เวลากาแฟ/วิรัตน์ แสงทองคำ
อีกแล้ว-เวลาอยู่บ้านคงจะยิ่งนานขึ้น WFH (work from home) กลับมาคึกคักอีกครั้งจนได้
“เวลากาแฟ” เสี้ยวหนึ่งในนั้น ย่อมจะหมุนวนไปรอบ ๆ เลียบ ๆ เคียงๆ ตามวาระและสารัตถะของปัจเจก สำหรับผู้มีเวลาอยู่บ้านค่อนข้างมากอย่างผม พยายามขยายเวลาบางมิติเพิ่มขึ้น ขณะกำกับวงจรหนึ่งให้กระชับ
จุดเริ่ม เกือบ ๆ จะถึงต้นธาร จากสรรหาสารกาแฟ (green bean coffee) หลากหลายดอยภาคเหนือ สั่งตรงจากผู้ปลูก ทยอยมาเข้าคิวกับ “เครื่องคั่วกาแฟเล็ก ๆ ดูธรรมดา ๆ…” (ตอน “ตัวละคร” เล็ก ๆ แห่งวิถีใหม่) เคยนำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจไว้เมื่อช่วง Lockdown ครั้งแรก
“ใช้เวลา..เรียนรู้เพื่อใช้งานให้เข้าที่เข้าทาง …หลายปัจจัยแปรผัน..ปริมาณและ..สารกาแฟ …จับจังหวะหมุนด้วยมือ.. สัมพันธ์กับระดับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และเวลาที่ผ่านไป …ได้กาแฟคั่ว… ตามรสนิยมเฉพาะตัว… (เป็น) ประสบการณ์ ..เชิงขยาย… สังเกตสัมผัส.. ทั้ง กลิ่น ควัน สี และเสียงแตกตัว (crack) …” (ภาพ 1)


ตามกระบวนการข้างต้นให้เข้มข้นไปถึงปลายทาง อย่างคราวนี้ (ภาพ 2) กาแฟร้อน คลาสสิก สะอาด แบบฉบับเทราด (drip brewed coffee, filtered coffee หรือ pour–over coffee แล้วแต่จะเรียก) เข้ากันได้ดีพิเศษกับคุกกี้ (ถั่ว-อัลมอนด์ -แมคคาเดเมีย-มะม่วงหิมพานต์ และธัญพืช) โฮมเมด ฝีมือภรรยา


ดูผ่าน ๆ เป็นวงจรธรรมดา ๆ และเวลาอันเรียบง่าย เมื่อพินิจพิถีพิถัน พอจะมองเห็นรอยวนสู่ปลายทางดั่งก้นหอย
ที่จริงตั้งใจใช้ “ถ้วยกาแฟ” และ “ภาชนะ” เข้าธีมสะท้อนสีสันและเรื่องราวเรื่องหนึ่ง “เวลากาแฟ” ซึ่งแตกต่างและดูสร้างสรรค์ขึ้นบ้าง เวลาว่าด้วยความเชื่อมโยงแห่งจินตนาการ จากบ้าน-พื้นที่เล็ก ๆ ในชุมชนและสังคม สู่โลกภายนอกกว้างขวาง ในยามความเป็นไปจริงเป็นไปไม่ได้
“ถ้วยกาแฟ ทำในออสเตรเลีย เป็นพอร์ซเลน (porcelain) คำว่า Australian Fine China อ้างอิงงานคุณภาพ มรดกทางวัฒนธรรม ต้นตำรับจีนยุคเก่า ดีไซน์เชื่อมโยงธรรมชาติ ภาพดอกไม้ป่า-Boronia ในออสเตรเลีย โดย Philippa Nikulinsky นักวาดภาพพฤกษศาสตร์ (Botanical illustrator) ชาวออสซี่อาวุโสผู้มีชื่อเสียง” เคยเล่าไว้สั้น ๆ แค่นั้น (ตอน “ธรรมชาติ” เป็นใจ) พอมีเวลามากขึ้น การค้นหาเรื่องราวใหม่ ๆ จึงเป็นไปอย่างตื่นเต้น
Philippa Nikulinsky ในคอลเลกชั่น “ดอกไม้ออสเตรเลีย กับชิ้นงาน Australian Fine China” (ภาพ 3–4) ทำขึ้นในช่วงปี 2538-2548 คาบเกี่ยวช่วงการเดินทางท่องเที่ยวไปที่นั่น อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรก (2537) กับคณะหนึ่ง ลัดเลาะตามเส้นทางชายฝั่ง Great Barrier Reef จาก Brisbane เกือบถึง Cairns อีกครั้ง (ราวปี 2549) ผมกับครอบครัวขับรถท่องเที่ยวเมืองใหญ่ออสเตรเลีย (Sydney-Canberra-Melbourne) คาดว่าของที่ระลึกชิ้นนี้ติดมือมาด้วยในคราวหลัง




ยิ่งเชื่อมโยง “เวลากาแฟ” ยิ่งเดินในจังหวะช้า ๆ สัมผัสบางสิ่งบางอย่าง บางทีซับซ้อนมากกว่ารสชาติ ขณะได้ย้อนเวลาคิดคำนึงการเดินทางท่องเที่ยวไปในมิติกว้างและไกลกว่าเดิม
ตำนานดอกไม้ป่า Boronia ย้อนกลับไปกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อนักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ (Sir James Edward Smith) ให้คำอธิบายและตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับนักธรรมชาติวิทยาและอนุรักษ์พันธุ์พืชชาวอิตาเลียน (Francesco Borone) ผู้ร่วมงานในยุคเดียวกัน
ยุคก่อนหน้านั้น และต่อเนื่องมายุคเดียวกัน กองเรือโปรตุเกสมาเยือนโลกตะวันออก ตามภาพปรากฏบนจานใส่คุกกี้ (ภาพ 5) เมื่อพลิกด้านล่าง (ภาพ 6) พบข้อความเป็น “จิ๊กซอว์”ต่อเป็นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม เชื่อว่าภาพด้านบนนำมาจาก museu de marinha lisboa (พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือแห่งลิสบอน) ที่ที่นำเสนอแง่มุมประวัติศาสตร์การเดินเรือของโปรตุเกสในยุคนั้น ต่อจากนั้นไม่นาน เจ้าอาณานิคมขาใหญ่ ๆ แห่งยุโรป ได้นำกล้ากาแฟจากแอฟริกากระจายสู่โลกกว้างไปปลูกในดินแดนอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็น ชวา ไปจนถึง บราซิล




ส่วน Vista Alegre ชื่อเสียงเรียงนามโรงงานพอร์ซเลนแห่งแรกในโปรตุเกส ก่อตั้งเมื่อเกือบ ๆ 2 ศตวรรษที่แล้ว ได้ยินชื่อครั้งแรกเมื่อผมเดินทางท่องเมืองใหญ่ ๆ ในยุโรป จาก London, Paris, Frankfurt, Madrid สู่ Lisbon (2530) Vista Alegre กับตำนานผ่านร้อนหนาว กำลังขับเคลื่อนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพิ่งก่อตั้ง Vista Alegre Art and Development Centre (Centro de Arte e Desenvolvimento da Empresa – CADE) เพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาการออกแบบสัมพันธ์กับโลกช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากยุคสงครามเย็นสู่โลกาภิวัตน์ ขณะตั้งใจรักษามรดกทางวัฒนธรรมโปรตุเกสเอาไว้ เวลานั้น Vista Alegre ได้นำเสนอ แสดงผลงานใหม่ ณ เมืองใหญ่ในโลกตะวันตก ไม่ว่า New York หรือ Milan
ว่าไปแล้ว Vista Alegre เป็นชิ้นงานสำคัญอยู่ในตู้โชว์มานานทีเดียว อาจถือเป็นครั้งแรก ๆ ที่มีส่วนร่วม “เวลากาแฟ”@บ้าน ธรรมเนียมอันเป็นปกติ ให้มีความหมายพิเศษ
ขณะสถานการณ์ข้างนอกได้ปะทุสู่อีกขั้น ผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นสถิติใหม่ ขณะประชากรไทยได้ฉีดวัคซีนยังไม่ถึง 1% (ข้อมูล 16 เมษายน 2564)
วิรัตน์ แสงทองคำ คอลัมนิสต์ ธุรกิจอิสระ ด้วยวัตรปฏิบัติ 4 ทศวรรษกับผลงานนับพันชิ้น งานบางส่วนปรากฏใน https://viratts.wordpress.com/และ https://www.facebook.com/วิรัตน์-แสงทองคำ เบื้องหลังฉาก “เวลากาแฟ” ดำเนินไปเป็นกิจวัตร ด้วยเรื่องราวและความคิดที่แตกต่าง เพิ่งจะเปิดสู่วงกว้างครั้งแรก @Marketeer online
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



