ต้องบอกว่า “อุตสาหกรรมเพลง” ในบ้านเรา มาถึง “จุดเปลี่ยน” พอสมควร คนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมการเสพดนตรีที่เปลี่ยนไป จากการเข้ามาของสื่อออนไลน์โดยเฉพาะวีดีโอ สตรีมมิ่งชื่อดังอย่าง “Youtube” ที่ทำให้ ณ วันนี้ไม่จำเป็นต้องซื้อบัตรแพง ๆ ก็สามารถเห็นหน้าศิลปินแบบ Full HD เสมือนไปเกาะอยู่ขอบเวทีคอนเสิร์ต

“ศิลปิน” กำลังมาถึงทางตันและ “ไม่ทรงพลัง” เหมือนเคย

จุดเปลี่ยนนี่เองได้สร้าง “Effect” โดยตรงต่อ “คอนเสิร์ต” โดยเฉพาะไลฟ์คอนเสิร์ตให้ลดน้อยลงไป การจะจัดคอนเสิร์ตที่มีแฟนเพลงเข้ารวมงานหลายพันคนเกิดขึ้นได้ “ยาก” ต่างจากในอดีตที่อยู่ในหลักหมื่น หากจะเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ ในปี 2014 ทุกเดือนจะมีการแสดงคอนเสิร์ตอย่างน้อย 2 งาน ถ้าให้ตีเป็นตัวเลขกลม ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 30 งานต่อปี ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.5 เดือนต่อครั้ง หรือเฉลี่ย 12 ครั้งต่อปี ซึ่งหายไปเกินครึ่ง

เหตุผลหลักที่ทำให้จำนวนคอนเสิร์ตลดน้อยลงไปนั้น วุฒิพันธุ์ ด่านทวีศิลป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟิร์ส วัน ออแกนไนซ์ จำกัด เชื่อว่า เกิดจากการที่ศิลปินในบ้านเรากำลังมาถึง “ทางตัน” สังเกตตั้งแต่ปี 2015 ศิลปินหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จจริงๆ และ “ทรงพลัง” ในเมืองไทยแทบไม่มีเลย ที่ยังพอขายได้ก็เป็นหน้าเดิมๆ ทำให้ทุกคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นจำเป็นจะต้องใช้ศิลปินเดิม จนขาดสีสันใหม่ๆและกลายเป็นความท้าทายที่เหล่าค่ายเพลงเร่งต้องขบคิดวิธีแก้ไข

“ปกติคุณจะรู้สึกว่าปีหนึ่งมี 12 งาน คนดูศิลปินไม่ซ้ำกันเลย กลายเป็นปัจจุบันปีหนึ่งมี 12 งาน ศิลปินซ้ำกันหมด คนดูจึงเลือกไปแค่งานเดียว ทำให้คอนเสิร์ตใหญ่และเดี่ยวจึงลดจำนวนลงหมด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในช่วงปลายปีมักจะเป็นฤดูของมิวสิคเฟสติวัล แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 2 งาน ”

 

“อีดีเอ็ม” ตัวโน้ตที่น่าจับตามอง

และในขณะที่คอนเสิร์ตกำลังอยู่ในช่วง “Down Volume” ก็ได้มีดนตรีอีกหนึ่งประเภทที่แม้จะไม่ถือเป็นความแปลกใหม่ แต่ ณ วันนี้ เรียกได้ว่าเป็นตัวโน้ตที่น่าจับตามองและกำลังเร่งเสียงให้ดังกระหึ่ม นั้นคือ “อีดีเอ็ม”

“อิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิค (Electronic Dance Music) หรือ อีดีเอ็ม (EDM) เข้ามาในไทยเป็น 10 ปีแล้ว เพียงแต่เฟสติวัล (Festival) เพิ่งมาบูมช่วง 3 ปีหลัง ซึ้งถ้าย้อนไปไปดูตั้งแต่ปี 2000 ต้น ๆ จนถึงปี 2013 เมืองไทยจะเน้นจัดอินดอร์ จนถึงปี 2014 มีงานเอ้าดอร์งานแรกของไทย หลังจากนั้นมาจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

แน่นอน!! หากเทียบให้เห็นถึงตัวเลขอย่างชัดเจนถึงการเติบโตของของ อีดีเอ็ม เฟสติวัล ประเภทเอ้าดอร์ คือ ในปี 2014 มีเพียงแค่งานเดียว แต่ในปี 2015 มีเพิ่มขึ้นเป็น 6 งาน และในปี 2016 คาดว่าจะมีอย่างน้อย 13 งาน แสดงให้เห็นถึงการเติบโตมากกว่า 1 เท่าตัว

จุดนี้เองทำให้มีการประเมินมูลค่าตลาดเพลงอีดีเอ็มที่เป็นเฟสติวัลอยู่ที่ 700 กว่าล้านบาท แต่ถ้านับรวมทั้งที่จัดในคลับหรือการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์มูลค่าจะแตะเกินหลัก 1,000 ล้านบาทไป โดยอัตราการเติบโตได้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งคาดว่ามีเพิ่มมากถึง 200 – 300% ด้วยซ้ำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

“อินเด็กซ์” ขอหนีอีเวนต์ พุ่งหา “อีดีเอ็ม เฟสติวัล”

เมื่อหลักฐานชัดเจนแล้วว่า “อีดีเอ็ม เฟสติวัล” มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” บริษัทครีเอทีฟ อันดับ 7 ของโลก จึงพุ่งเป้ามาที่ตลาดนี้หลังธุรกิจหลักอย่าง “อีเวนต์” กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่หลายๆแบรนด์สินค้าเลือกตัดงบโฆษณาในส่วนนี้ลง ซึ่งคาดว่าในปี 2016 จะหดตัวไม่น้อยกว่า 5% หรืออาจจะมากถึง 10% ด้วยซ้ำ

“ต้องยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์ของอีเวนต์ไม่ค่อยดีมากนัก อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จึงต้องปรับแผนขยายธุรกิจเพื่อรับการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมุ่งเจาะตลาดผู้บริโภคในด้านไลฟสไตล์มากขึ้น ด้วยการจัดกลุ่มธุรกิจใหม่ในด้านงานไลฟ์สไตล์ เอ็กซ์พีเรี่ยนส์ (Lifestyle Experience) คือ กลุ่มธุรกิจที่สร้างประสบการณ์ใหม่ และตอบสนองไลฟสไตล์ของผู้บริโภคทั้งในด้านบันเทิง ชีวิตประจำวัน เช่น งานด้านคอนเสิร์ต งานด้านละครเวที เป็นต้น” เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนขยายธุรกิจ

 

จุดพลุงานแรก “อนาเธอร์เวิล์ด”

ครั้งนี้ “เกรียงไกร” ไม่ได้มาแค่คนเดียว แต่ได้หันมาจับมือ ผู้นำแห่งวงการแฟชั่น “แอร์ คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา” อดีตบรรณาธิการบริหาร ผู้ก่อตั้งนิตยสารอิมเมจ และกูรูแห่งวงการดนตรี “โต๊ด วุฒิพันธุ์ ด่านทวีศิลป” โดยจัดตั้งเป็นทีมภายใต้ชื่อ ‘ATME’ เอทีเอ็มอี’ หรือ แอ๊บโซลูทลี่ ทรู มิวสิค เอ็กซ์พีเรี่ยนส์

โดยวางรูปแบบธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.โอน คอนเซ็ปต์ (Own concept) ที่ครีเอจขึ้นเอง ให้เป็นซิกเนเจอร์และไอเดียใหม่ โดยเน้นประสบการณ์ที่แตกต่างแค่ฟังเพลง 2.คอนเสิร์ต ไลเซ่น (Concert-license) ที่นำไลเซ่นมาจากเมืองนอก โดยเลือกระดับบิ๊กอีเว้นท์เท่านั้น โดยจะเริ่มต้นโปรเจคแรก ภายใต้แนวคิด ‘อนาเธอร์เวิล์ด’ (AnotherWorld) อีดีเอ็ม เฟสติวัล (EDM Festival) ในปลายปีนี้

“อนาเธอร์เวิล์ด เป็น อีดีเอ็มที่ครีเอทขึ้นมาเอง เนื่องจากปัจจุบันดนตรีอีดีเอ็มในไทยหรือในเอเชียแตกต่างจากยุโรปพอสมควร โดยฝั่งเอเชียจะซื้อบัตรต่อเมื่อเห็นไลน์อัพจริงก่อน แต่ที่ยุโรปซื้อบัตรตั้งแต่เห็นงานโดยที่ยังไม่ได้ประกาศไลน์อัพสักคน โจทย์ของทางกลุ่ม AT ME จึงต้องการสร้างแนวคิดใหม่ๆให้กับคนไทยแล้วก็คนในระแวกเพื่อนบ้าน เลยอยากสร้างเฟสติวัลที่ทุกคนสามารถแสดงออกได้เต็มที่โดยไม่ปิดกั้นอะไร”

 

ต้องเป็น “เบอร์ 1” เท่านั้น

ในช่วงแรกปีแรกได้วางแผนที่จะจัดงาน 4 ครั้งต่อปี ใช้งบลงทุนครั้งละ 20 ล้านบาท ตั้งเป้ามีผู้เข้าชมงานไม่น้อยกว่า 10,000 ต่อครั้ง เน้นโลเคชั้นในกรุงเทพเป็นหลักเนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้ใหญ่มาก ผู้เข้าร่วมงานสามารถบินมาได้จากทั่วประเทศ ดีเจจะใช้จากต่างประเทศแต่ในอนาคตก็วางแผนที่จะใช้ดีเจคนไทยด้วยเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม อินเด็กซ์ เชื่อว่าหลังจากจบปี 2017 จะขึ้นเป็น “เบอร์ 1” ในตลาดได้อย่างแน่นอน โดยไม่มีหวั่นแม้จะมีตัวเลือกที่เป็นไลเซ่นเจ้าใหญ่ระดับโลกอย่าง Road to Ultra บุกเข้ามาในไทยอยู่แล้วก็ตาม รวมไปถึงงานที่มีอยู่แล้วทั้ง S2O หรือ MAYA Music Festival

แต่ทั้งนี้เป้าหมายของ อินเด็กซ์ ไม่ได้จบอยู่เพียงในประเทศเท่านั้น เพราะที่จริงแล้วยังมีจุดหมายในการเจาะทุกประเทศในเขตอาเซียน โดยในเฟสแรกจะเริ่มต้นที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า และเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งแต่ละประเทศมีแผนที่จะเข้าไปอีดีเอ็ม เฟสติวัล ประมาณ 4 ครั้งต่อปี ส่วนที่เฟส 2 ได้มองประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

หากจะไปงาน “อีดีเอ็ม” สักที่ “คนไทย” จะเลือกจากอะไร ?

1. ดีเจ

2. คอนเซ็ปต์

 

ที่มา : อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ ที่ นิยตสาร Marketeer ฉบับเดือนธันวาคม



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online