่าเขาเอาสิ่งนั้นเข้าไปในร่างกาย ดังนั้นเราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราทำว่าจะทำให้คนกินเป็นอันตรายไหม สำหรับการเป็นเชฟ เป้ว่าเรื่องนี้สำคัญมากจริง ๆ”
ความฝันต่อไปคือยกระดับอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
เป่าเป้บอกกับเราว่าสิ่งที่เธอฝันมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่การเป็นเชฟที่มีชื่อเสียงโด่งดังอะไรมากมาย เช่นเดียวกับการเข้ามาประกวด MasterChef ไม่ใช่เพราะเหตุผลที่อยากให้ผู้คนรู้จัก แต่เป็นเพราะสิ่งที่เธอได้พูดกับเราไปเมื่อตอนต้นว่า
“เป้อยากจะทำให้ป๊าม้าเห็นว่าสิ่งที่เขาลงทุนไปกับเรา มันเอาไปใช้ได้จริง ไม่ใช่แค่เรียนทำอาหารมาเพื่อทำกับข้าวให้คนที่บ้านกินเฉย ๆ”
ส่วนความฝันที่แท้จริงของเป่าเป้ คือการเป็นเชฟที่ยกระดับอาหารไทยให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักว่ามันไม่ได้มีเพียงแค่เมนูยอดฮิตของนักท่องเที่ยวเท่านั้น
“ส่วนตัวเป้เป็นคนชอบกินอาหารไทยมาก ๆ แต่กลับรู้สึกว่าในเวทีโลกคนยังรู้จักอาหารไทยน้อยไป
อย่างอาหารจีนคนรู้จักตั้งแต่เป็ดปักกิ่งยันติ่มซำ แต่อาหารไทยที่คนทั่วโลกรู้จักมันยังวนอยู่แค่อาหารยอดฮิตของนักท่องเที่ยวอย่างต้มยำ ผัดไทย หรือแกงเขียวหวาน
ทั้ง ๆ ที่จริงบ้านเรามีของดีเยอะมาก ลงลึกไปในแต่ละท้องถิ่นก็มีอะไรที่น่าสนใจและสามารถนำมายกระดับได้เยอะไปหมด อีกอย่างคืออาหารไทยเป็นอาหารที่มีความซับซ้อนของรสชาติ เช่น เผ็ดนำ ตามด้วยเปรี้ยว จบด้วยหวานได้ในคำเดียวกัน
ก็เลยอยากจะทำร้านอาหารไทยฟิวชั่นที่รสชาติดั้งเดิมมาก ๆ แต่หน้าตาอินเตอร์และทำให้ต่างชาติเข้าถึงได้”
ที่ 1 ที่ยังอยากพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ
แม้จะได้ตำแหน่งแชมป์ MasterChef มาครอบครอง แต่ชัยชนะในครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้เป่าเป้หยุดที่จะเรียนรู้แล้วนั่งอยู่บนบัลลังก์อย่างเดียวต่อไป
สะท้อนได้จากประโยคที่เธอพูดกับเราว่า
“ เป้รู้สึกว่าเราอยู่ในอายุ (26 ปี) ที่ต้องเตือนตัวเองแล้วว่าต้องทำอะไรต่อไป อีกอย่างตอนนี้เทรนด์อาหารมีเทคนิคการทำอะไรใหม่ ๆ ให้เราได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
คือมันไม่ใช่ว่าได้แชมป์แล้วจบ เพราะถ้าไม่คอยพัฒนาตัวเอง สักวันหนึ่งเราก็จะจางหายไป
หลายคนชอบมองว่าเป้เป็นผู้หญิงหวาน ๆ แต่เปล่าเลยจริง ๆ เป้ชอบความท้าทาย ชอบเอาชนะ และก็ชอบพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ”
I
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



