กว่าจะขึ้นมาเป็นบริษัทใหญ่ที่คนทั่วโลกรู้จักย่อมต้องผ่านอะไรมากมาย ทั้งความสำเร็จและล้มเหลว แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนและเพื่อให้ไปข้างหน้าได้คล่องตัวกว่าเดิม สถานะบริษัทใหญ่ก็กลายเป็นอดีตแม้แบรนด์หลัก ๆ ยังเป็นที่จดจำได้อยู่ก็ตาม เหมือน 3 แบรนด์ยักษ์อย่าง J&J GE และ Toshiba ที่เพิ่งประกาศแตกบริษัท  

การประกาศแยกตัวของทั้ง 3 บริษัทเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันจนแทบเหมือนนัดกันมา แต่ความจริงมีข้อแตกต่าง ทั้งเรื่องที่มา ปัญหาที่เผชิญก่อนหน้านี้  และเรื่องที่ต้องจับตามองของแต่ละบริษัทต่อจากนี้ อยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง รู้ได้จากต่อไปนี้

 

J&J: ยาตามใบสั่งควง Med Tech ขึ้นมาเป็นพระเอก

หนึ่งปีมี 365 วัน ต้องมีสักวันที่เราเกิดป่วยขึ้นมา ทั้งแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างตัวร้อนเป็นไข้หรือมีดบาด ไปจนถึง ฉีดวัคซีน หรือป้องกันตัวจากโรคร้ายคุกคามโลก อย่างการระบาดของโควิด-19 เช่นในปัจจุบัน Johnson & Johnson (J&J) ก็มียาและเวชภัณฑ์มากมายไว้รองรับความต้องการเหล่านี้  

นับจากก่อตั้งโดย Robert Wood Johnson และน้องชายอีกสองคนเมื่อปี 1886 J&J ก็ขยายจนเป็นแบรนด์ใหญ่และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกผ่านครีม สบู่เด็กและแป้งชื่อเดียวกับแบรนด์

โดยมียาสามัญหาซื้อได้ทั่วไปอย่างกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ เช่น Tylenol และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนตัวอย่างน้ำยาบ้วนปาก Listerine เป็นกำลังเสริม  

 

แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่เรียกรวม ๆ ว่า Consumer Product เพราะผู้บริโภคใช้อยู่เป็นประจำนั่นเอง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลเสียมากมาย

เหมือนกรณีของแป้งเด็กชื่อเดียวกับแบรนด์ ที่สำนักข่าวใหญ่อย่าง Reuters แฉว่ามีสารก่อมะเร็ง นำมาสู่การฟ้องร้อง เรียกค่าปรับรวมแล้วก็เป็นเงินก้อนใหญ่ และเลิกขายในสหรัฐฯ กับแคนาดาไปแล้ว

นอกจากคดีความแล้ว Consumer Product ของ J&J ก็ทำยอดขายได้ไม่ดีนัก  โดยปีนี้ J&J คาดว่าจะอยู่ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 490,000 ล้านบาท) เพิ่มมาเล็กน้อยจาก 14,000 (ราว 457,000 ล้านบาท)

ตรงข้ามกับกลุ่มยาที่ใช้ใบสั่งที่ขายอยู่เฉพาะในร้านขายยา เวชภัณฑ์และวิทยาการทางการแพทย์ (Med Tech) รวมไปถึงวัคซีนที่แม้ไม่ดังเท่า และมีคดีความฟ้องร้องอยู่บ้าง แต่ก็ทำเงินได้มากกว่า

คาดว่าปีนี้ผลิตภัณฑ์ในส่วนนี้จะทำเงินได้ 77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มจาก 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท)

นี่จึงนำมาสู่การแยกออกเป็น 2 บริษัทคือ ยาตามใบสั่ง เวชภัณฑ์และวิทยาการทางการแพทย์ กับ Consumer Product ซึ่งจากยอดขายที่มากมายกว่าและมีแนวโน้มที่ดีกว่าบริษัทแรก จึงยังจะใช้ชื่อเดิมต่อไป

ส่วนบริษัทหลังซึ่งมี 4 แบรนด์ที่คนทั่วโลกรู้จัก เช่น Tylenol และ Listerine ยังอยู่ระหว่างหาชื่อใหม่

J&J  มั่นใจว่าการแตกบริษัทจะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ดีขึ้น และรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น โดยคาดว่าการแตกบริษัทครั้งนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในปีครึ่งถึงสองปี

ด้านนักลงทุนในสหรัฐฯ ตอบรับต่อข่าวนี้ในทางที่ดีเพราะเห็นว่าการบริหารจะคล่องตัวขึ้น โดยเมื่อ 12 พฤศจิกายนที่ข่าวแตกบริษัทเผยแพร่ออกมา หุ้น J&J ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ก็ขยับขึ้นมา 2%  

ที่ต้องจับตามองจากนี้คือ J&J ที่กลายเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ วัคซีน และ Med Tech เต็มตัวจะโตขึ้นอีกขนาดไหนในยุคที่คนมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และโรคภัยไข้เจ็บกับโรคระบาดไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ส่วนกลุ่ม Consumer Product ก็คงถูกจับตามองเช่นกัน โดยอันดับแรกคือชื่อใหม่ที่จะใช้ว่าจะเป็นชื่อเดียวกันหมดหรือชื่อบริษัทใหม่เพื่อให้แต่ละแบรนด์ยังใช้ชื่อเดิมได้

 

GE: แยกเป็น 3 ตามธุรกิจที่ยังมีอนาคต

เพราะเป็นคนแรก ๆ ที่คิดค้นหลอดไฟส่องสว่างพาทั่วโลกยังใช้ชีวิตยามค่ำคืนได้อย่างปลอดภัย Thomas Edison จึงเป็นทั้งนักประดิษฐ์ที่คนทั่วโลกรู้จัก ซึ่ง GE ก็พัฒนามาจากหลอดไฟของ Thomas Edison นั่นเอง

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว GE พัฒนาเป็นแบรนด์ยักษ์สัญชาติอเมริกันมีธุรกิจในเครือมากมาย โดยเมื่อปี 2001 มูลค่าตามราคาตลาดของบริษัท (Market Cap) สูงถึง  500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16.3 ล้านล้านบาท) เป็นหนึ่งบริษัทที่ Market Cap สูงสุดในโลก

แต่จากนั้นยักษ์ตนนี้ก็เริ่มมีขนาดเล็กลง ท่ามกลางการขาดทุนของบริษัทในเครือและปัญหาเศรษฐกิจ จนกระทั่งธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และหลอดไฟ ที่เคยเป็นหัวใจสำคัญและเชื่อมโยงกับจุดเริ่มต้นของแบรนด์ถูกขายออกไป

มาล่าสุดในสัปดาห์เดียวกับที่ J&J ประกาศแยกบริษัท GE ก็ทำแบบเดียวกัน ด้วยจำนวนที่มากกว่า คือแยกเป็น การบิน พลังงาน และ Med Tech โดยบริษัทแรกจะตั้งเสร็จก่อนในปี 2023

แม้ GE เชื่อว่านี่จะทำให้แต่ละบริษัทคล่องตัวขึ้นตามธุรกิจที่เชี่ยวชาญ แต่การแตกออกเป็นสามก็ทำให้แบรนด์ยักษ์กลายเป็นอดีต

 

Toshiba: แยกร่างเพื่อพ้นยุคมืด

หากสหรัฐฯมี Thomas Edison และ GE เป็นนักประดิษฐ์และยักษ์เทคโนโลยีที่ภูมิใจ ญี่ปุ่นก็มี ทานากะ ฮิซาชิเกะ กับ Toshiba เป็นนักประดิษฐ์และยักษ์เทคโนโลยีที่คนในชาติภูมิใจ

ทานากะ ฮิซาชิเกะ

จากจุดเริ่มต้นในการผลิตหลอดไฟ Toshiba ก็พัฒนาเป็นแบรนด์ดังที่คนทั่วโลกรู้จักและยุคหนึ่งเคยใช้สโลแกนทำการตลาดในไทยว่า “Toshiba นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต”  

ณ จุดสูงสุดเมื่อปี 2007 Toshiba คือหนึ่งในแบรนด์โน้ตบุ๊กระดับเบอร์ต้น ๆ ของโลก ทำยอดขายได้มากถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 933,000 ล้านบาท)

แต่นับจากปี 2011 เป็นต้นมากลับทรุดลงเรื่อย ๆ และยังตั้งตัวไม่ได้เสียที จากปัญหาและเรื่องฉาวจนมีข่าวว่าอาจตกเป็นแบรนด์ของกลุ่มทุนต่างชาติ

ท่ามกลางขาลงดังกล่าวก็เกิดเรื่องวุ่นๆ ขึ้นที่ Toshiba อีก หลัง Effissimo กลุ่มผู้ถือหุ้นสายนักกิจกรรม (Activist Investor) แตกคอกับบอร์ดบริหาร เรื่องกลุ่มทุนที่จะเข้ามาซื้อบริษัท โดยปรากฏว่าฝ่ายแรกชนะและสามารถบีบจน CEO ต้องลาออกไป

ล่าสุด Toshiba ก็ประกาศแยกออกเป็นสามบริษัท คือ โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ (Infrastructure) เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิปความจำ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า Effissimo ต้องมีส่วนต่อการตัดสินใจครั้งนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สิ่งที่ต้องจับตามองจากนี้คือ 3 บริษัทใหม่เหล่านี้จะไปต่อได้ไกลแค่ไหนและจะพา Toshiba พ้นยุคมืดได้หรือไม่ 

ขณะเดียวกันต้องจับตาดูด้วยว่าจะมีบริษัทญี่ปุ่นใหญ่ ๆ แห่งไหนอีก แตกบริษัทหรือปรับโครงสร้างตามคำแนะนำของกลุ่ม Activist Investor เพราะ  Toshiba หนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นเกือบ 170 แห่ง ที่มี Activist Investor เป็นผู้ถือหุ้น ทั้งที่เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนมีอยู่เพียง 11 แห่งเท่านั้น

และสถาการณ์ Olympus บริษัทใหญ่ญี่ปุ่นอีกแห่งที่ทรุดมาหลายปี มีสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ซึ่งฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญคือ Activist Investor นั่นเอง/cnn, qz, wikipedia, theguardian, yahoofinance



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online