สถานการณ์โควิดไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานของทั่วโลกเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยหนุนให้ทุกกิจกรรมที่สามารถทำผ่านออนไลน์ได้เติบโต หลักฐานที่เห็นได้ชัดคือยอดขายของ E-Commerce ที่พุ่งพรวด และการพากันทำ IPO ของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อย่างแอปเรียกรถแท็กซี่จีน (Didi) และ แอปหาคู่เน้นกลุ่มผู้หญิง (Bumble

อีกอย่างที่สามารถทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เช่นกัน และขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดคือการซื้อ-ขาย สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ คริปโตหลายสกุล ไปจนถึง NFT โดยอย่างหลังต้องบอกว่ากลายเป็นข่าวดังได้ทุกครั้งที่มีการนำออกมาประมูลขาย  

Everydays ภาพแบบ NFT ทำยอดประมูลที่ Christie’s เมื่อช่วงมีนาคมได้ถึง 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,327 ล้านบาท) ต่อมาช่วงมิถุนายน Sotheby’s บริษัทประมูลใหญ่อีกแห่งที่เป็นคู่แข่งกันก็รุกตลาดบ้าง แม้ตามมาห่าง ๆ ด้วยยอดประมูล NFT ในเวลาเพียง 3 วันได้ 16.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 562 ล้านบาท)

แต่ในจำนวนนี้มีรหัสต้นแบบ (Source Code) World Wide Web ของ Tim Bersners-Lee หนึ่งในผู้คิดค้นอินเทอร์เน็ต ที่ทำยอดประมูลได้ 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 177 ล้านบาท) รวมอยู่ด้วย

ด้าน Philips บริษัทประมูลใหญ่เป็นอันดับ 3 ในตลาดก็ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า NFT มียอดประมูลเพิ่มขึ้น โดยทั้งหมดมีส่วนสำคัญให้ปีนี้บริษัทประมูลทั้งสามแห่งมียอดประมูล งานศิลป์และของสะสมทุกประเภท ไม่ว่าในรูปแบบที่จับต้องได้หรือดิจิทัลแบบ NFT รวมกันสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 505,000 ล้านบาท)  

 

สัดส่วนน้อยแต่มีนัยสำคัญ เป็นอนาคตที่จับต้องได้และโดนใจคนรุ่นใหม่

Sotheby’s เผยว่าปี 2021 มียอดประมูลขายสินทรัพย์ทุกประเภทรวมกันได้ 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 244,000 ล้านบาท) ถือว่ามากสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1744 ในจำนวนนี้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,350 ล้านบาท) มาจาก NFT ซึ่งผู้ประมูลส่วนใหญ่เป็นคนหน้าใหม่ อายุไม่ถึง 40 ปี หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Millennials โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นไปทิศทางเดียวกับคู่แข่งในตลาดคือ Christie’s และ Philips

ข้อมูลจากทั้งสามบริษัทยังระบุว่าความสนใจใน NFT ทำให้มีเศรษฐีรุ่นใหม่ชาวเอเชียเข้าสู่ตลาดประมูล NFT มากขึ้น และในจำนวนนี้บางคนก็สร้างตัวมาจากการซื้อขายคริปโต และยังข้ามไปประมูลงานศิลป์แบบที่จับต้องได้อีกด้วย  

เช่น Justin Sun เศรษฐีจีนวัยเพียง 31 ปีผู้ก่อตั้ง Tron แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโต ที่ประมูลงานศิลป์ Le Nez ไปด้วยเงิน 78.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,642 ล้านบาท) เมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา   

Justin Sun

หลักฐานการขยายตัวของตลาด NFT ในแวดวงการประมูลงานศิลป์และของสะสมเศรษฐีรุ่นใหม่ ยังไม่หมดแค่นั้น โดย 17 ธันวาคมที่ผ่านมา Melanie Trump ภริยาของ Donald Trump อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย NFT ประเดิมด้วย Melanie Vision ภาพตาของเธอที่วาดโดย Marc-Antoine Coulon ศิลปินชาวฝรั่งเศส

ภาพ Melanie Vision 

และถัดมาเมื่อ 23 ธันวาคม Aguttes บริษัทประมูลในฝรั่งเศส นำข้อความ SMS แรกของโลก เมื่อปี 1992 ที่ว่า “Merry Christmas” ที่ Neil Papworth โปรแกรมเมอร์ชาวอังกฤษส่งคอมพิวเตอร์ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่แบรนด์ Orbital รุ่น 901-ของ Richard Jarvis ที่ต่อมาเป็นผู้บริหารของ Vodaphone ค่ายโทรคมนาคมใหญ่ของอังกฤษออกมาประมูล  

SMS แรก 

ปรากฏกว่าทำยอดประมูลได้ราว 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5 ล้านบาท) โดยผู้ที่ประมูลได้ไม่ขอเปิดเผยชื่อและขอจ่ายเป็น Etheruem คริปโตสกุลรองที่นิยมใช้การซื้อขาย NFT  

การขยายตัวของตลาด NFT ที่ส่งผลดีต่อตลาดการประมูลงานศิลป์และของสะสมเศรษฐีด้วยนี้ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เริ่มจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ธุรกิจและแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมดโต จนแทบทุกวงการรวมไปถึงวงการประมูลต้องพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ดีขึ้น

ปัจจัยต่อมาคือตลาดคริปโตที่ขยายตัวในทุกด้าน ตั้งแต่มูลค่า จำนวนเหรียญ แพลตฟอร์มซื้อขายและผู้ที่ให้ความสนใจถัดจากนั้นคือฐานะที่ดีขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่มาจากการลงทุนในคริปโตนั่นเอง  

ส่วนสุดท้ายคือการเข้ามามีส่วนร่วมของแบรนด์ใหญ่ ๆ ตั้งแต่ Coca-Cola Adidas และวงการกีฬา เช่น ฟุตบอลและบาสเกตบอล เป็นต้น รวมไปถึงวงการภาพยนตร์ และคนดังในวงการต่าง ๆ เช่นที่ Jack Dorsey อดีต CEO ของ Twitter นำข้อความแรกในแพลตฟอร์มออกประมูล และทำยอดประมูลได้ถึง 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 90 ล้านบาท)

Jack Dorsey 

ทั้งหมดทำให้ปีนี้มูลค่าตลาด NFT เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 741,000 ล้านบาท) ทั้งที่เมื่อปี 2020 อยู่ที่เพียง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น 3,350 ล้านบาท)

Patrick Draki

หากตลาด NFT ยังคึกคัก เราอาจได้เห็น Sotheby’s ทำ IPO ในปีหน้า และถ้า IPO ประสบความสำเร็จผู้ที่จะร่ำรวยขึ้นอีกมหาศาลคือ  Patrick Draki มหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศส เจ้าของ Sotheby’s ที่ซื้อบริษัทประมูลแห่งนี้มาด้วยเงิน 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 124,000 ล้านบาท) เมื่อปี 2019/theguardain, cnbc, wikipedia, artnews, cnn



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online