ขณะที่เวียดนามกำลังรุ่งในฐานะศูนย์กลางโรงงานของ ASEAN “พี่ใหญ่” ร่วมภูมิภาคก็รุ่งไม่แพ้กันในเรื่องธุรกิจออนไลน์ โดยอินโดนีเซียกำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ต่างชาติ ตั้งแต่ Alibaba ไปจนถึง Google ท่ามกลางคาดการณ์ว่าอีก 5 ปีข้างหน้ามูลค่าตลาดธุรกิจออนไลน์ของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นสูงเป็น 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.7 ล้านล้านบาท)
ด้วยขนาดพื้นที่และประชากรมากสุด อินโดนีเซียจึงเป็นตลาดใหญ่สุดใน ASEAN ที่ไม่มีบริษัทไหนสามารถมองข้ามได้ โดยมาในปัจจุบันอินโดนีเซียก็ยิ่งทวีความสำคัญ เพราะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 171 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก พร้อมอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรสูงถึง 61%
ตามรายงานที่ Google ทำร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน Bain & Company และกองทุน Temasek ระบุว่าเฉพาะครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติทั้งจากจีนและสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในธุรกิจออนไลน์ของอินโดนีเซียมากถึง 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 84,800 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 55% จากครึ่งแรกปี 2019
ขณะที่รายงานจาก Cento Ventures บริษัทร่วมลงทุน (VC) ของสิงคโปร์รายงานไปทิศทางเดียวกันว่า จากข้อตกลงทางธุรกิจ 300 ครั้งในครึ่งแรกของ ASEAN ปีนี้ 74% เป็นการลงทุนจากบริษัทหรือกลุ่มต่างชาติสู่บริษัทใหญ่ ๆ ในอินโดนีเซีย เช่น Gojek
บรรดาบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ กลายเป็น “เจ้าบุญทุ่ม” เพื่อหวังชิงส่วนแบ่งตลาดธุรกิจออนไลน์ โดยมีการประเมินว่าเงินลงทุนที่ Google, Microsoft Facebook และ PayPal เทลงมาในอินโดนีเซียในปีนี้มีมูลค่ารวมสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33,000 ล้านบาท)
ด้าน Amazon กำลังจะตามบริษัทร่วมชาติไปติด ๆ ประกาศเตรียมลงทุน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 60,600 ล้านบาท) สร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนระบบ Cloud และ E-commerce ที่ครอบคลุมทั้ง ASEAN
ทว่าครั้งนี้บริษัทสหรัฐฯ ต้องเดินเกมธุรกิจอย่างระมัดระวัง และเน้นลงทุนในบริษัทอินโดนีเซียที่กำลังเติบโตอยู่แล้ว แทนการลงมาลุยเองเต็มตัวหรือเปิดตัวในฐานะคู่แข่ง เพราะ ASEAN ถือเป็นตลาดที่ “เจ้าถิ่น” แข็งแกร่ง ยืนยันได้จากกรณีของ Uber ที่รุก ASEAN ผ่านตลาดสิงคโปร์เมื่อปี 2013 แต่ 5 ปีถัดมาก็ต้องถอนตัว ขายกิจการให้ Grab ไป
ฝ่ายบริษัทเทคโนโลยีจีนก็ไม่น้อยหน้าคู่แข่งจากสหรัฐฯ โดย Alibaba รุกตลาดอินโดนีเซียผ่านการลงทุนใน Tokopedia ส่วน Tencent เข้ามาผ่าน Gojek ขณะที่ Shunwei Capital บริษัทลงทุนที่ Lei Jun-CEO ร่วมก่อตั้ง ซึ่งมีเงินอยู่ในมือราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 90,800 ล้านบาท) ก็เตรียมลงทุนครั้งใหญ่ในอินโดนีเซีย
ในกรณีของบริษัทเทคโนโลยีจีน ยังมีปัจจัยเร่งอีกอย่างที่ทำให้การลงทุนในอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นอีกจากนี้ โดยเงินลงทุนก้อนต่อ ๆ ไปสำหรับอินโดนีเซียในอนาคตอันใกล้ จะเปลี่ยนแผน ย้ายจากอินเดียที่ได้รับผลกระทบจากกรณีพิพาทบริเวณพรมแดนระหว่างจีน-อินเดีย เมื่อกลางปี โดยล่าสุดอินเดียสั่งแบนแอปจีนไปแล้ว 220 แอป จนกลายเป็นสงครามการค้า
ทั้งนี้เป็นที่คาดว่าการขับเคี่ยวระหว่างบริษัทจีนกับสหรัฐฯ ในตลาดธุรกิจออนไลน์อินโดนีเซียจะดำเนินไปอีกอย่างน้อย 10 ปี และปัจจุบันฝ่ายบริษัทจีนใช้ความเป็นบริษัทเอเชียด้วยกัน มัดใจบริษัทอินโดนีเซียได้มากกว่า หลักฐานคือ เงินก้อนใหญ่ ๆ ที่ 3 บริษัทเบอร์ต้น ๆ ของอินโดนีเซีย อย่าง Gojek, Tokopedia และ Bukalapak ได้นั้นมาจาก Alibaba และ Tencent/ft, cnn, scmp
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



