SCGP การเดินทางครั้งใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เพิ่งเริ่มต้น (วิเคราะห์)
SCGP “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” เป็น Case study หนึ่งของบิสซิเนสทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่น่าสนใจ อย่างมาก ๆ
จากธุรกิจกระดาษพิมพ์เขียนที่เคยเป็นดาวรุ่ง กลับถูกดิสรัปชั่นอย่างหนักในโลกดิจิทัลจนกลายเป็นดาวร่วง
แต่ก็ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง
จนวันนี้เป็นบริษัทแรกในรอบ 107 ปีของเอสซีจีที่ถูกนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ในรูปแบบของ IPO ด้วยศักยภาพในการเติบโตแบบก้าวกระโดด
และกำลังถูกจับตามอง ว่าจะสามารถเป็นหุ้นแชมเปี้ยนตัวใหม่ ในยุคนิวอีโคโนมีได้หรือไม่
ในที่สุด บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP ประกาศความพร้อมที่จะทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย อีกต่อไป เพราะ ในวันนี้ SCGP ถูกบ่มจนได้ที่
ตามไปดูการเติบโตหลังการเปลี่ยนแปลงที่มีมาแต่ละครั้ง และมองภาพต่อในอนาคตหลังการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ขององค์กรแห่งนี้กัน
45 ปีของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
จากบริษัทเยื่อกระดาษสยามในปี 2518 ที่ผลิตผลิตภัณฑ์กล่องลูกฟูก และเยื่อกระดาษเป็นหลัก ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งแรกโดยเข้าสู่ธุรกิจกระดาษพิมพ์เขียนในปี 2526
เมื่อยุคสิ่งพิมพ์เบิกบานในปี 2550 ก็เปลี่ยนบิสซิเนสโมเดลอีกครั้งเป็น บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด เพื่อสะท้อนให้เห็นธุรกิจหลักชัดเจนขึ้น โดยมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ของกระดาษเกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลานั้น ภายใต้คำว่า “ ไอเดียกรีน” และกลายเป็น 1 ในธุรกิจหลักที่สำคัญของเอสซีจี
ในวันที่เอสซีจี เปเปอร์ กำลังภูมิใจกับตำแหน่งผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษที่ครบวงจรรายใหญ่ของอาเซียน โลกดิจิทัลก็เข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้คน ความต้องการใช้กระดาษพิมพ์เขียนได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจนี้ถูกดิสรัปชั่นก่อนกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
การพลิกแบรนด์ครั้งสำคัญเลยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558
จาก “เอสซีจี เปเปอร์” กลายเป็น “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” ที่ไม่ได้มีแต่กระดาษอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มีผลิตภัณฑ์มากมายตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่หลากหลายถึง 1.2 แสนรูปแบบ (SKUs)
มีการปรับโมเดลธุรกิจจากอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเป็น Packaging Solutions Provider โดยมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งแบบ B2B, B2B2C และ B2C
พร้อม ๆ กับการขยายบิสซิเนสโมเดลนี้ไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และการตั้งเป้าหมายเป็น “ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน”
ปัจจุบัน SCGP มีส่วนแบ่งการขายในอาเซียน 36% (จากข้อมูลของฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ส.ค. 63 )
ได้เวลา SCGP ติดปีกบินหนีวิกฤตโควิด
วันนี้ ในขณะที่ธุรกิจเคมิคอลล์ที่เคยทำกำไรและรายได้สูงสุดให้กับเอสซีจีมานาน อ่อนแอลง และอยู่ในช่วงขาลงสุด ๆ เช่นเดียวกับธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่กำลังเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจเพราะโควิด-19
SCGP กลับรุ่งโรจน์สุดโต่งเหมือนกัน จากการเติบโตของกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหญ่ในอาเซียน
การระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจจะเป็นปัญหาในหลายธุรกิจกลับเป็นปัจจัยบวกให้กับบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซ ฟู้ดเดลิเวอรี่ อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัย
การเข้าไปเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ คือ Big Story ของการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุด ในวันที่ SCGP มีความพร้อมที่สุด
นอกจากการระดมทุนเพื่อเอาเงินไปขยายธุรกิจให้เติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก
การตัดสินใจครั้งนี้คือวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่ต้องการจะออกจาก Crisis ในขณะที่องค์กรกำลังแข็งแรงที่สุดด้วย
ปัจจุบัน SCGP มี 40 โรงงานใน 5 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยในแต่ละประเทศกำลังขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2563-2564 นี้ มีค่าลงทุนรวมใน 4 ประเทศ ไม่รวมมาเลเซีย ถึง 8,200 ล้านบาท
ลงทุนสูงที่สุดถึง 5,388 ล้านบาท คือเรื่องของกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศฟิลิปปินส์ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2564
ทุกประเทศของการปักหมุดลงทุน ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของบริษัทแม่ที่มีอายุกว่าศตวรรษ
รายได้ ของ SCGP มาจากไหน
รายได้จากการขายปี 2562 ประมาณ 89,000 ล้านบาท
ส่วนรายได้ครึ่งปีแรก 2563 ของ SCGP เท่ากับ 45,903 ล้านบาท เติบโต 20% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,198 ล้านบาท โต 45.6%
เป็นรายได้จากต่างประเทศ 48% ในประเทศ 52% การเติบโตถูกยืนยันด้วยตัวเลขตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2562 SCGPมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 6.1% รายได้จากต่างประเทศเติบโตเฉลี่ย 12% กำไรสุทธิเติบโต 15%
รายได้ มาจาก 3 ธุรกิจคือ 1. กระดาษบรรจุภัณฑ์ (สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร) 51% 2. ผลิตภัณฑ์ขั้นปลายน้ำ (บรรจุภัณฑ์ครบวงจร) 33% และธุรกิจเยื่อและกระดาษ 16%
ซึ่งรายได้หลัก 69% หรือ 38,434 ล้านบาท มาจากสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ซึ่งแบ่งออกเป็นอาหารและเครื่องดื่ม 42% สินค้าประเภท FMCG 14% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 13% ส่วนธุรกิจอื่น ๆ มี 31% เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อุปกรณ์ก่อสร้าง
สำหรับกลยุทธ์ที่SCGPได้วางไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง ก็คือการมีสินค้าที่หลากหลาย มีลูกค้ากระจายตัวหลายพันล้านคนในทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งขยายไปในหลายประเทศในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
ถึงแม้ผลประกอบการในช่วงวิกฤตโควิดจะเป็นที่น่าพึงพอใจ และการมีบริษัทแม่เป็น “SCG” ทำให้SCGPให้ความมั่นใจแก่ผู้คนมีมากขึ้น
แต่จะมีความผันผวนอะไรที่คาดไม่ถึงหรือเปล่าในอนาคต เป็นคำถามที่ยากที่จะฟันธงแบบ 100%
ล่าสุด SCGPยังเป็นหุ้น IPO ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมีกลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) จำนวน 18 ราย ได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement รวมทั้งสิ้น 676.53 ล้านหุ้นหรือประมาณ 60% ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนสถาบัน และสะท้อนความเชื่อมั่นในศักยภาพของSCGP
อย่าลืม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง
SCGPมีอายุ 45 ปี เป็นเสมือนชายวัยกลางคนที่หน้าตาดี มาจากครอบครัวที่รวย ฐานะการงานดี แต่เราจะพึ่งพาเขาได้หรือเปล่าในอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันอย่างรอบคอบ
ก็ต้องรอดูกันว่า หลังเข้าตลาดฯ วันแรก SCGPจะสร้างรอยยิ้มและเป็นฮีโร่ตัวใหม่ให้กับนักลงทุนได้หรือไม่
ไทม์ไลน์ การเสนอขายหุ้น IPO ของ SCGP
ผู้ถือหุ้นสามัญของSCGPที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร, ผู้ถือหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรหุ้น, ผู้มีอุปการคุณของSCGPสามารถจองซื้อได้ในวันที่ 28 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2563 (เฉพาะวันทำการ)
ผู้จองซื้อรายย่อย สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 1, 2 และ 5 ตุลาคม 2563
บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 5-7 ตุลาคม 2563
โดยจะต้องจองซื้อที่ราคา 35.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาเสนอขายสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น (“ราคาจองซื้อ”) อย่างไรก็ตาม หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาจองซื้อ จะมีการคืนเงินค่าส่วนต่างแก่ผู้จองซื้อทุกรายหลังสิ้นสุดการเสนอขาย
ภายในเดือนตุลาคม 2563 เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



