ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเจอมรสุมโควิดพัดกระหน่ำอย่างหนัก เราอาจจะมองว่าเครื่องประดับเพชร คือสินค้าฟุ่มเฟือย ยิ่งในช่วงโควิด ที่คนส่วนใหญ่ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน จะซื้อใหม่ไปอวดใครที่ไหนกัน
น่าจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่อาการหนัก
แต่สำหรับเครื่องประดับ เพชร Jubilee (ยูบิลลี่) กลับไม่ใช่ ยังไปได้ใส ๆ วิบวับ ๆ
ในปี 2562 เครื่องประดับเพชร ยูบิลลี่ ทำรายได้ 1,820 ล้านบาท กำไร 262 ล้านบาท สูงที่สุดในรอบระยะเวลา 90 ปี
9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 178.8 ล้านบาท ลดลงเพียง 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
และคว้ารางวัลจากเวทีระดับโลก Asia’s 200 Best Under A Billion 2020 จากนิตยสาร Forbes เป็นธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับหนึ่งเดียวในเอเชียที่ได้รางวัลนี้
เป็นรางวัลบริษัทมหาชนรายได้ต่ำกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ดีที่สุดในเอเชียประจำปี 2020 พิจารณาจากบริษัทมหาชนขนาดเล็กและกลางในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีรายได้สูงกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่เกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 18,000 บริษัท
รวมทั้งได้รับรางวัล Outstanding Investor Relations บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จากงาน SET Awards ประจำปี 2563 อีกด้วย
อัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ Marketeer ว่า รางวัล Asia’s 200 Best Under A Billion 2020 เป็นอีกรางวัลหนึ่งที่เธอดีใจอย่างมาก เพราะเป็นรางวัลระดับนานาชาติที่สะท้อนไปถึงประสิทธิภาพของการบริหารงานในหลาย ๆ เรื่อง นอกเหนือจากตัวเลขรายได้และกำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากร้านขายเพชรที่ย่านสะพานเหล็ก
จากบรรพบุรุษที่เปิดร้านขายเพชรที่ย่านสะพานเหล็ก ตกทอดสู่ทายาทรุ่นต่อมา ก่อนที่รุ่นที่ 3 คือวิโรจน์ พรประกฤต ได้แยกออกมาตั้งชื่อใหม่เป็น บริษัท ยูบิลลี่ เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด สร้างแบรนด์ Jubilee Diamond เมื่อปี พ.ศ. 2536
ย่านร้านขายเพชรที่เจาะกลุ่มคนรวย สูงอายุ ได้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายวัยมากขึ้น ผ่านช่องทางการขายหลัก ๆ ของ ยูบิลลี่ ที่อยู่ในศูนย์การค้าต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีประมาณ 131 สาขา
ปี 2562 การซื้อเพชรทำได้ง่ายขึ้นไปอีกเมื่อยูบิลลี่ได้เปิดตัว e-commerce เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นครั้งแรก
“BROWN “เจ้าหมีน้อยสีน้ำตาล “Cony” กระต่ายสาวผู้เริงร่า รวมทั้ง SALLY และ CHOCO ถูกดีไซน์เป็นเครื่องประดับเพชร เพื่อเอาใจกลุ่มลูกเป้าหมายใหม่ คือ กลุ่มมิลเลนเนียน อายุประมาณ 18-29 ปี
แน่นอนคนกลุ่มนี้คือลูกค้าในฝันที่เธอต้องการเข้าถึง เพราะเป็นฐานลูกค้าสำคัญที่จะเติบโตไปกับแบรนด์ในอนาคต
ปี 2563 เมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 สาขาทั้งหมดของยูบิลลี่ในห้างถูกปิด เหลือแค่ 3 สาขาที่เป็นสแตนด์อโลน
จากฐานลูกค้าออนไลน์ที่วางไว้เมื่อปี 2562 คราวนี้เธอเร่งการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แบบเต็มสตรีม รวมทั้งการลงทุนในเรื่องไอที เพื่อติดตามพฤติกรรมลูกค้าอย่างใกล้ชิด
เมื่อ Marketeer ถามว่าซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ผ่านออนไลน์ ตัดสินใจไม่ยาก แต่ซื้อเพชรผ่านออนไลน์น่าจะเป็นเรื่องยาก
อัญรัตน์บอกว่าเรื่องนี้คือความท้าทายที่สำคัญของเธอ แต่มั่นใจว่าการขายเพชรออนไลน์จะไปต่อได้ต้องประกอบด้วยหัวใจใน 2 เรื่องหลัก คือ
1. ลูกค้าต้องมั่นใจในแบรนด์ ซึ่งตรงนี้เธอมั่นใจในเรื่องชื่อเสียงของยูบิลลี่ที่สะสมมานานกว่า 90 ปี มีรางวัลต่าง ๆ จากสถาบันอัญมณีศาสตร์ระดับโลกเป็นตัวการันตีคุณภาพของเพชร
2. ระบบ Customer Services ต้องพร้อมและมีประสิทธิภาพพอที่จะตอบข้อสงสัยให้ลูกค้าทันทีแบบรู้จริงและเป็นมืออาชีพ
เป็น 2 เรื่องที่ทำให้ แหวน จี้ ต่างหู สินค้าขายดีบนออฟไลน์ตามมาขายดีบนออนไลน์ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นของชิ้นเล็ก ราคาไม่สูงเท่าการซื้อที่หน้าร้าน และทำให้รายได้น้อยลงกว่าเดิม แต่เธอมั่นใจว่าตัวเลขทั้งปีกำไรจะลดลงไม่มาก และที่สำคัญทำให้มั่นใจว่าช่องทางออนไลน์นี้สามารถเติบโตเพิ่มได้อีกแน่นอน
“นอกจากลูกค้าเก่า ๆ ที่เคยซื้อผ่านหน้าร้านมาซื้อทางออนไลน์แล้ว เรายังได้ลูกค้าใหม่เพิ่มมาอีกประมาณ 70% ส่วนใหญ่อายุประมาณ 20-40 ปี และมีลูกค้าผู้ชายเพิ่มมากขึ้นด้วย จากที่คนกลุ่มนี้อาจจะไม่กล้าซื้อถ้าให้ไปยืนซื้อเพชรเองตามหน้าเคาน์เตอร์”
อย่างที่ Marketeer เคยตั้งข้อสงสัย เพชร คือสินค้าฟุ่มเฟือย และช่วงโควิดที่ทุกคนต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน จะซื้อใหม่ไปอวดใครที่ไหนกัน
เธออธิบายว่า
“คนซื้อยังซื้อเพชร เพราะเป็นสินค้าที่นอกจากความสวยงาม มีความสุขเมื่อได้เอามาใช้แล้ว ยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มแน่นอนในอนาคต ราคาไม่เหวี่ยงขึ้นลงเหมือนทอง จะผ่านกี่ยุคกี่สมัยราคาของเพชรก็เป็นอมตะไม่เคยลดลง”
การมีโอกาสได้เป็นเจ้าของเพชรในช่วงโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่ยูบิลลี่ทำขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยังขายได้อย่างต่อเนื่อง
อัญรัตน์ คือตัวอย่างหนึ่งของทายาทรุ่นที่ 4 ที่มีการปรับตัวเองในการทำธุรกิจอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ เรื่อง
รุ่นพ่อ เริ่มจากเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2552 เป็นบริษัทค้าปลีกเพชรเจ้าเดียวในประเทศไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และยังเป็นผู้บุกเบิกการขายเพชรแบบเคาน์เตอร์ในห้าง (สาขาแรกที่เยาฮัน) เป็นเจ้าแรกในเมืองไทย
รุ่นลูก ความท้าทายที่จะทำให้เครื่องประดับเพชรเข้าถึงคนได้มากขึ้น การทำธุรกิจแบบใช้พลังของ Big data เพื่อสร้าง S curve ใหม่ให้กับแบรนด์ จากการเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงในเรื่องต่าง ๆ เช่น การดีไซน์สินค้า นวัตกรรมใหม่ ๆ และช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ เพื่อจะเสิร์ฟกลุ่มลูกค้าหลากหลายเซกเมนต์กว่าเดิม
ทั้งหมดคือเส้นทางที่เธอต้องเร่งสปีด เพื่อให้การเดินเข้าสู่ศตวรรษแรกของแบรนด์ในอีกประมาณ 8 ปีข้างหน้า เลอค่าที่สุด
เธอเคยบอกว่าการทำธุรกิจในรุ่นลูกนอกจากต้องเร็วแล้ว ยังต้องอึดต้องถึก เพราะไม่อยากให้เป็นอย่างที่แม่เคยเตือนว่า “อย่าให้ใครมาว่านะว่าเป็นลูกเจ้าของแล้วทำงานไม่เป็น”
แต่ผลงานที่ผ่านมา รางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับน่า จะเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของเธอแล้ว
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ