Bandai ทำไมจึงทุ่มงบก้อนใหญ่ ปั้นโปรเจ็กต์ทำเงินในโลกเสมือน (วิเคราะห์)

แม้ไม่ถึงขนาดเข้าไปขับไปบังคับหุ่นยนต์ดังได้เหมือนในการ์ตูน แต่ยักษ์ของเล่นญี่ปุ่นก็ทำให้ฝันของแฟนการ์ตูนเรื่องดังเข้าใกล้ความจริงอีกขั้นในโลกเสมือน

Bandai Namco ค่ายของเล่นประวัติยาวนานของญี่ปุ่น ทุ่มงบ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4,290 ล้านบาท) พัฒนา Mobile Suit Gundam Metaverse ให้แฟนๆ การ์ตูนหุ่นยนต์เรื่องนี้ ได้ชมเนื้อเรื่องใหม่ และทำกิจกรรมเสมือนรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการซื้อสินค้า ซึ่งถือเป็นการต่อยอดธุรกิจและคงจะทำเงินได้อีกไม่น้อย

กว่า 40 ปีมาแล้วที่คอการ์ตูนหุ่นยนต์ทั่วโลกได้รู้จักกับ Gundam การ์ตูนหุ่นยนต์สัญชาติญี่ปุ่น โดยนอกจากได้ท่องอวกาศแล้ว การ์ตูนเรื่องนี้ยังแทรกประเด็นความรัก มิตรภาพ และกลยุทธการรบ รวมไปถึงการเมืองอีกด้วย

ขณะเดียวกันยังมีการผลิตของเล่นหุ่นประกอบพลาสติก (Gunpla) ออกมา จนกลายเป็นแบรนด์ของเล่นที่ทำเงินให้ Bandai Namco มหาศาลในแต่ละปี และ Gundam ติดอันดับ 1 ใน 10 แบรนด์ของเล่นมูลค่าสูงสุดในโลก

ล่าสุดBandai Namco พา Gundam ไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ภายใต้งบลงทุน 130 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4,290 ล้านบาท) พัฒนา Mobile Suit Gundam Metaverse ที่เปิดโอกาสให้แฟนๆ การ์ตูนเรื่องนี้ ได้ดูเรื่องราวใหม่ บังคับหุ่น ชมคอนเสิร์ต

และซื้อ Gunpla ตัวใหม่ๆ ที่เห็นจากในโลกเสมือนเชื่อมต่อหลายมิติ (Metaverse) พร้อมกันนี้ทางBandai Namco จะสร้างฐานข้อมูลผู้ใช้ขนาดใหญ่ขึ้นมารองรับอีกด้วย   

โปรเจ็กต์นี้จะดูแลโดย Koji Fujiwara หัวหน้าส่วนธุรกิจดิจิทัลของBandai Namco ที่ยังเคยดูแลส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับ Gundam มานานจนได้ชื่อตำแหน่งที่แฟนๆ การ์ตูนเรื่องนี้อิจฉาว่า ผอ. Gundam (Chief Gundam Officer – CGO)

Masaru Kawaguchi ประธานบอร์ดบริหารของBandai Namco มั่นใจว่า Mobile Suit Gundam Metaverse จะสามารถเชื่อมโยงแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ทั่วโลกให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และหากประสบความสำเร็จก็มีแผนนำการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ในเครือลง Metaverse ต่อไป 

แม้เป็นโปรเจ็กต์ที่ยังต้องรอดูกันต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่ก็คุ้มค่าจะรอ เพราะ Gundam เป็นสแบรนด์ของเล่นที่ทำเงิน Bandai Namco เกือบ 20,000 ล้านบาทในแต่ละปี และหากไปได้สวย เราอาจได้เห็น การ์ตูนเรื่องอื่นๆ ใต้ชายคาBandai Namco อย่าง Dragon Ball และ One Piece ลงไปตะลุย Metaverse

ในส่วนของ Metaverse บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ต่างหมายมั่นปั้นมือให้เป็นช่องทางทำเงินแบบไร้ขีดจำกัด จึงทำให้ช่วงไม่กี่เดือนมานี้เกิดความเคลื่อนไหวมากมายในตลาด Metaverse เช่น การเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ของ Facebook

การที่ Microsoft ซื้อค่ายเกม Activition Blizzard ส่วน Sony ก็ซื้อค่ายเกม Bungie ขณะที่ในทางกลับกัน Unity Software ก็ซื้อแผนก Computer Graphic ของ Weta ที่สร้างชื่อมาจากการเนรมิตตัวละครในจินตนาการในหนัง Avatar และ Lord of the Rings

Tomokuni Tsuji

และเมื่อไม่นานมานี้ Tomokuni Tsuji – CEO หนุ่มของ Sanrio ที่รับช่วงบริหารต่อมาจากปู่ก็ยังปรับทิศทางบริษัท ด้วยการพา Kitty และผองเพื่อน ตะลุย Metaverse เช่นกัน / nikkei, theguardain, variety, reuters

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน