เปิด List แบรนด์เทคโนโลยีและเวชภัณฑ์ เช่น Zoom Netflix ไปจนถึงแบรนด์เวชภัณฑ์อย่าง BioNTech และ Top Glove ที่รุ่งสุดๆ ในวิกฤตโควิด
ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสแต่หากวิกฤตนั้นมีขนาดใหญ่จะติดเทอร์โบให้บางธุรกิจโตพรวดแบบก้าวกระโดดตามความต้องการของตลาด โดยการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกครั้งนี้ เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยี Gaming ช่องทางการสื่อสาร และเวชภัณฑ์ พากันโตแบบก้าวกระโดดแบบไม่เคยมีมาก่อน
ตรงข้ามกับธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางและค้าปลีกทั้งหมดที่ทรุดหนัก ถึงขนาดที่บางบริษัท ‘ทนพิษบาดแผลไม่ไหว’ ล้มละลายจนต้องเริ่มต้นกันใหม่ มาย้อนดูกันว่า มีบริษัทไหนและธุรกิจใดบ้างที่วิกฤตไวรัสเข้าทาง
Zoom : Platform หลักช่วง Work-Learn From Home
จากแอปที่คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้จัก Zoom กลายเป็นช่องทางการสื่อสารที่ขาดไม่ได้ เมื่อโลกทั้งใบติด Lockdown ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ที่การออกไปทำงาน การออกไปเรียน และใช้ชีวิตนอกบ้าน เป็นเรื่องต้องห้ามหรือทำได้เฉพาะภายใต้ข้อจำกัดเท่านั้น
Eric Yuan
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ Zoom ที่ Eric Yuan อดีตวิศวกร Software ชาวจีนของ Cisco ‘ปิ๊ง Idea’ สร้าง App นี้ขึ้นเมื่อปี 2012 เพื่อหวังแก้ Pain Point ของคนไกลที่อยากเห็นหน้ากัน
และไม่อยากเหนื่อยเดินทางไปหา เหมือนที่เขาเคยพูดว่า ต้องเหนื่อยขึ้นรถไฟนาน 10 ชั่วโมงเพื่อไปหาแฟนสมัยเรียนฮิตสุดๆ
Zoom เผยว่าขณะที่โลกติด Lockdown เมื่อช่วงเมษายน ยอดผู้ใช้ทั่วโลกต่อวันมีมากถึง 300 ล้านครั้ง เพิ่มจากเพียง 10 ล้านครั้งต่อวันเมื่อธันวาคมปี 2019
ยอดผู้ใช้ที่เพิ่มแบบก้าวกระโดดนี้ ติดเทอร์โบให้ระหว่างกุมภาพันธ์ถึงเมษายน Zoom ทำเงินได้เพิ่มขึ้นเป็น 328 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9,850 ล้านบาท)
ข่าวดีท่ามกลางวิกฤตโควิดของ Zoom ยังทำให้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ เช่น Microsoft และ Facebook พัฒนาแอป Video Conference ของตัวเองขึ้นมาบ้างเพื่อชิงส่วนแบ่ง
พร้อมกันนี้ยังส่งผลให้ Eric Yuan กลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่รวยขึ้นในวิกฤตครั้งนี้ และได้รับตำแหน่งนักธุรกิจแห่งปีของนิตยสาร Time อีกด้วย
Netflix : หนังโรงเล็กในบ้านปังสุดๆ ขณะที่หนังโรงใหญ่ทั่วโลกนอนทรุดติดเตียง
แม้เป็นชื่อแรกๆ (Top of Mind) ของผู้บริโภคและครองตำแหน่งเบอร์ใหญ่สุดในตลาด Video Streaming แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา Netflix ก็ยังต้องทุ่มเงินก้อนใหญ่ สร้าง Content ทั้งหนังและ Series ขึ้นมาเพื่อดึงความสนใจและตรึงตาคนทั่วโลกให้อยู่ติดกับ Platform
Netflix มีคู่แข่งคือบรรดายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และ Platform คู่แข่ง ซึ่งในจำนวนนี้มียักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่าง Disney และค่ายเทคโนโลยีชื่อดังเช่น Apple รวมอยู่ด้วย
จากความที่เป็นเบอร์ใหญ่สุดในวงการและมี Content มากสุดนี่เอง กลายเป็นแต้มต่อช่วยให้ Netflix โตแบบติดจรวด ช่วงที่คนทั่วโลกพากันหากิจกรรมทำเพื่อแก้เบื่อหรือคลายเครียดช่วง Lockdown
ไตรมาสแรกยอดสมาชิกรายเดือน Netflix ทั่วโลกเพิ่มมาอีก 16 ล้านคน และช่วงเมษายนยอดสมาชิกรวมทั่วโลกเพิ่มเป็น 183 ล้านคน จนราคาหุ้นปีนี้โตมากถึง 70%
“ความปัง” ของ Netflix ช่วงโลกติด Lockdown ยังบีบให้ค่ายหนังใหญ่ๆ ทั้ง Disney และ Warner ต้องปรับตัว หันมาใช้ Hybrid Model ส่งหนังฟอร์มใหญ่ปีนี้ เช่น Mulan และ Wonder Woman 1984 ลง Streaming Platform ในเครือเฉพาะในสหรัฐที่สถานการณ์การระบาดยังรุนแรง
คู่ไปกับการฉายโรงในประเทศแถบเอเชียที่สถานการณ์การระบาดทุเลาลงแล้วอีกด้วย เพื่อลดความเสียหายจากวิกฤตครั้งนี้
Nintendo : ค่ายเกมดังญี่ปุ่น ‘อัปเวล’ ครั้งใหญ่ ยุค New Normal
คอเกมทั่วโลกทุกคนต่างรู้จัก Nintendo ดี แต่ Nintendo มาสะดุดช่วงที่บรรดา Mobile Game บน Smartphone และ Tablet ได้รับความนิยม จนต้องแก้เกมด้วย Switch เครื่องเกมที่สามารถถอดประกอบ เล่นได้หลากหลายและยังพกพาสะดวกซึ่ง Switch นี่เองที่เป็นพระเอกช่วงวิกฤตโควิด
ครึ่งแรกปีนี้ขณะที่แทบทุกประเทศในโลก ตกอยู่ภายใต้มาตรการ Lockdown เครื่องเกม Switch ทำยอดขายได้ 12.5 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นครึ่งแรกของปี 2019 ถึง 81% ส่งให้ Nintendo ปิดครึ่งแรกปี 2020 ด้วยข่าวดี กำไรโตถึง 209%
Shuntaro Furukawa
หนึ่งในผู้บริหาร Nintendo ที่ยิ้มกว้างมากสุดจากข่าวดีท่ามกลางวิกฤตโควิดคือ Shuntaro Furukawa – CEO ของ Nintendo เพราะเป็นหนึ่งในทีมพัฒนา Switch ขึ้นมา
BioNTech : ชัยชนะของบริษัทยา และความสำเร็จของผู้อพยพ
กลุ่มบริษัทยาและเวชภัณฑ์ถูกจับตามองมากสุดในวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องความเร็วในการพัฒนาไวรัสต้านโควิดที่จะส่งผลต่อเนื่องถึงตัวเลขทางธุรกิจ และความเคลื่อนไหวของหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ BioNTech ก็เป็นหนึ่งในบริษัทยาที่พัฒนาวัคซีนและยังประสบความสำเร็จเป็นบริษัทแรกๆ อีกด้วย
BioNTech จับมือกับ Pfizer พัฒนาวัคซีนจนสำเร็จ มีประสิทธิภาพ 95% ท่ามกลางการประเมินว่าทั้งสองบริษัทจะทำเงินจากยอดขายวัคซีนมากถึง 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 395,000 ล้านบาท)
Ugur Sahin
ความสำเร็จดังกล่าวยังเป็นต้นแบบให้ชนกลุ่มน้อย ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและผู้อพยพด้วย เพราะ Ugur Sahin – CEO ของ BioNTech เป็นชาวตุรกีที่ย้ายมาตั้งรกรากเพื่อคว้าความสำเร็จในชาติมหาอำนาจอย่างเยอรมนี
Mindray : ตัวแทนความสำเร็จของแบรนด์จีน ท่ามกลางวิกฤตไวรัส
ผิดจากนี้ไปไม่มากหากจะกล่าวว่า จีนคือประเทศที่โตอย่างก้าวกระโดดมากสุดในปัจจุบัน และมีบริษัทหรือกลุ่มทุน แทรกตัวอยู่ในทุกธุรกิจ
ในวิกฤตไวรัสครั้งนี้มีบริษัทยาจีนถึง 13 บริษัท ที่พัฒนาวัคซีนต้านโควิด โดยเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน Sinovac, Sinopharm และ CanSino เพิ่งเผยว่าสามารถผลิตวัคซีนต้านโควิดได้รวมกัน 400 ล้านโดส
และถือเป็นความหวังให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการคลายวิกฤตครั้งนี้ ทว่าย้อนไปช่วงที่สถานการณ์การระบาดรุนแรง มีแบรนด์จีนอีกแบรนด์ที่ได้รับความสนใจ
Mindray เป็นแบรนด์เครื่องช่วยหายใจและเทคโนโลยีการแพทย์สัญชาติจีนที่โตแบบก้าวกระโดดจากวิกฤตครั้งนี้ โดยเครื่องช่วยหายใจ ภายใต้แบรนด์ Mindray ช่วยผู้ป่วยในห้อง ICU ของหลายประเทศเอาไว้ โดยเฉพาะอิตาลีที่สั่งซื้อมากถึง 10,000 เครื่อง
Li Xiting
ขาขึ้นในวิกฤตไวรัสทำให้ราคาหุ้นของ Mindray โตถึง 41% และส่งให้ Li Xiting – CEO ของ Mindray ขึ้นมาติด Top 5 มหาเศรษฐีของโลก ในกลุ่มเดียวกับ Jeff Bezos และ Bill Gates อีกด้วย
Top Gloves : แบรนด์เวชภัณฑ์ ASEAN ที่โตพรวดอีกครั้งจากสถานการณ์โรคระบาด
มาเลเซียเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกยางพาราแหล่งใหญ่ของโลก และเต็มไปด้วยธุรกิจต่อยอดมาจาก ‘สวนยาง’ ซึ่งถุงมือยางก็เป็นหนึ่งในนั้น โดย Top Gloves เป็น 1 ใน 4 แบรนด์ถุงมือยางรายใหญ่ของมาเลเซีย ที่การระบาดของไวรัสหวิดเข้าทาง
ความต้องการถุงมือยางทั้งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และคนทั่วไปจากวิกฤตโควิด ทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางมาเลเซียโตอีกครั้ง
มีการประเมินว่ายอดส่งออกถุงมือยางมาเลเซียปีนี้ จะเพิ่มเป็น 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 157,000 ล้านบาท) โต 30% จากปี 2019
นี่เป็นการตอกย้ำว่าถุงมือยางเป็นธุรกิจที่จะทะยานสู่ขาขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดโรคระบาด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้ง SARS และ MERS ระบาดก่อนหน้านี้ /cnn, bbc ,wikipedia ,cnbc ,ft
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ