สองบริษัทใหญ่รุ่นใหม่ของอินโดนีเซียเปิดไฟเขียวจับมือกัน ท่ามกลางการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่ม Digital Economy ที่มีแนวโน้มสดใส โดย Gojek เบอร์ใหญ่วงการแอปในการเดินทางสัญชาติอินโดนีเซียกับ Tokopedia – E-commerce Platform ร่วมชาติ เริ่มเดินหน้าสู่การควบรวมกิจการ เพื่อประโยชน์ในการขยายธุรกิจ เกิดเป็นบริษัทใหม่มูลค่าเกือบ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 539,000 ล้านบาท) ก่อนทำ IPO ที่ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ อีกไม่กี่เดือนนับจากนี้

ด้วยขนาดพื้นที่ราว 5,100 ตารางกิโลเมตร และจำนวนประชากรกว่า 270 ล้านคน อินโดนีเซียจึงเป็นตลาดใหญ่สุดของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และเป็นขุมทองที่ไม่ว่าบริษัทไหนในธุรกิจใดต่างต้องการครองส่วนแบ่งเบอร์ต้น ๆ ให้ได้

Indo map Gojek

แน่นอนว่า บริษัทอินโดนีเซียเองที่รู้และเข้าใจลูกค้าดีกว่า ย่อมมีแต้มต่อและโอกาสทางธุรกิจมากกว่าบริษัทต่างชาติ 

ราว 10 ปีมานี้กลุ่มธุรกิจ Digital Economy ที่ครอบคลุมตั้งแต่ E-commerce FinTech ไปจนถึงแอปเรียกใช้บริการระบบขนส่งของอินโดนีเซีย มีมูลค่าตลาดกับอัตราเติบโตมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN ทั้งหมด และยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป 

มีการประเมินว่าเมื่อปี  2020 ที่ผ่านมามูลค่าตลาด Digital Economy ของอินโดนีเซีย อยู่ที่ 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) จะเพิ่มเป็น 124,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.7 ล้านล้านบาท) ในอีก 5 ปีข้างหน้า

gojek Go-Jek

บรรดาเบอร์ใหญ่ ๆ ใน Digital Economy อินโดนีเซีย ทราบดีถึงแนวโน้มเชิงบวกดังกล่าว และเตรียมแผนธุรกิจไว้รองรับ โดย Bloomberg สำนักข่าวธุรกิจชื่อดังรายงานอ้างแหล่งข่าวใน Gojek และ Tokopedia ว่า ทั้งสองบริษัทเริ่มเดินแผนการควบรวมกิจการแล้ว ผ่านทั้งการเจรจาและลงนามเบื้องต้นในเอกสาร เพื่อปูทางสู่การควบรวมกิจการ และ IPO

Tokopedia 2 Gojek

รายงานดังกล่าวระบุว่าหากแผนควบรวมกิจการดำเนินไปอย่างราบรื่นและเสร็จสิ้น จะเกิดเป็นบริษัทใหม่ที่มูลค่าสูงเกือบ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 539,000 ล้านบาท) และมีธุรกิจหลากหลายตั้งแต่การขนส่งทั้งสินค้าและอาหาร แอปด้านการเดินทาง และ E-commerce  เหมือนมีทั้ง Amazon PayPal และ Uber อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย

มีแนวโน้มว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้คงเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะผู้ก่อตั้งของ Gojek และ Tokopedia มีวัยใกล้เคียงกัน และรู้จักกันเป็นอย่างดี  ประกอบกับรัฐบาลอินโดนีเซียคงเปิด ‘ไฟเขียว’ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศ และทั้งสองบริษัทไม่ได้ทำธุรกิจเดียวกัน

Digital Economy 3 Gojek

ต่างจากการควบรวมกิจการระหว่าง Gojek และ Grab ที่ยืดเยื้อมา 2 ปี เพราะเผชิญข้อติดขัดมากมาย ทั้งความเห็นไม่ตรงกันในการบริหารตลาดในอินโดนีเซีย การเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ของ Grab

ความเห็นไม่ตรงกันเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น และอาจ ‘ติดไฟแดง’ เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียเห็นว่าเป็นการผูกขาด จนเมื่อธันวาคมที่ผ่านมาต้องล่มไป

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า หากธุรกิจไปต่อได้สวย บริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง Gojek และ Tokopedia นี้อาจ ‘โกอินเตอร์’ ทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ผ่านบริษัทที่มีจุดประสงค์พิเศษในการซื้อกิจการ (SPAC) หรือที่รู้จักกันในหมู่นักลงทุนว่า บริษัทเช็คเปล่า

Digital Eco Gojek

ถ้าสำเร็จจะเป็นบริษัทในกลุ่ม Digital Economy ของ ASEAN แห่งที่ 2 ต่อจาก Sea Limited บริษัทแม่ของเกมออนไลน์ Garena ที่ IPO ไปเมื่อปี 2017 และมาปี 2020 ราคาหุ้นโตถึง 400% จากการที่เกมออนไลน์ฮิตสุด ๆ ช่วงล็อกดาวน์/bloomberg, yahoo, statista, wikipedia, expandedrambling

FYI-4-11

GOJEK-MERGE อินโฟ



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online