นับตั้งแต่ต้นปี เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ขายหุ้น IPO ในรูปแบบ Small Lot First หรือการขายหุ้น IPO ผ่านการกระจายหุ้นและจัดสรรให้กับนักลงทุนรายย่อยมากที่สุด

จากเดิมที่การขายหุ้น IPO ส่วนใหญ่จะมีการจัดสรรหุ้นผ่านโบรกเกอร์ที่ Underwriter หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์

และโดยส่วนใหญ่ Underwriter จะเป็นผู้จัดสรรหุ้น IPO ให้กับลูกค้ารายหลักของตัวเองก่อน ทำให้หุ้น IPO โดยเฉพาะหุ้นที่มีอนาคตดี และคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลังเปิดตลาดกระจุกอยู่ที่นักลงทุนรายใหญ่มากกว่ารายย่อย

นักลงทุนรายย่อยที่เป็นประชาชนทั่วไป ที่มีเงินลงทุนในตลาดหุ้นไม่มากนัก อาจพลาดโอกาสการซื้อหุ้นในราคา IPO และต้องมารอซื้อหุ้นตอนเปิดตลาดวันแรกแทน

 

จนในปีนี้หุ้นร้อนแรงอย่าง OR สร้างปรากฏการณ์การจองหุ้น IPO ผ่าน Small Lot First ขึ้นมา ด้วยการซอยหุ้นเป็นกองเล็ก ๆ แจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจมีโอกาสเข้ามาเป็นเจ้าของหุ้น IPO อย่างเท่าเทียม และไม่สนใจการจองหุ้นก่อนหรือหลัง

การเปิดขายหุ้น IPO ในรูปแบบนี้ทำให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสในการซื้อหุ้น IPO และทำกำไรได้ในวันเปิดตลาด (ถ้าหุ้นนั้นได้รับการตอบรับจากนักลงทุน จากผลประกอบการ ทิศทางและโอกาสในอนาคต)

 

แต่สำหรับ OR และ TIDLOR ที่ทำ IPO แบบ Small Lot First ถือว่าราคาเปิดตลาดค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ

หุ้น OR ขาย IPO ที่ 18 บาทต่อหุ้น  เปิดตลาด 26.50 บาท

หุ้น TIDLOR ขาย IPO ที่ 36.50 บาทต่อหุ้น  เปิดตลาด 53.50 บาท

 

นอกจากราคาเปิดตลาดจะทำให้นักลงทุนรายย่อยพอใจแล้ว

Marketeer มองว่าการเปิดจองหุ้น IPO ในรูปแบบ Small Lot First นอกจากผลกำไรของรายย่อยแล้ว ยังมีอะไรมากกว่านั้น

 

มุมของ บมจ. ที่ทำ IPO ในรูปแบบ Small Lot First

1. การเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อหุ้น IPO ในรูปแบบ Small Lot First เป็นหนึ่งในการสร้างพลังการพูดถึงแบรนด์ สร้างการรับรู้กระจายเป็นวงกว้าง ทั้งในกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ถึง ทิศทางธุรกิจ ผลประกอบการ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน

การพูดถึงแบรนด์ของนักลงทุนรายย่อยนอกเหนือจากการสร้างการรับรู้ในด้านการลงทุนแล้ว ยังเป็นการสร้าง Brand Awareness ไปยังบุคคลทั่วไปจากการที่แบรนด์ถูกพูดถึงอยู่เสมอ นับตั้งแต่การเปิดจอง IPO ไปจนถึงการซื้อขายในวันแรก ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ซึ่งการกระจายข่าวสารของแบรนด์ในรูปแบบนี้เป็นการสร้าง Earn Media โดยที่แบรนด์ไม่ต้องเสียเงินซื้อสื่อในการสร้างพลังการรับรู้

แต่การสร้างแบรนด์ในรูปแบบ Earn Media ถ้าแบรนด์ไม่มีพลังที่ดีจริง อาจจะสร้างผลการรับรู้ทางลบได้เช่นกัน

2. สร้างแบรนด์เลิฟในฐานะแบรนด์ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถมาเป็นเจ้าของผ่านการซื้อหุ้นในราคา IPO ได้ แบบเท่าเทียมกัน

 

ในมุมของตลาดหลักทรัพย์และโบรกเกอร์ คือโอกาสการได้นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น และนักลงทุนที่เข้ามาจากการทดลองซื้อ IPO อาจจะเริ่มลองซื้อหุ้นอื่น ๆ ที่เป็นหุ้นหน้ากระดานด้วย และทำให้เกิดแรงซื้อขายที่คึกคักกว่าเดิม พร้อมกับสร้างรายได้ให้กับโบรกเกอร์ด้วยเช่นกัน  

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า มูลค่าการซื้อขายสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม – 7 พฤษภาคม 2564 (ไม่รวมตลาด MAI)

มีมูลค่าการซื้อจากนักลงทุนรายย่อย 3,568,491.82 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.94 ของมูลค่าการซื้อทั้งหมด

และมีมูลค่าการขาย 3,492,533.45 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45.94 ของมูลค่าการขายทั้งหมด

สำหรับจำนวนผู้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์มีการเติบโตเพิ่มขึ้น

โดยในเดือนมกราคมมีบัญชีในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งสิ้น 3,712,378 บัญชี ทำการซื้อขาย 557,643 บัญชี

กุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่ OR เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบัญชีในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งสิ้น 3,986,775 บัญชี ทำการซื้อขาย 700,537 บัญชี

มีนาคม บัญชีในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งสิ้น 4,204,524 บัญชี ทำการซื้อขาย 753,945 บัญชี

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online