866.51 ล้านบาท คือตัวเลขขาดทุนสะสมของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2563

ส่วนไตรมาส 3/63 ขาดทุน 125.88 ล้านบาท

พร้อมกับยอดขายตั๋วที่หายไปประมาณ 60% จากปีที่ผ่านมา

การขาดทุนดังกล่าว  วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) บอกกับเราในงานแถลงข่าวประจำปีเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ว่านับเป็นวิกฤตครั้งที่ 3 ของเมเจอร์ฯ นับจากวันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

และวิกฤตจากโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้เมเจอร์ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายตั๋วและป็อปคอร์นหน้าโรง

ที่พร้อมขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์ 3T ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักสร้างการเติบโตให้กับเมเจอร์ในปี 2564

กลยุทธ์ 3T ที่ว่านี้ประกอบด้วย

 

T = Trading ธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการรุกสู้ในกระบวนท่าใหม่ๆ

โควิด-19 ที่ผ่านมา กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เมเจอร์ปรับตัวเพื่อการเติบโต V Shape ในอนาคต และหนึ่งในการปรับตัวนั้นคือ การขยายขาธุรกิจ สู่ ธุรกิจ Trading ซึ่งเป็นธุรกิจที่ วิชา ยอมรับว่าไม่ถนัดนัก

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ Trading เมเจอร์มาจากการทดลอง “การขายป็อปคอร์น” จากหน้าโรงสู่หน้าบ้านผู้บริโภค ผ่านวิธีการและ Product Line ใหม่ๆ

วิชาเล่าว่าการเริ่มธุรกิจป็อปคอร์นนอกโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ มาจากการทดลองนำป็อปคอร์นที่จำหน่ายหน้าโรง มาขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ให้กับลูกค้าแอปฟู้ดเดลิเวอรี่ และค้นพบว่าเป็นช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง

แต่ปัญหาของการนำป็อปคอร์นหน้าตู้มาเสิร์ฟถึงบ้านคือ ป็อปคอร์น ที่คั่วจากหน้าโรงเป็นป็อปคอร์นในรูปแบบร้อน ที่ต้องทานภายใน 2 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ความกรอบและรสชาติที่เหมือนกับซื้อใหม่หน้าตู้

เมเจอร์จึงขยายรูปแบบป็อปคอร์นใน Product Line ใหม่ๆ จากป็อปคอร์นร้อนหน้าตู้ สู่ป็อปคอร์นเย็นที่บรรจุถุงและบรรจุกระป๋องที่มีอายุยาวนานขึ้น และป็อปคอร์นที่ให้ลูกค้านำไปใส่ไมโครเวฟป็อปทานเองที่บ้าน ด้วยการจ้างพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตป็อปคอร์นผลิตตามรสชาติที่เป็นสูตรของเมเจอร์ออกจำหน่าย

โดยป็อปคอร์นเย็นและป็อปคอร์นที่นำมาป็อปเองเมเจอร์เริ่มวางขายผ่านช่องทางโรงภาพยนตร์เมเจอร์​ก่อน และวิชาบอกว่ากำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเข้าช่องทางการขายอื่นๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต

การขยาย Product Line นี้ เท่ากับว่าเมเจอร์ สามารถขยายฐานลูกค้าในกลุ่มที่ไม่ต้องการทานป็อปคอร์นที่ซื้อได้ และลูกค้ากลุ่มนี้เป็นฐานลูกค้าที่แมสและกว้างกว่าลูกค้าป็อปคอร์นร้อนหน้าตู้ และกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผู้บริหารเมเจอร์คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเมเจอร์ในปี 2564 ได้มากถึง 200 ล้านบาท หรือ 10% ของยอดจำหน่ายป็อปคอร์นหน้าตู้ได้ไม่ยากนัก

ส่วนป็อปคอร์นเดลิเวอรี่ เมเจอร์เชื่อว่าจะสามารถทำรายได้ได้มากถึง 100 ล้านบาทเช่นกัน

 

T = Thai Movie ที่สร้างรายได้มากกว่าแค่ขายตั๋ว

วิชา ยอมรับว่านอกจากโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องพักเป็นการชั่วคราวเป็นเวลากว่าสองเดือนตามมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ สกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ของภาครัฐ และการจัดที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่อกลับมาเปิดให้บริการ

แต่เมื่อโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งยังพบว่า “ไม่มีหนังให้ฉาย” โดยเฉพาะหนังฮอลลีวูด

เมื่อโรงภาพยนตร์ต้องเปิดแต่ไม่มีหนังฉาย วิชา จึงหาทางออกด้วยการสู้ด้วย “หนังไทย” โดยเฉพาะหนังไทยที่เมเจอร์ร่วมทุนกับค่ายหนังในการผลิตหนังเรื่องต่างๆ

และหลังจากที่วิชา นำหนังไทยเข้าสู้ พบว่า หนังไทยสามารถสร้างรายได้กลับมาอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดที่นิยมดูหนังไทยเป็นหลัก

อย่างเช่น เรื่อง “อีเรียมซิ่ง” ที่ ทำรายได้ไปกว่า 200 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยหนังเรื่องนี้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ร่วมกับ เอ็ม พิคเจอร์ส, เวิร์คพ้อยท์ และ รฤก โปรดักชั่น

รวมถึง “มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ” หนังที่เจาะกลุ่มคนดูภาคใต้ที่สามารถทำรายได้มากถึง 43 ล้านบาท โดยหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ร่วมกับ เอ็ม พิคเจอร์ส และพาร์ตเนอร์อื่นๆ เช่นกัน

และการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ผลิตหนังไทยออกมาฉาย ยังทำให้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีรายได้มาอีกขาหนึ่งคือ Revenue sharing ในฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์

โดยบิซิเนส โมเดลในธุรกิจโรงภาพยนตร์โดยสังเขป จะแบ่งรายได้จากการจำหน่ายตั๋วออกเป็น 50:50 โดย 50% จะเป็นรายได้ของโรงภาพยนตร์ และอีก 50% จะเป็นรายได้ที่แบ่งให้กับผู้ผลิตหรือเจ้าของคอนเทนต์หนัง เช่น ตั๋วหนัง 100 บาท จะแบ่งให้โรงหนังเมเจอร์ 50 บาท และเจ้าของหนังอีก 50 บาท

เท่ากับว่าเมื่อโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ฉายหนังไทยที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ร่วมผลิต จะทำให้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป สามารถสร้างรายได้ที่มากขึ้น

เพราะเงิน 100 บาท ที่ผู้ชมหนังจ่ายค่าตั๋ว เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จะมีรายได้จาก

การเป็นโรงภาพยนตร์ 50 บาท

และ รายได้อีกส่วนหนึ่งมาจากผู้ผลิตหรือเจ้าของคอนเทนต์หนัง

โดยรายได้ในกลุ่มนี้จะแบ่งตามสัดส่วนการลงทุนตามข้อตกลงของการผลิตหนังในแต่ละเรื่อง เช่น ถ้าเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ลงทุนผลิตหนังในสัดส่วน 50% จะมีรายได้มาจากส่วนนี้ 25 บาท เป็นต้น

นอกจากรายได้ตามที่กล่าวมา วิชายังมองว่า การเป็นเจ้าของคอนเทนต์หนัง นอกเหนือจากรายได้ที่มาจากการฉายหนังในโรงภาพยนตร์แล้ว

ยังสามารถสร้างรายได้ในการเข้าไปเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ของแพลตฟอร์ม Streaming ต่างๆ

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จึงต่อยอดรายได้อีกส่วนหนึ่งมาจากนำหนังไทยที่ออกจากโรงภาพยนตร์ 3 เดือน เข้ามาอยู่ในระบบ Streaming อีกช่องทางหนึ่ง

เพราะการเข้าไปอยู่แพลตฟอร์ม Streaming นอกจากเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ที่น่าสนใจกว่าการนำหนังจัดทำในรูปแบบแผ่นจำหน่ายเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วโลกและเป็นการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่ยังมีคนเปิดขึ้นมาดู

เมื่อหนังไทยสามารถตอบโจทย์รายได้ในหลายด้าน วิชา จึงแพลนว่าในปี 2564 บริษัทผลิตหนังในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ทั้งหมด 6 ค่าย ได้แก่ M PICTURE, M๓๙, Transformation Film, CJ Major, TAI Major และรฤก โปรดักชั่นจะผลิตหนังไทยออกมาป้อนตลาดประมาณ 20 เรื่อง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่เคยผลิตปีละ 10-12 เรื่อง

 

T = Technology สู่ Super App

ในปี 2564 เมเจอร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเมเจอร์สู่ Super App เช่นการนำ ระบบ AI&ML หรือ Movie Recommendation Engine ให้มีความฉลาดขึ้นเพื่อเข้ามาสื่อสารถึงลูกค้าผ่านแอปพลิเคชั่นเมเจอร์ นำเสนอโปรโมชั่น ถึงลูกค้าในรูปแบบ Personalized ที่เป็น One to One Offering ที่เฉพาะเจาะจง

การที่เมเจอร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากแนวทางในการขับเคลื่อนตลาดผลักดันลูกค้าจาก Online สู่ On Ground อย่างต่อเนื่อง เพราะความท้าทายที่สำคัญที่สุดของโรงภาพยนตร์คือ ทำอย่างไรที่จะดึงให้ลูกค้าที่โรงภาพยนตร์เพื่อซื้อตั๋วดูอย่างต่อเนื่องได้

การขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีผลักดันแอปพลิเคชั่น Super App เป็นหนึ่งในการต่อยอดนโยบายเมเจอร์ 5.0 นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในหลากหลายรูปแบบ

และนอกจากกลยุทธ์ 3T เมเจอร์ยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 8 จังหวัด 24 โรง และสาขาในกัมพูชา 2 สาขา 6 โรง เพื่อเข้าถึงผู้ชมมากขึ้นเพื่อสร้างการตอบรับการเข้าฉายของหนังไทยและเทศในปีหน้าอีกทางหนึ่ง

 

สำหรับธุรกิจโรงภาพยนตร์ปีหน้าเป็นอย่างไร คงตอบได้ยาก แต่สำหรับเมเจอร์แล้ว วิชา ได้บอกว่า ต้อง Thank You โควิด-19 ที่ทำให้เมเจอร์หันมาทำสิ่งใหม่ๆ ที่จะสร้างความแกร่งยิ่งขึ้น

 

Marketeer FYI

เมเจอร์ขายตั๋วได้ปีละเท่าไร

2560     29.5 ล้านใบ

2561     33 ล้านใบ

2562     36.5 ล้านใบ

2563     ลดลง 60% จากปี 2562

 

ปี 2563 ปีแห่งหนังไทยอุ้มรายได้โรงภาพยนตร์ ส่วนปี 2564 หนังไทยจะเป็นอย่างไร

ในปี 2564 วิชาคาดการณ์ว่าจะมีหนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์มากถึง 260 เรื่อง แบ่งเป็นหนังฮอลลีวูด 210 เรื่อง และหนังไทย 50 เรื่อง

แม้หนังเข้าฉายจะมีจำนวนสูงแต่ก็ยังเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับหนังไทย เพราะวิชามองว่าปัจจุบันโรงหนังเมเจอร์มีทั้งสิ้น 172 สาขา 817 โรง 185,874 ที่นั่ง แบ่งเป็นอยู่ในกรุงเทพ และปริมณฑล 47 สาขา 357 โรง 81,388 ที่นั่ง ต่างจังหวัด 117 สาขา 421 โรง 96,037 ที่นั่ง และต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง

ซึ่งถือเป็นจำนวนโรงที่มากพอที่หนังฮอลลีวูดจะไม่เข้ามาเบียดเวลาของหนังไทยออกจากโรงเร็วขึ้น

วิชา กล่าวว่า คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะนิยมหนังไทย และหนังไทยแบ่งเป็น 2 เธียร์

เธียร์ 1 จะเป็นหนังที่ฉายในกรุงเทพและต่างจังหวัด เช่น หนังของ GDH

ส่วนเธียร์ 2 เป็นหนังที่ฉายเฉพาะในต่างจังหวัดเท่านั้น

ซึ่งหนังเธียร์ 2 จะเป็นหนังที่ทำขึ้นมาตรงกับความชอบของคนต่างจังหวัดเป็นหลัก



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online