ทันทีที่ ‘การ์ดตก’ ขาขึ้นของยักษ์ใหญ่โรงงานถุงมือยางมาเลเซียในวิกฤตโควิดก็ถึงคราวสะดุด โดยรัฐบาลมาเลเซียตรวจพบพนักงาน 2,453 คนของ Top Glove โรงงานผลิตถุงมือยางรายใหญ่ ติดเชื้อโควิด นำมาสู่การสั่งกักตัวพนักงานกลุ่มนี้ และปิดโรงงานของ Top Glove 28 แห่ง คิดเป็นเกินครึ่งหนึ่งของโรงงานทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศ

ความต้องการถุงมือยางทั้งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และคนทั่วไปที่หันมาใส่ใจสุขภาพอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางของมาเลเซียที่เป็น “เบอร์ใหญ่สุด” ในวงการอยู่แล้ว ด้วยส่วนแบ่ง 67% ของตลาดทั้งหมดมีโอกาสโตได้อีก 

ถุงมือยางมาเลย์ 1

ด้านสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย (MARGMA) คาดว่ายอดส่งออกปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 157,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2019

ขาขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิดดังกล่าวทำให้มูลค่าหุ้นของ 4 ผู้ผลิตถุงมือรายใหญ่ของมาเลเซีย คือ Top Glove, Supermax, Hertaleta และ Kossan โตขึ้นอย่างมาก แน่นอนว่าส่งผลสืบเนื่องให้ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของทั้ง 4 บริษัทกลายเป็นมหาเศรษฐี เช่นเดียวกับผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทยา หน้ากากอนามัย และเครื่องช่วยหายใจ

Top Glove

ทว่าล่าสุดถึงคราวสะดุด โดยรัฐบาลมาเลเซียสั่งปิดโรงงาน 28 แห่งจากทั้งหมด 41 แห่งของ Top Glove หลังพบพนักงานในโรงงาน 2,453 คนติดเชื้อโควิด พร้อมมาตรการต่อเนื่อง สั่งกักตัวพนักงานกลุ่มนี้ และสั่งให้เพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองต่าง ๆ ในโรงงานที่ยังเปิดอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นอีก

การสั่งปิดโรงงานดังกล่าวถือเป็นข่าวร้ายของ Top Glove เพราะต้องหยุดผลิต 2-4 สัปดาห์ พาให้อาจผลิตไม่ทันกำหนดส่ง จนลูกค้าย้ายไปสั่งจากคู่แข่งอีก 3 บริษัทที่เหลือ

และอาจทำให้ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (เป็นแห่งที่ 3 ถัดจากมาเลเซียและสิงคโปร์) ที่วางแผนไว้ในปีนี้ต้องเลื่อนออกไป

Lim Wee Chai

ข่าวโควิดระบาดในโรงงาน Top Glove ยังทำให้ราคาหุ้น Top Glove ตก 7.5% และมูลค่าความมั่งคั่งของ Lim Wee Chai ผู้ก่อตั้งที่ควบตำแหน่ง CEO ด้วย หายไปถึง 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,222 ล้านบาท)

 

จากต้นยางบราซิลสู่ขาขึ้นทุกครั้งท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด

มาเลเซีย

วิกฤตโควิดไม่ใช่สถานการณ์โรคระบาดครั้งแรกที่ทำให้อุตสาหกรรมโรงงานผลิตถุงมือยางมาเลเซียเติบโต และต้นธารของอุตสาหกรรมนี้ยังสืบย้อนไปได้ไกลถึง 150 ปี

เมื่อปี 1870 อังกฤษที่ขณะนั้นยังมีฐานะเป็นเจ้าอาณานิคม ได้นำต้นยางพาราบราซิลเข้ามาปลูกในมาเลเซีย เพราะเห็นว่าสภาพอากาศร้อนชื้นจะทำให้เติบโตได้ดี และต่อไปน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำเงิน

rubber มาเลเซีย

เวลาถัดมาพืชนำเข้าจากยุคอาณานิคมนี้ก็ปลูกกันเป็นล่ำเป็นสันในมาเลเซีย และเป็นต้นธารของอุตสาหกรรมอีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือถุงมือยางนั่นเอง

ถุงมือยางมาเลย์ 1 AIDS

พอถึงยุค 80 มาเลเซียก็เริ่มมีโรงงานผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นตามความต้องการของแวดวงการแพทย์จากการเริ่มระบาดของโรคเอดส์  

อุตสาหกรรมโรงงานถุงมือยางของมาเลเซียยังโตต่อเนื่อง แต่จะโตเพิ่มหลายเท่าทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์โรคระบาด โดยก่อนหน้านี้คือ SARS และ MERS สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มาเลเซียกลายเป็นทั้งศูนย์กลางและประเทศผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่

แต่ชาวมาเลเซียเองกลับเลี่ยงการเป็นหนุ่ม-สาวโรงงานถุงมือยาง เพราะเห็นว่าสิ่งแวดล้อมการทำงานไม่ดี และชั่วโมงการทำงานยาวนานเกินไป

คนงานต่างชาติ

เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานแต่ธุรกิจที่กำลังขยายตัวจึงนำมาสู่การนำเข้าแรงงานต่างชาติ จากเมียนมา เนปาล และบังกลาเทศ โดยจากจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมโรงงานผลิตถุงมือยางทั้งหมด 71,800 คน มีถึง 43,800 คนที่เป็นต่างชาติ

สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย ปัญหาหนี้สินของแรงงานต่างชาติที่ถูกเอาเปรียบจากนายหน้า การทำงานภายใต้สภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน

โรงงานถุงมือมาเล 2

และแรงงานต่างชาติยังต้องอยู่อย่างเบียดเสียดในห้องพัก จนรัฐบาลสหรัฐฯ เคยสั่งห้ามนำเข้าถุงมือยาง Made in Malaysia มาแล้ว

โรงงานถุงมือมาเล 3

มาปีนี้ที่วิกฤตโควิดกระตุ้นให้อุตสาหกรรมโรงงานถุงมือยางมาเลเซียโตมากอีกครั้ง โรงงานในอุตสาหกรรมนี้จึงถูกจับตามองจากทั่วโลกอีก ทั้งในเรื่องการดูแลพนักงานของโรงงานใหญ่ทั้ง 4 บริษัท และการสกัดการระบาด ท่ามกลางการเร่งผลิตให้ทันความต้องการ/bbc, cnn, bloomberg, wikipedia, eic

FYI-4

Glove_info ถึงมือยาวมาเลเซีย



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน