Jack Dorsey หลากสีสันที่ทำให้ชีวิตพลิกผันจากลูกจ้างสู่เก้าอี้ซีอีโอ Twitter

กว่าทศวรรษที่ผ่านมาเรื่องราวชีวิตของผู้นำบริษัทไอทีหลายคนได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เช่น Steve Jobs แห่งแอปเปิล, Bill Gates แห่งไมโครซอฟท์, Mark Zuckerberg แห่งเฟซบุ๊ก, Elon Musk แห่งเทสลา, ฯลฯ

แต่ยังมีอีกชื่อหนึ่งคือ Jack Dorsey ที่อาจจะยังถูกพูดถึงน้อยไปสักหน่อย ทั้งที่เป็นถึงซีอีโอ Twitter มา 6 ปี  และมีบุคลิกโดดเด่นทั้งการเจาะจมูก ไว้ผมแนวพังก์ ไว้เครายาว  และแต่งตัวคล้ายนักดนตรีร็อกมากกว่าผู้บริหารบริษัทใหญ่

อย่างไรก็ตาม ข่าวการประกาศลงจากตำแหน่ง CEO ทวิตเตอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ทำให้ชื่อ แจ๊ค ดอร์ซีย์ เป็นที่สนใจ ซึ่งเราจะมาย้อนเส้นทางการเติบโตของเขาคนนี้ ซึ่งมีทั้งเรื่องราวดราม่าและสีสันอยู่ไม่น้อย

เริ่มต้นที่ Twitter ด้วยตำแหน่งพนักงานโปรแกรมเมอร์

เดิมทีนั้น บริษัท Twitter เคยมีชื่อว่าบริษัท Odeo ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2005 โดยชายชื่อ Evan Williams (หรืออีกชื่อว่า Ev Williams) ที่ช่วงนั้นเพิ่งรวยจากการขายกิจการ Blogger.com ให้กูเกิลมา

ทีมงานยุคแรก ๆ นอกจาก Ev ก็มี Biz Stone, Noah Glass, และก็ Jack Dorsey ที่รับหน้าที่เป็นโปรแกรมเมอร์คนหนึ่งเท่านั้น

ยุคแรก ๆ ของ โอดีโอ้ นั้นทำเว็บรวมคลิปเสียงรายการต่าง ๆ ไว้ฟังออนไลน์ แต่ก็พ่ายแพ้ต่อบริการ podcast ของยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล ทำให้ เอฟ วิลเลียมส์  ต้องสั่งระดมสมองลูกน้องเพื่อค้นหาธุรกิจใหม่

ผลคือไอเดียของ โนอาห์ กลาส ก็ได้รับการคัดเลือก นั่นคือเว็บไซต์ที่ให้ทุกคนโพสต์ข้อความสั้น ๆ ได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร และเลือกได้ว่าจะติดตาม (follow) อ่านข้อความจากใครบ้าง

ซึ่งนั่นก็คือกำเนิด twitter.com ในเดือนมีนา 2006 โดยผู้ทำหน้าที่เขียนโค้ดสร้างเว็บ Twitter เวอร์ชั่นแรกก็คือ แจ็ค ดอร์ซีย์ นั่นเอง

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าบริษัทพบทางตัน ต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่มากู้ชีพล่ะก็ การเปิดกว้างให้ทีมงานมาช่วยกันระดมสมองและลองทำดู ก็อาจจะได้ผลดีกว่าที่ผู้นำจะคิดเองคนเดียว

ก้าวขึ้นสู่ซีอีโอครั้งแรก

เมื่อทวิตเตอร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  แจ็ค ดอร์ซีย์ ก็กลายเป็นดาวเด่นในบริษัท และได้รับความไว้วางใจจาก เอฟ วิลเลียมส์ ให้เป็นซีอีโอของบริษัททวิตเตอร์ (ที่แยกจากโอดีโอ้แล้วแถมได้หุ้น 20%

…ส่วนผู้ก่อตั้งตัวจริงอย่าง เอฟ ซึ่งผู้ถือหุ้น 70% ก็ถอยขึ้นไปเป็นประธานกรรมการบริษัทแทน

จากนั้นด้วยวิถีสตาร์ตอัพ  ทำให้ช่วงปี 2007 บริษัททวิตเตอร์ต้องระดมทุนมหาศาล จากนักลงทุนหลากหลายในซิลิคอนวัลเลย์ จนทำให้การถือหุ้นส่วนใหญ่ไปอยู่ในมือนักลงทุนและกองทุนเหล่านี้ รวมแล้วกลายเป็นมีมากกว่าสัดส่วนที่ 2 ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Ev และ Jack มีอยู่เดิมไปมาก

หลุดจากเก้าอี้  แต่ยังมีตำแหน่งเป็น “brand person”

จากนั้นเมื่อทวิตเตอร์มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มอย่างรวดเร็ว จนขยายระบบเซิฟเวอร์ไม่ทัน ทำให้ระบบล่มถี่ยิบ  แต่ CEO แจ็คกลับไม่ค่อยอยู่ออฟฟิศ และใช้เวลาไปเรียนโยคะ, เรียนออกแบบเสื้อผ้า, ฯลฯ

ยังไม่พอ  มีการพบว่าระบบเซิฟเวอร์ของทวิตเตอร์ยุคนั้น ไม่มีการสำรองแบ็กอัปข้อมูลใด ๆ ถ้าข้อมูลหายเมื่อไร ก็เป็นอันจบเห่ทั้งระบบ

นั่นทำให้แจ็คถูกคนอื่น ๆ มองว่าไม่ทุ่มเทเพียงพอ ต่อมา เอฟ วิลเลียมส์ จึงโน้มน้าวผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลายรายให้ลงมติปลด แจ็ค ดอร์ซีย์ ออกจากตำแหน่งซีอีโอได้สำเร็จในช่วงกลางปี 2008 แล้วจากนั้น เอฟ ก็มาเป็นซีอีโอเอง

อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้นทั้งชื่อ Ev Williams และ Jack Dorsey กำลังอยู่ในสปอตไลท์ ถูกสัมภาษณ์และไปออกงานต่าง ๆ มากมาย เกิดเป็น “person branding” ที่พาทวิตเตอร์โด่งดัง ดึงดูดทั้งผู้ใช้ใหม่ ๆ และนักลงทุนใหม่ได้เรื่อย ๆ

ซึ่งถ้าความขัดแย้งภายในระหว่าง 2 คนถูกเผยออกไป ก็อาจเกิดผลร้ายต่อการระดมทุนครั้งใหม่ ๆ และพาให้ธุรกิจที่กำลังไปได้ดี กลับต้องสะดุดลงได้

ฉะนั้นทุกคนจึงต่างปกปิดความขัดแย้งไว้เป็นความลับ และขยับแจ็ค ดอร์ซีย์ ขึ้นไปเป็นประธานบริษัท โดยเป็นตำแหน่งลอย ไม่มีอำนาจใด ๆ เหลืออยู่เลย

แต่หลังจากนั้น ท่านประธานแจ็คกลับยิ่งขยันออกงานและออกสื่อกว่าเดิม  โดยเป็นการ โชว์เดี่ยว เสมือนว่าตัวเองยังเป็นผู้นำทวิตเตอร์  ไม่สนใจผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่น ๆ ที่ได้แต่ทนเก็บความไม่พอใจไว้

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการใช้ “person brand” แม้บางครั้งจะได้ผลดี แต่ถ้ามีความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงขึ้นในบริษัท  ก็อาจสร้างความปั่นป่วนสับสนได้

ก่อตั้ง Square บริษัทของตัวเองอย่างแท้จริง

ช่วงปี 2009 แจ๊ค ดอร์ซีย์ ก็ได้ลดเวลาจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์หรือ ประธานลอยของทวิตเตอร์  ไปก่อตั้งบริษัทใหม่ของตัวเองอย่างแท้จริง  นั่นคือ Square

ผลิตภัณฑ์ของสแควร์ก็คืออุปกรณ์รูดบัตร ชิ้นเล็ก ๆ เสียบต่อได้กับมือถือหรือแท็บเล็ต ช่วยให้ร้านค้ารับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมีเครื่อง EDC แบบเก่าให้ยุ่งยาก

และจากนั้น แม้สแควร์จะไปได้ดี แต่เมื่อมีโอกาสกลับไปมีอำนาจในทวิตเตอร์อีกครั้ง   แจ็ค ดอร์ซีย์ก็ไม่พลาดโอกาส

Jack Dorsey ชิงอำนาจกลับ

หลังจากนั้น ในช่วงปี 2010 เมื่อทวิตเตอร์มีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาเพิ่มอีกหลายราย  ซึ่งส่วนใหญ่นักลงทุนและกองทุนเหล่านี้ก็เฝ้ารอวันที่บริษัทจะได้เข้าตลาดหลักทรัพย์  เพื่อที่มูลค่าหุ้นจะได้เพิ่มขึ้นมหาศาล

… แต่บริษัททวิตเตอร์ช่วงนั้นกลับมีอัตราเติบโตชะลอลง และไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์เสียที

แจ็ค ดอร์ซีย์ จึงได้เข้าหาและรวบรวมหุ้นส่วนเหล่านั้น หว่านล้อมว่าการบริหารของ เอฟ นั้น มีสไตล์เชื่องช้า ไม่เหมาะที่จะพากิจการไปถึงฝันของนักลงทุนได้

จนสุดท้าย แจ็ค ก็รวบรวมหุ้นส่วนใหญ่จนล้มเอฟลงจากตำแหน่งซีอีโอได้สำเร็จ  แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่ได้นั่งแทนที่ในทันที  โดยตำแหน่งไปอยู่กับ Dick Costolo อดีตหนึ่งในผู้บริหารกูเกิลมานั่งเป็น CEO ทวิตเตอร์ถึง 5 ปี  ก่อนที่ Jack Dorsey เองจะขึ้นเป็น CEO ในที่สุดเมื่อปี 2015

เรื่องนี้ถ้ามองในมุมเจ้าของดั้งเดิมอย่าง Ev Williams ก็ถือเป็นบทเรียนว่าถ้าเร่งขยายธุรกิจของตัวเองโดยใช้เงินของคนอื่น ยิ่งมากและยิ่งเร็วเท่าไร  ก็จะทำให้สัดส่วนถือหุ้นตัวเองลดลงฮวบฮาบ จนสุดท้ายอาจไม่เหลืออำนาจทำธุรกิจที่สร้างมาหลุดมือไปก็ได้

2015 – 2021 เจ็ดปีแห่งการควบซีอีโอ 2 บริษัท

ถ้าประเมินจากการนำ Twitter ที่ตัวเองบริหารเข้าตลาดหุ้นอเมริกาได้ในปี 2013 และนำ Square กิจการของตัวเองเข้าตามไปในปี 2015 ได้ และบริหารให้เติบโตทั้งผลประกอบการและราคาหุ้น ก็ถือว่าสอบผ่านในระดับหนึ่ง

ซึ่งในปี 2013 ที่ทวิตเตอร์เข้าตลาดหุ้นนี้ ในวันแรกก็มีมูลค่ากิจการในตลาดหุ้น 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์  ทำให้แจ็คซึ่งมีสัดส่วนถือหุ้น 5% ในตอนนั้นมีสินทรัพย์ราว $1 พันล้านดอลลาร์ ขึ้นทำเนียบ billionaire อเมริกันตั้งแต่นั้นมา

ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงของทวิตเตอร์ในยุคแจ็ค ก็เช่นการไม่นับลิงก์เว็บเข้าไปในลิมิต 140 ตัวอักษรต่อโพสต์ (ทวีต) เมื่อปี 2016  และการขยายลิมิตจากเดิม 140 ตัวอักษรนี้ขึ้นเท่าตัวไปเป็น 280 ตัวอักษรในปี 2017

ลงจากเก้าอี้ที่ Twitter

29 พฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา Jack Dorsey ก็ประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอของทวิตเตอร์ เหลือไว้แค่เก้าอี้คณะกรรมการบริษัท ซึ่งจะหมดวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นปีหน้า 2022

ส่วนซีอีโอคนใหม่ของทวิตเตอร์จะเป็น Parag Agrawal ซึ่งเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ( CTO; Chief Technology Officer) มา 10 ปีจะขึ้นมาเป็นซีอีโอแทน

เหตุผลที่แจ็คให้ไว้ในแถลงการณ์ ก็คือเพราะมองว่าถึงเวลาที่เหมาะสมที่ ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างเขา จะส่งผ่านงานให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างแท้จริง

ซึ่งผู้ถูกเลือกก็คือ Parag Agrawal ซึ่งเป็นรองประธานฝ่ายเทคโนโลยีที่ทำงานหนักในทวิตเตอร์มาถึงสิบปี และเป็น CTO มาแล้ว 4 ปี

Parag Agrawal คนนี้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และปริญญาตรีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย

ถือว่าแบ็กกราวด์ของนาย Parag คนนี้แน่นปึ้กทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ  ต่างกับแจ็คซึ่งเรียนด้านศิลปะ ลาออกจากมหาวิทยาลัย และเรียนรู้การพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยตัวเอง

แต่อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งแจ็คไม่ได้ประกาศไว้  แต่สื่อคาดกันว่าน่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริง ก็คือเพื่อไปทุ่มเทเวลาให้บริษัทของตัวเองคือ Square อย่างเต็มที่

โดยคาดกันว่าจากธุรกิจเดิมของ บ. Square ที่มีแต่ระบบ online payment สำหรับร้านค้า ก็อาจมีโปรเจกต์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเงินคริปโตออกมา เพราะว่าระยะหลังแจ็คได้ทวีตข้อความเกี่ยวกับเงินคริปโตในทางบวกอยู่บ่อยครั้ง

ปัจจุบัน Jack Dorsey ยังอายุแค่ 45 ปี  การลงจากเก้าอี้หนึ่งในสองที่นั่งอยู่ครั้งนี้  จึงไม่น่าจะเป็นการค่อย ๆ หายไปจากหน้าข่าวไอทีและธุรกิจโลกแต่อย่างใด  

ตรงกันข้ามอาจมีสิ่งใหม่ ๆ  ข่าวใหญ่ ๆ ออกมามากกว่าเดิม จนทำให้ชื่อเสียงของ แจ็ค ดอร์ซีย์ ขึ้นชั้นไปใกล้เคียง สตีฟ จ๊อบส์ ซึ่งเป็นไอดอลของแจ็คได้ในสักวันหนึ่งก็เป็นได้

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 

 

 

 

 

                 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online