ขณะที่ใครๆ ก็มองสุวรรณภูมิเป็นหัวหอกหลักในสนามรบดิวตี้ฟรี
ดอนเมือง ก็เป็นอีก Area หนึ่งมีอัตราการเติบโตของผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 12.48% ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ตลาด 5 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศจำนวนมากถึง 5,692,049 คน จาก 19,708 เที่ยวบิน เติบโต 24.44%
และที่สำคัญ ท่าอากาศยานไทย เปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ จำนวน 2,510 ตารางเมตร สัญญาสัมปทาน 10 ปี ในสนามบินดอนเมือง อาคาร1 เพื่อหาผู้บริหารพื้นที่เพียงรายเดียว จากปัจจุบันสัญญาเช่าพื้นที่เป็นของร้านค้าหลายรายที่กำลังจะหมดอายุในเวลาไล่เลี่ยกัน เพราะจุดมุ่งหมายด้านรายได้ของท่าอากาศยานไทยคือรายได้เชิงพาณิชย์ 1.5 พันล้านบาทในปีนี้ ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากสนามบินดอนเมือง 1 พันล้านบาท
ถ้ามีพื้นที่ขนาดใหญ่นั่นหมายถึง การผูกขาดทางการค้ากลายๆ รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีก็จะเพิ่มขึ้นตามมา
การเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในดอนเมือง อาคาร1 จึงเป็นที่สนใจของยักษ์ใหญ่ในวงการดิวตี้ฟรีไทยอย่าง King Power เอาแน่ใจพื้นที่นี้ นอกเหนือจากคู่แข่งอีก 4 รายที่เข้ามาซื้อซอง ที่มาคาดว่ามาจากดิวตี้ฟรีข้ามชาติ และธุรกิจรีเทลอย่างเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ เข้ามาซื้อซองเอกสารยื่นข้อเสนอดำเนินงาน ก่อนกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 นำเสนอผลงาน 17-18 กรกฎาคม และเปิดซองค่าตอบแทน ประกาศคะแนนสูงสุด 20 กรกฎาคม 2560
ยังไงก็ต้องมีดอนเมือง
ธุรกิจหลักของ King Power คือจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี เป็นไปไม่ได้เลยที่ศึกชิงสัมปทานพื้นที่ดอนเมืองอาคาร1 King Power จะปล่อยให้หลุดมือไป เพราะเป้าหมายหลักของ King Power คือ ขึ้นเบอร์ 1 ในดิวตี้ฟรีโลก มีรายได้มากกว่า 1.3-1.4 แสนล้านบาทภายใน5 ปี จากการขยายไปยังต่างประเทศ และรุกหนักในธุรกิจไทย
ในปัจจุบัน King Power เป็นอันดับ 7 ในดิวตีฟรีโลก โดยเป้าหมายรายได้ 92,000 ล้านบาทในปีนี้
ตลาดไทย King Power มีกลุ่มเป้าหมาย คนจีน 50% ไทย 15% ที่เหลือเป็นยุโรปและเอเชีย
ตรงกับกลุ่มผู้โดยสารสนามบินดอนเมืองที่ส่วนใหญ่เป็น Low Cost Airline ที่เน้นเที่ยวบินในเอเชียและเครื่องเช่าเหมาลำซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียเช่นกัน
งานนี้บอกเลยว่า King Power ไม่มีวันยอมเด็ดขาด เพราะถ้ามองไปอีก 3 ปี สัญญาสุวรรณภูมิก็จะหมดเช่นกัน รวมถึงสัญญา Public Pick-up Counter จัดรับสินค้าดิวตี้ฟรี สำหรับลูกค้าที่เข้าไปซื้อสินค้าจากดิวตีฟรีในเมือง ที่ King Power ถือสัมปทานอยู่ในสนามบินหลักๆ ก็จะหมดสัมปทานภายใน 4-5 ปีด้วยเช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่าถ้า King Power ไม่สามารถต่อสัญญาสัมปทานใดสัมปทานหนึ่งได้ Power ที่อยู่ในมือก็จะลดด้วยเช่นกัน
เกมไปต่อของมวยรอง
เดาว่าผู้เข้าร่วมซื้อซองประมูลอีก 4 รายที่เหลือคือดิวตี้ฟรีจากเกาหลีอย่าง Lotte และ The Shilla และรีเทลไทยคือCentral และ The Mall ผู้ซึ่งร่วมวงไพบูลย์เข้าประมูลพื้นที่ในสนามบินอื่นๆ มาก่อนหน้านี้
โดยเฉพาะ Lotte อันดับ 3 ในดิวตี้ฟรีโลก ก็ต้องการยึดไทยเป็นตลาดหนึ่งที่ช่วยให้อาณาจักร Lotte ดิวตี้ฟรี แข็งแกร่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา Lotte ได้เข้ามาเปิด ดิวตี้ฟรีในเมืองที่ Show DC ดึงผู้เดินทางที่บินมาจากสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะ Show DC สามารถเดินทางจากสุวรรณภูมิได้ภายใน 30 นาที ในช่วงเวลารถไม่ติด มีกำหนดเปิดกรกฎาคม 2560
แต่อุปสรรค์ที่ใหญ่หลวงของ Lotte ในธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองคือ กฎหมายไทย ผู้ซื้อสินค้าจากดิวตีฟรีในเมืองต้องรับสินค้าที่จุด Pick-up Counter ในสนามบินในวันที่เดินทางกลับ และจุด Pick-up Counter ในสนามบินใหญ่อย่างสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ตเป็นของ King Power ส่วน Lotte มี Pick-up Counter ที่สนามบินอู่ตะเภา ที่มีทราฟฟิกผู้โดยสารที่ต่ำ
ซึ่งตามสัญญาใหม่ที่นำมาใช้กับการประมูล สนามบินระหว่างประเทศอาคารใหม่ที่สนามบินภูเก็ต สัญญาจะเปิดให้ดิวตี้ฟรีแบรนด์อื่นสามารถใช้บริการ Pick-up Counter ที่ King Power ได้รับสัมปทานได้ โดยเสียค่า Fee ไม่เกิน 5% ขึ้นอยู่กับสินค้า และ 5% นี้ King Power จะต้องแบ่ง 3% ให้กับท่าอากาศยานไทย
สัญญาใหม่จึงเป็นโอกาสของ The Shilla ดิวตี้ฟรีจากประเทศเกาหลี ที่เปิดบริการดิวตี้ฟรีในเมืองภูเก็ต แข่งกับ King Power ที่มีให้บริการก่อนหน้านั้นแล้ว
แต่ในโลกของความจริงกลุ่มเป้าหมาย King Power และ The Shilla คือกลุ่มเดียวกัน คือนักท่องเที่ยวทีเดินทางมายังภูเก็ต ทำให้การที่ The Shilla ใช้บริการ Pick-up Counter อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ รวมถึงการแย่งลูกค้าตามมาได้
การสร้างโอกาสที่มากกว่าภูเก็ต The Shilla จึงต้องพึ่งดอนเมืองเป็นจุดสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง (ถ้าชนะการประมูลได้) เพราะส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวไม่ได้บินมาเพียงภูเก็ตและบินกลับแต่อาจจะบินไปเที่ยวที่อื่นๆ ในไทยและใช้ดอนเมืองเป็นสนามบินสุดท้ายก่อนออกจากไทยไปประเทศอื่น หรือกลับประเทศตัวเอง
งานนี้ต้องดูว่าใครจะได้พื้นที่นี้ไป
เรื่อง : ณัฐจิตต์ บูราณทวีคูณ วลัยรัตน์
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ