ตลาดบะหมี่กึ่งสําเร็จรูป

ตลาดบะหมี่กึ่งสําเร็จรูป

ยังคงอยู่ในภาวะ “หายใจไม่ทั่วท้อง” สำหรับ “ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” หลังจากที่ในปี 2015 มีอัตราเติบโตเพียง 0.4% น้อยที่สุดในรอบ 44% แม้จะในปีถัดมาจะถูกประเมินว่า จะกลับมาโตจากภาวะเศรฐษกิจที่ (ทำท่า) จะดีขึ้น หากสุดท้ายแล้วก็ทำได้เพียง “เสมอตัว” หรือหดตัวลงเล็กด้วยด้วยซ้ำ จนมีมูลค่าอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท

เหตุผลของการ “เสมอตัว”
ยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “ไวไว” กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นตามที่ประเมินไว้ มีทั้งทางเลือกของผู้บริโภคที่เปลี่ยนและหลากหลายมากขึ้น ใช่ว่ามีรายได้น้อยแล้วจะกินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเดียว แม้วันนี้กลุ่มรากหญ้าจะเป็นฐานลูกค้าหลัก รวมถึงกลุ่มวัยทำงานที่กินเป็นอาหารว่างก็ตาม
หากอันตราบริโภคกลับคงค้างอยู่ที่ 40 ซอง/คน/ปี ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทางออกของผู้เล่นในตลาดจึงต้องหวังพึ่งการออกสินค้าใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งวิธีนี้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากและระยะเวลาค่อนข้างนาน กว่าที่รสชาติใหม่จะติดตลาด หรือเติบโตไปกับช่องทางขายในโมเดิร์นเทรดที่ขยายสาขาทุกปี หากยอดขายไม่ได้เพิ่มมากนัก เพราะในช่องทางเดิมอย่างเทรดดิชั่นนอลเทรดหรือร้านโชห่วยในต่างจังหวัด ก็มีปิดไปทุกปีเช่นเดียวกัน
“แนวทางของไวไวนั้นจะไม่เน้นการออกรสชาติใหม่ๆ เนื่องจากต้องใช้เงินและเวลา อีกทั้งต้องไปแข่งกับเจ้าตลาดด้วย หากไวไวนั้นจะโฟกัสไปที่สินค้าเดิมของเราเอง ผ่านการออกบรรจุภัณฑ์ใหม่โดยเฉพาะรูปแบบถ้วย ที่ยังมีสัดส่วนเพียง 15% เท่านั้น น้อยกว่าภาพรวมของตลาดที่มีถึง 25% โดยไวไวมีเป้าหมายภายใน 2 ปีจะเพิ่มเป็น 20%”

แบบถ้วยให้ “กำไร” ที่ดีกว่า
เพราะไม่ต้องการแข่งตรงๆกับเจ้าตลาด บวกกับเป้าหมายที่ต้องการขยายสัดส่วนของถ้วย จึงเป็นที่มาของการกลับไปหาสินค้ากลุ่มเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ไวไวเห็นว่า ตลาดมูลค่า 1,500 – 2,000 ล้านบาท เป็นตลาดที่มีคู่แข่งน้อย และไวไวเองก็แข็งเกร่งเพราะทำตลาดในรูปแบบซองมากกว่า 20 ปี
โดยนำรสปรุงรสและรสหมูสับ มาทำแบบถ้วยขนาด 60 กรัม ราคา 15 บาท ตั้งเป้าเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยทำงานอายุ 25-40 ปี ซึ่งนิยมความสะดวกสบาย วางขายมาได้ 3เดือนแล้ว ตั้งเป้ายอดขายจนถึงสิ้นปีไว้ที่ 40 ล้านบาท
“เหตุผลหลักที่ไวไวต้องขยับมาออกแบบถ้วย คือ 1.แบบถ้วยทำมาร์จิ้นได้ดีกว่าแบบซอง และ 2.เป็นการขยายพอร์ตสินค้าให้กับไวไว นอกจากนี้การทำแบบถ้วยจะช่วยให้ไวไว ขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังคอนวีเนียนสโตร์และโมเดิร์นเทรดได้ เนื่องจากแบบซองจะไม่ได้ถูกจำหน่ายในคอนวีเนียนสโตร์ทุกรสชาติ ต่างจากแบบถ้วยที่จะถูกวางขายทุกรสชาติในช่วงแรกที่ออกวางขาย แต่จะอยู่ได้นานขนาดไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับผลการตอบรับ”

ทำเท่าที่ “จำเป็น”
สำหรับการออกสินค้าใหม่นี้ได้ใช้งบการตลาด 5 ล้านบาท จากงบการตลาดรวมทั้งหมด 300 ล้านบาท โดยเน้นผ่านสื่อออนไลน์เพื่อพุ่งเข้าหากลุ่มเป้าหมายโดยตรง ส่วน TVC ยังไม่จำเป็นต้องทำเพราะตลาดที่เล็กหากทำแล้วจะไม่คุ้ม และสำหรับในภาพรวมของแบรนด์นั้น ยังคงเน้นกลยุทธ์ที่ยังจำเป้นต้องทำ ทั้งโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ควบคู่ไปกับการออก TVC ส่วนพรีเซนเตอร์นั้นคงหยุดไว้ก่อน
ปัจจุบันไวไวมีสินค้าแบบซอง 21 SKU แบ่งเป็นไวไว 13 รส, ควิก 4 รสและซือดะ 4รส ส่วนแบบถ้วย, 14 SKU แบ่งเป็นไวไว 13 รส, ควิก 4 รสและซือดะ 4รส ปีที่ผ่านมีรายได้ประมาณ 3,750 ล้านบาท (ไม่รวมรับจ้างผลิตและส่งออก) แบ่งเป็น ไวไว 55%, ควิก 20%, เส้นหมี่ (ปรุงสำเร็จและอบแห้ง) 15% และ ซือะกับอื่นๆ 10% ปีนี้ตั้งเป้าโต 3-5%

ตลาดบะหมี่กึ่งสําเร็จรูป

หากมองลึกเข้าไปในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทำท่าว่าจะ “ซบเซา” แต่จริงๆแล้วยังมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สามารถโตสวนกระแสฟาดรายได้ไปหลายร้อยล้านเหมือนกัน นั้นก็คือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลี” ที่แม้จะมีราคาสูงถึงซองละ 40บาท หากได้รับอานิสงส์จากกระแสโซเซียลมีเดีย ที่กลุ่มผู้บริโภคซื้อมาทดลองด้วยรสชาติที่จัดจ้าน และแชร์ต่อๆกันไปจนเกิดกระแสซื้อตามๆกัน

ซึ่งไวไวเองก็เห็นกระแสที่เกิดขึ้น และเตรียมที่จะออกสินค้ามาจับเทรนด์เช่นเดียวกัน โดยคาดว่า “รสชาติ” จะเป้นสินค้าแรกที่จะคลอดออกมา เพราะหากจะทำให้เส้นให้ออกมาเหมือนของเกาหลี จะต้องลงทุนเครื่องจักรใหม่และใช้เวลาพัฒนาอีกด้วย


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online