วันนี้ข่าวการขยายธุรกิจใหม่ Life science” ธุรกิจอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ ของกลุ่ม ปตท. กำลังเริ่มมีบทบาทชัดเจนขึ้นอย่างน่าสนใจ

ทำไมองค์กรด้านพลังงานของประเทศ ที่มียอดขายเฉลี่ยปีละประมาณ 2 ล้านล้านบาท กำไรประมาณปีละ 1 แสนกว่าล้านบาท (ในปี 2563 ที่ผ่านมารายได้ลดเหลือเพียง 1.6 ล้านล้านบาท กำไร  3.7 หมื่นล้านบาท)

ถึงกล้าไดเวอร์ซิฟายไปยังธุรกิจใหม่ที่แตกต่างจากธุรกิจเดิม

มิติหนึ่งคือ เป็นเรื่องธรรมดาขององค์กรที่ต้องมองหาธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเสริมพอร์ตรายได้เดิมให้มั่นคงและแข็งแรงมากขึ้น

อีกมิติหนึ่ง คือวิสัยทัศน์ของผู้นำ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ต้องการให้ ปตท. เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงผ่านธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเป็น New S-Curve ให้กับประเทศ

 “Life science” คือทางที่ต้องเดิน 

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัทอินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Marketeer ว่าปตท. เลือกเอา Life science เป็นธุกิจใหม่ จาก 3 เหตุผลหลัก ๆ คือ

  1. ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Ageing society) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่กำลังต้องการอาหารและยาที่มีคุณภาพ
  2. ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความเข้มแข็งในเรื่องการแพทย์ มีโรงพยาบาลดี ๆ มากมาย แต่องค์ประกอบส่วนใหญ่ที่ช่วยในการรักษา เช่น ยา และเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง  ๆ ยังต้องอาศัยนำเข้าจากต่างประเทศ
  3. มีโรคติดต่อชนิดใหม่ต่าง ๆ โดยที่เราคาดการณ์ไม่ได้ ป้องกันไม่ทัน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญเป็นการมองเห็นโอกาสจากเทรนด์ของโลกที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 10% เป็นตลาดที่ใหญ่มากในอเมริกาและยุโรป แต่มีแนวโน้มว่าในอนาคตคนฝั่งเอเชียจะมี การใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นมากจากการก้าวสู่สังคมสูงวัย และเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น

แต่ “Life science” เป็นธุรกิจที่เป็นเรื่องยากซับซ้อน และต้องใช้คนเก่งที่เชี่ยวชาญ ต้องใช้เวลาในเรื่องการทำ R&D และเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิตคน 

อะไร คือความพร้อม และความมั่นใจของ ปตท.

ประเด็นนี้ บุรณินยอมรับว่า คือข้อสงสัยของผู้คนทั่วไปเพราะถ้าดูกันกว้าง ๆ จากธุรกิจน้ำมันก้าวมาสู่ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและยา ช่างแตกต่างกันคนละขั้ว   

แต่เขาอธิบายว่า  

“เรื่องยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือเรื่องอาหารสมัยใหม่ Plant-Based องค์ประกอบจะคล้าย ๆ กับสิ่งที่เราเคยมีประสบการณ์ เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความรู้ด้านเคมีเช่นเดียวกับธุรกิจปิโตรเคมี รวมทั้งความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐาน”

ดังนั้น จะว่า ปตท. เริ่มต้นธุรกิจนี้จากศูนย์คงไม่ใช่ เพียงแต่ ปตท. ต้องมีความรู้ในเรื่องชีววิทยา และความรู้ทางการแพทย์เสริมเข้ามา

ที่สำคัญ คือการเซตองค์กรใหม่ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ Life science ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน   

เป็นที่มาของบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ที่ ปตท. ถือหุ้น 100% เงินทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

อินโนบิกเป็นบริษัทเล็กในองค์กรใหญ่ที่ต้องการ Speed ในการทำงานเหมือนเทคคัมปานี จึงจำเป็นต้องดึงคนนอกที่มีความสามารถหลากหลายเข้ามาทำงานร่วมกัน

 ดังนั้น บอร์ดบริหารทั้งหมด 7 คน เป็นคนของ ปตท. เพียง 2 คน อีก 5 คนจึงเป็นคุณหมอและผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญการแพทย์ รวมทั้งอดีตซีอีโอบริษัทยาข้ามชาติ เข้ามาร่วมงาน  

 “ความพร้อมอีกอย่างหนึ่งของ ปตท. คือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนและกำลังคนที่จะสามารถรันต่อธุรกิจนี้ต่อไปในระยาวได้ เราหวังจะเป็นผู้ช่วยจุดประกาย เป็นผู้เริ่มต้นแต่สุดท้ายบริษัทอื่น ๆ ในประเทศไทยจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ที่มี Supply chain ตั้งแต่ต้นจนจบ ยาวมาก”

5 เดือนดีลสำคัญเกิดขึ้นต่อเนื่อง

เช่น การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท Lotus Pharmaceutical จำกัด บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาสามัญชั้นนำในตลาดเกาหลี สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

รวมทั้งจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อินโนบิก และ บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด (บริษัทย่อยที่ NRF ถือหุ้น 100%) ในสัดส่วนการถือหุ้นที่เท่ากันบริษัทละ 50% เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชแบบครบวงจร (Plant-based Protein)

โดยตั้งเป้าจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่แล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2564 ด้วยทุนจดทะเบียนประมาณ 300 ล้านบาท พร้อมจัดตั้งโรงงานผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนำเข้าชั้นสูงในไทย ด้วยกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี รวมไปถึงการพัฒนาร้านค้าต้นแบบคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2565

ในครึ่งหลังของปี 2564 อินโนบิกได้ตั้งเป้าหมายวิจัยพัฒนาและผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2565 เช่น ยา หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

ดีลต่าง ๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์การทำงานที่สำคัญในเรื่อง  Partnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ

“ต้องยอมรับว่าธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง เพราะต้องลงทุน ใช้เงินและใช้เวลาในเรื่อง R&D ค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกันวิจัยมาแล้วก็ยังมีโอกาสที่ผิดไปต่อไม่ได้ก็สูง แต่ถ้าถูกก็สามารถทำเงินได้มากเหมือนกัน ดังนั้น การทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

 “อินโนบิก” จะรุกใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ

1. ธุรกิจยา เน้นในเรื่องยาชีววัตถุที่จะมาแทนที่ยาเคมีต่าง ๆ รักษาโรคเฉพาะ เช่น มะเร็ง เบาหวาน สมอง

2. ธุรกิจอาหารและโภชนาการ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพต่าง ๆ ที่เน้นป้องกันการเกิดโรค

3. ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ ที่จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สิ่งที่ใช้แล้วหมดไป เช่น หน้ากาก ชุดป้องกันเชื้อโรค และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค

ในขณะที่ธุรกิจหลักด้านพลังงานน้ำมันนั้น บุรณินยอมรับว่าปัจจุบันรายได้อาจจะลดลงจากวิกฤตโควิด แต่ในระยะยาวนั้นเชื่อว่ายังมีความมั่นคงอีกมาก

“แต่ความท้าทายของธุรกิจน้ำมันอยู่ตรงที่ในโลกอนาคตสังคมต้องการพลังงานสะอาดมากขึ้น ดังนั้น ถ้าเรายังต้องอยู่ในธุรกิจนี้จะต้องมีต้นทุนที่แข่งขันได้ การหาธุรกิจใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่จำเป็น” 

เมื่อ Marketeer ถามว่า เมื่อ Life science เป็นธุรกิจที่เป็นนอนออยล์ ทำไมไม่ให้โอกาสโออาร์เป็นองค์กรที่เข้ามาบริหารจัดการ

 เขาอธิบายว่า

“วันนี้ที่ไม่ใช่โออาร์เป็นตัวหลัก เพราะเรามุ่งเน้นที่จะพัฒนาธุรกิจต้นน้ำ และเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสูงมาก  เพื่อจะต่อยอดไปยังธุรกิจด้านอาหารและยา ความพร้อมของ ปตท. จึงอาจมีมากกว่าโออาร์”   

เขายกตัวอย่างเรื่อง Plant-based Protein ที่ ปตท. จะพัฒนาคิดค้นผลิตวัตถุดิบตัวต้นน้ำออกมา ซึ่งต่อไปโออาร์รวมทั้งบริษัทเอสเอ็มอีไทยรายอื่น ๆ ก็สามารถนำไปผลิตอาหารต่าง ๆ ได้   

ในรูปแบบเดียวกับกลุ่มบริษัทปิโตรเคมีของ ปตท. ที่ผลิตเม็ดพลาสติกขายให้กับบริษัทอื่น ๆ เอาไปผลิตสินค้าต่าง ๆ

ดังนั้น ลักษณะการทำงานจะไม่ซ้ำซ้อนแต่จะเกื้อหนุนกันมากกว่า ที่สำคัญโออาร์ยังมีเอาต์เล็ตทั่วประเทศ และมีความรู้ความสามารถในเรื่องทำการตลาด ที่จะเข้ามาต่อยอดในการสร้างรายได้

ปัญหาและความท้าทายท่ามกลางเสียงเชียร์  

“ตั้งแต่เราเริ่มทำธุรกิจมา ขอบอกว่ากองเชียร์เยอะมากครับ หลายเสียงบอกว่า ปตท. น่าจะทำมาตั้งนานแล้ว ทุกคนมองว่าสิ่งที่เรากำลังทำจะเป็นการช่วยสนับสนุนธุรกิจนี้ที่มีอยู่แล้ว มากกว่าการเป็นคู่แข่งกัน ซึ่งก็เป็นกำลังใจที่สำคัญของทีมงาน ปตท.

แต่ความท้าทายก็คือ เรื่องอาหารและยา เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เวลา ต้องใช้องค์ความรู้ใหม่และสิ่งที่มีอยู่ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด   

“ยอมรับว่าองค์กรของเราในอดีตถนัดแต่ทำเรื่องใหญ่ ๆ แต่อาจจะไม่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเรามีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์อยู่แล้ว แต่พอเปลี่ยนมาทำเรื่องที่เล็กกว่าแต่ค่อนข้างยาก และเกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจ

สำหรับสเต็ปต่อไปจะสร้าง Brand Awareness ได้อย่างไร ทำอย่างไรให้ ปตท. มีตัวตน และคนในต่างประเทศรู้จัก เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าสามารถจับมือร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับบริษัทใหญ่ในต่างประเทศได้โอกาสที่จะได้เข้าถึงเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น การทำงานก็ง่ายและเร็วขึ้น

ภารกิจที่ท้าทายของผู้นำ

 Life science นอกจากเป็นความท้าทายขององค์กรแล้ว ยังเป็นภารกิจที่ท้าทายของ บุรณิน ในฐานะประธานกรรมการ บริษัทอินโนบิก (เอเชีย) ซึ่งที่ผ่านมาเขาเป็นผู้บริหารคนหนึ่งที่มีประสบการณ์มีความสามารถในเรื่องการตลาด และเรื่องพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ 

ตำแหน่งสุดท้ายของเขาที่โออาร์  ก่อนย้ายเข้ามารับตำแหน่งใหม่ที่ ปตท. เมื่อวันที่ 1 มิ.ย 63 คือรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร นวัตกรรม และความยั่งยืน และผู้อำนวยการโครงการเพิ่มระดับขีดความสามารถเพื่อศักยภาพในการแข่งขัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

เป็นการเข้ามารับตำแหน่งที่ท้าทายอย่างมาก เพราะเป็นช่วงวิกฤตของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ที่เจอ Double Effect ทั้งเรื่องสงครามราคาและปริมาณความต้องการที่ลดลงจากวิกฤตโควิด-19

แล้วยังต้องมารับผิดชอบกับธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจพลังงานแบบเดิม ตามวิสัยทัศน์ใหม่ที่ว่า “powering life with future energy and beyond” อีกด้วย

ครั้งนี้เขาจะทำการตลาดสร้างแบรนด์และสื่อสารกับผู้คนในเรื่องยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่าย ๆ และ Make it Happen  ได้อย่างไร

เป็นเรื่องที่ท้าทายจริง ๆ



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน