ขยะไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง
แต่คือเรื่องของทุกคน
ร่มธรรม ขำนุรักษ์ หรือ หวาย ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ENVIRONMAN ออกมาแชร์มุมมองด้านปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ผ่านเวทีสัมมนา Marketeer Live Forum ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ “ขยะล้น…แล้วไทยจะหาทางออกเจอมั้ย?”
ร่มธรรมเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งเพจ Environman ว่า จุดเริ่มต้นมาจากตนเอง เราไม่อยากเห็นปัญหามลพิษ ปัญหาขยะไม่อยากให้มีอยู่ต่อไป
“คำถามที่สะท้อนมาคือ ขยะที่อยู่บนท้องถนนมันเกิดมาจากตัวเราหรือเปล่า จากนั้นเราเลยเปลี่ยนแปลงตัวเอง และอยากให้คนอื่นเข้ามาร่วมด้วย“
เพราะมองว่าเป็นเรื่องของทุกคน การหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไปและทุกคนต้องทำ และมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนอย่างเป็นระบบ
ร่มธรรมเล่าต่อว่า เราหนึ่งคน สร้างขยะวันละ 1 กิโลกรัม เราใช้เสร็จแล้วทิ้งแบบไม่แยกขยะ แม้จะนำไปฝังกลบแล้ว หลุมฝังกลบขยายไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี
และเมื่อแยกขยะไม่ถูกต้อง สิ่งเหล่านั้นจะตกค้างไปเป็นภูเขาขยะ สิ่งตกค้างในระบบนิเวศ
แต่ถ้าเราแยกขยะได้อย่างเป็นระบบ ขยะเหล่านั้นสามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้
แม้ในทุกวันนี้ผู้คนจะตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ
1. หลายส่วนรีไซเคิลไม่ได้ และไม่ถูกรีไซเคิล
2. ขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทะเล ป่า เมือง
3. ใช้เวลาย่อยสลายนาน
4. ขยะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“ช่วงโควิด-19 ขยะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขยะหน้ากากเพิ่มเป็นสองล้านชิ้นต่อวัน ขยะจากเดลิเวอรี่เพิ่มเป็นสามเท่า สิ่งที่สำคัญคือเราจะตระหนักอย่างไร เพราะในบางสถานการณ์เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้“
ร่มธรรมให้แนวทางในการแก้ปัญหาขยะอย่างเป็นระบบในแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำกลับมาใช้ใหม่ด้วยกัน 4R คือ
R แรก คือ Rethink ที่ต้องเริ่มจากตัวเราที่ต้องมาคิดกันใหม่ว่ากิจกรรม ผลิตภัณฑ์เราทำ หรือเราผลิตออกมาดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่
R ตัวที่สอง คือ Reduce ลดการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วหันมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้
R ถัดมาคือ Reuse นำกลับมาใช้ใหม่
R สุดท้ายคือ Recycle แปรสภาพ หมุนเวียนกลับไปเป็นวัสดุชิ้นใหม่
“การแยกขยะก่อนทิ้งทำให้ขยะมีมูลค่า เป็นเรื่องที่ควรจะเป็นตั้งแต่แรก เคยมีคำพูดที่ว่าไม่มีขยะบนโลกใบนี้ มีแต่ทรัพยากรที่วางไม่ถูกที่…”
ทั้งนี้การจะทำให้ปัญหาขยะในสังคมเปลี่ยนแปลงไปคือต้องร่วมกัน 3 ส่วนคือ
ตัวเอง ที่เราต้องตระหนักว่าจะแยกขยะอย่างไร
ภาคเอกชน ที่ต้องให้มาคิด หันมาใช้วัสดุที่ช่วยสิ่งแวดล้อม
และสุดท้ายคือ ภาครัฐ ที่ต้องใช้กลไกในการขับเคลื่อนทั้งระบบให้ไปด้วยกัน
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ