ปัญหาที่ทุกบริษัทต้องเจอเมื่อดำเนินธุรกิจมาถึงจุดหนึ่งคือจะไปต่ออย่างไร เพราะถ้าไม่ขยับสู่ทิศทางใหม่ ๆ ก็อาจตันหรือโดนคู่แข่งทิ้งห่างไปอีก โดยถ้ายิ่งคิดนานนอกจากการดำเนินธุรกิจที่อยู่แดนบวกมาหลายปี ก็อาจไม่เพิ่มขึ้นมากอย่างเคย ซ้ำร้ายอาจติดลบจนขาดทุนอีกด้วย
ปี 2018 Riot Games เข้าใจสถานการณ์นี้ดี เพราะแม้ League of Legends (LoL) เกมแรกและเกมเดียวของบริษัท (ณ ขณะนั้น) ยังทำเงินได้มากถึง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 55,400 ล้านบาท) แต่ก็ร่วงลงมาจากเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น
สาเหตุมาจากตลาด Gaming ทวีความดุเดือด มีคู่แข่งมากมาย ซึ่งหนึ่งในเกมคู่แข่งที่มาหั่นเม็ดเงินให้ลดลงคือ Fortnite
เจอโจมตีเข้าแบบนี้ Riot Games ก็นั่งนิ่ง ๆ ต่อไปไม่ได้ นี่เองเป็นที่มาของการนำ Content จาก LoL มาต่อยอดเป็น Product มากมาย ทั้งหนังสือการ์ตูน เพลง วง K-pop เสมือน
รวมไปถึง Arcane ซีรีส์ใน Netflix ที่ฮิตไปทั่วโลกขนาดที่โค่น Squid Game ซีรีส์เกาหลีใต้ที่ดังระดับปรากฏการณ์ของปีนี้ลงได้
แต่เชื่อหรือไม่ LoL เคยเป็นเกมที่ทีม Programmer ของ Riot Games เองร้องยี้
เกมยอดแย่สู่ Gaming Content หมื่นล้านต้นทางซีรีส์ฮิตโค่นแชมป์
ย้อนไปปี 2006 Brandon Beck กับ Marc Merrill สองนักศึกษาหนุ่มคณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัย Southern California ตัดสินใจมาแชร์ห้องเป็น Roommate กัน เพื่อปั้นฝันตั้งบริษัทเกมในชื่อ Riot Games ที่ก็ต่อยอดมาจากความหลงใหลในเกมนั่นเอง แม้ทั้งคู่ไม่ใช่ Programmer และเขียน Code ไม่เป็นเลยก็ตาม
สองผู้ก่อตั้ง Riot Games
Riot Games กดปุ่ม Start เริ่มธุรกิจด้วยเงินก้อนแรก 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 48 ล้านบาท) ที่ทั้งคู่รวบรวมมาจากนักลงทุนและหยิบยืมคนในครอบครัว Programmer กลุ่มเล็ก ๆ และออฟฟิศเก่าโกโรโกโส ในเมือง Santa Monica ของสหรัฐฯ
สองผู้ก่อตั้งเชื่อว่าคอนเซ็ปต์ Freemium ที่ให้คอเกมได้เล่นฟรีแล้วบริษัททำเงินจากการขาย Item ในเกมน่าจะพาบริษัทไปข้างหน้าได้
ปลายตุลาคมปี 2009 LoL ก็ปล่อยให้คอเกมได้เล่นกันแต่กว่าจะผ่านด่านแรกทางธุรกิจมาได้ก็ต้องเจอปัญหามากมาย
ทั้งสภาพคล่องและความเห็นไม่ตรงกันของทีมงาน ส่วนตัวเกมก็แย่ขนาดที่ Programmer เองยังไม่อยากเล่น จนหนึ่งในผู้ก่อตั้งหวังแค่มีคนเล่นแค่สัก 20,000 คนเพื่อคืนทุน
แม้สิ้นปี 2009 Riot Games ทำเงินได้ 1.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 42 ล้านบาท) ยังไม่คืนทุน แต่ Brandon Beck กับ Marc Merrill และทีม Programmer ที่เหลือยังฮึด ตัดสินใจสู้ต่อ ด้วยการยกเครื่องเกมขนานใหญ่
ความทุ่มเทดังกล่าวผลิดอกออกผลเป็นผลประกอบการ 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,770 ล้านบาท) ในปี 2011 จนไปเตะตา Tencent เปิด Deal ซื้อ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13,000 ล้านบาท) ซื้อ Riot Games ไปเป็นค่ายเกมใต้ชายคาในปีเดียวกันตามแผนรุกวงการเกมออนไลน์ที่อนาคตเริ่มสดใส
ถัดจากนั้น Riot Games ก็ ‘อัปเวล’ ขึ้นตามลำดับ โดยปี 2013 LoL ทำเงินเพิ่มเป็น 614 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20,000 ล้านบาท)
และเพิ่มอีกเป็น 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 68,500 ล้านบาท) ในปี 2015 ท่ามกลางตลาดเกมออนไลน์ที่ขยายตัว มีการจัดลีกกันอย่างคึกคัก ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น E-sports นั่นเอง
ปี 2017 LoL ยังทำเงินได้มากถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 65,200 ล้านบาท) แน่นอนนี่เป็นตัวเลขที่มาก แต่กลับทำให้ผู้บริหารของ Riot Games ต้องกุมขมับ
เพราะเพิ่มจากเมื่อปี 2015 เพียง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,260 ล้านบาท) และเทียบกับปี 2016 ลดลงมากถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 29,000 ล้านบาท)
ปี 2018 สถานการณ์แย่ลงอีก LoL ทำเงินได้ 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 55,000 ล้านบาท) Riot Games จึงอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป และต้องหาทางแก้ไข
ทางแก้ที่ว่าคือการนำ Content จาก LoL ไปต่อยอด เริ่มด้วยการจับมือกับ 1 ใน 2 ยักษ์ใหญ่วงการการ์ตูน Super Hero ออกหนังสือการ์ตูน ตามด้วย เพลงจาก K/DA วง K-pop หญิงล้วนเสมือน และ True Damage วงแดนซ์-แร็ปเสมือน
ปีต่อมาก็หลากหลายยิ่งขึ้น มีทั้งเกมไพ่แบบดิจิทัลรวมไปถึงแผนทำซีรีส์ที่จับมือกับสตูดิโออนิเมชั่นฝรั่งเศส
ข้ามมาพฤศจิกายนปีนี้ คอเกมและคอซีรีส์ทั่วโลกก็ได้ดู Arcane ซีรีส์ต่อยอดมาจาก LoL ซึ่งมาสัปดาห์ละ 3 ตอน
ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมาก จนเมื่อ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขึ้นเป็นซีรีส์ยอดผู้ชมสูงสุดใน 52 ประเทศทั่วโลก พร้อมทำให้ Squid Game ต้องเสียแชมป์
จากนี้คาดว่าจะเห็น Content ต่อยอดจาก LoL อีกมาก นี่คงทำเงินให้ Riot Games อีกก้อนใหญ่ และอาจได้เห็น LoL ใน Metaverse
ส่วน Arcane คงมีซีซั่นสองตามมา และอาจเป็นเรื่องแรกของอีกหลายๆ เรื่อง โดยในอนาคต Riot Games คงจะพัฒนาสู่ Content Platform ที่มีเกมออนไลน์และคาแรกเตอร์เป็นต้นธาร/forbes, cnbc, washingtonpost, wikipedia, newzoo, hollywoodreporter, theverge, flixpatrol
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ