CRG พอร์ตธุรกิจอาหารของตระกูล ‘จิราธิวัฒน์’

ปีที่ผ่านมาคือฮีโร่ที่ช่วยให้ CENTEL ไม่เจ็บตัวมากนัก

รายได้ปีที่ต้องเจอกับโควิด-19 ลดลง 18% อยู่ที่ 10,132 ล้านบาท

หลัก ๆ คือแน่นอนว่ารายได้ลดลงจากการปิดสาขาชั่วคราว และไม่สามารถนั่งรับประทานในร้านได้เหมือนเดิม

แต่สิ่งที่เพิ่มมาคือการปรับตัวในช่องทาง Delivery ที่มีรายได้จากช่องทางนี้ 2,000 ล้านบาท โตขึ้นถึง 150%

แล้วปีนี้ที่ผ่านวิกฤตแบบหนัก ๆ มาแล้ว CRG จะเดินเกมในธุรกิจอาหารอย่างไร

เมื่อตั้งเป้ารายได้ปี 2564 กลับมาเติบโต ที่ 12,000 ล้านบาท มาหาคำตอบ

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า

ปีนี้ CRG พร้อมรุกธุรกิจพลิกฟื้นการเติบโตผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก

ผนึกแบรนด์ในเครือ ชูจุดขายใหม่ Shop-in-Shop – Cross Sale

ที่อาศัยจุดแข็งสาขาในเครือที่มี 1,175 สาขาในปัจจุบัน เพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้า ด้วยการครอสแบรนด์ แบบ Shop-in-Shop อย่างที่เห็นไปแล้วและยังจะขยายต่อไปคือ การเปิดเคาน์เตอร์อาริกาโตะร่วมกับร้านมิสเตอร์ โดนัท

นอกจากนี้ ยังครอสเมนูของทุกแบรนด์ในเครือ เช่น ไปกินร้านคัตสึยะก็จะมีเมนูของแบรนด์บราวน์คาเฟ่ขายด้วย

ตั้งเป้ามีสาขาบริการแบบ cross sale กว่า 400 สาขา

ขยายสาขาโมเดลใหม่

เพราะจากปีที่ผ่านมาทำให้ต้องปรับตัว ณัฐบอกว่า การขยายสาขาตามห้างยังมีอยู่ แต่ CRG จะมูฟไปหาดีมานด์ของลูกค้าโดยปีนี้เตรียมเปิดโมเดลร้านแบบ Mobile Box ที่จะขยายสาขาตามสถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งโมเดล Mini Kiosk ที่จะทำให้การขยายสาขาทำได้คล่องตัว

ขณะเดียวกันก็ยังศึกษาเรื่องของ ‘แฟรนไชส์’ ที่ตอนนี้มีแบรนด์ ‘อร่อยดี’ ที่ทำโมเดลแบบแฟรนไชส์แล้ว

ปีนี้ CRG  ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 1,300 สาขา จากสาขาที่มีอยู่ปัจจุบันกว่า 1,100 สาขา

หลัก ๆ จะเป็นการขยายสาขาของ KFC

ธุรกิจร้านอาหารกำลังจะโดนดิสรัป เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก ตอนนี้ไม่ใช่แบบเดิมอีกแล้วที่เดินเข้าไปสั่งตามร้าน เพราะอยากรับประทานอะไรก็ทำได้ง่ายบนออนไลน์มากขึ้น

แม้จะบอกเวลาที่จะถูกดิสรัปแน่นอนไม่ได้  แต่การถูกดิสรัปไม่ได้เหมือนธุรกิจธนาคารที่ทยอยลดสาขาลงเรื่อย ๆ ธุรกิจร้านอาหารยังต้องมีสาขาหน้าร้าน แต่การขยายสาขาต้องระมัดระวังมากขึั้น

ขยายดีลิเวอรี่-Cloud Kitchen

ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นปีแจ้งเกิดของบริการ Delivery ในหลายธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจอาหารที่ถึงแม้จะมีบริการอยู่แล้ว แต่ช่องทาง Delivery เติบโตแบบก้าวกระโดด

เช่นเดียวกับ CRG ปีที่ผ่านมามีรายได้จากช่องทางนี้ถึง 2,000 ล้านบาท เติบโต 100%

ส่วนปีนี้ ณัฐ ตั้งเป้ามีรายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่เพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท และเตรียมขยาย Cloud Kitchen ให้ครบ 15 สาขาภายในปีนี้

และในปี 2566 จะมี Cloud Kitchen อย่างน้อย 50 แห่ง

รุกช่องทางออนไลน์และเจาะกลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง

โฟกัส O2O เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซและระบบแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชั้นนำต่าง ๆ เช่น JD Central, Shopee และ LAZADA

ขยายแบรนด์ใหม่ ร้านอาหารแนวใหม่และธุรกิจใหม่

ปีที่ผ่านมา CRG มีแบรนด์ใหม่เข้ามาอยู่ในเครือทั้งสลัดแฟคทอรี่ และบราวน์ คาเฟ่ ที่เป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับพอร์ตธุรกิจ

ปีนี้จะมีแบรนด์ร้านอาหารใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 แบรนด์ โดยณัฐบอกว่า จะเป็นแบรนด์ที่ขยายได้ง่าย ๆ โอกาสคือการเข้าไปทำ M&A มากกว่าการสร้างแบรนด์เอง

แม้จะเปิดกว้างให้กับแบรนด์ทุกประเภท และไม่ได้มีกลุ่มไหนเน้นเป็นพิเศษ แต่กลุ่มที่สนใจคือกลุ่มอาหารไทย-อีสาน เพราะมองว่า อาหารอีสาน ส้มตำ ไปได้ทุกที่

ทั้งหมดนี้จะทำให้ CRG ทำได้ตามเป้าหรือไม่ต้องติดตาม

แต่ที่แน่ ๆ ปีนี้ CRG  จะใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

600-700 ล้านบาท ขยายสาขา

300 ล้านบาท ทำระบบหลังบ้าน

เดินกำลังเต็มสูบ

ภาพรวม 2 เดือนแรกของปียังทรง ๆ เดือนมีนาเริ่มกลับมาดีขึ้น ยังพออยู่ได้ ยอดขายยังไม่ได้หวือหวา คาดว่าเดือนเมษายนที่มีเทศกาลสงกรานต์น่าจะดีขึ้น

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online