ดีแทค ร่วมกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการคอลเซ็นเตอร์ภาษามือ รองรับลูกค้าผู้มีปัญหาด้านการสื่อสาร ส่งเสริมความเท่าเทียมทั้งด้านการให้บริการ และสร้างอาชีพผู้พิการ

นายวิรัช จารุโชคทวีชัย ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานบริการลูกค้าคอลเซ็นเตอร์ ดีแทค กล่าวว่า แม้จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนงานบริการ แต่อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของงานบริการยังคงเป็นการให้บริการด้วยความเป็นมนุษย์ รับฟังเสียงลูกค้าเป็นสำคัญ 

ดีแทคได้มีการพัฒนางานคอลเซ็นเตอร์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยกลยุทธ์การใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยทำงาน ซึ่งนอกจากอำนวยความสะดวกให้คอลเซ็นเตอร์แล้ว ยังลดภาระทำให้สามารถนำงานกลับไปทำที่บ้านได้ ทำให้ไม่มีปัญหาในช่วงการล็อกดาวน์เมื่อปีก่อน นอกจากนั้น ยังมีการเปิดภาษาอื่น ๆ นอกจากภาษาไทย เพื่อรองรับการบริการที่หลากหลาย เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ พม่า และภาษามือไทย

นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือสื่อความหมายนั้น มีมากถึง 393,027 คน ซึ่งนับเฉพาะคนที่ลงทะเบียนในระบบเท่านั้น มีคนหูหนวกอีกมากในประเทศที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้สะดวกเท่าคนปกติ มีคนหูหนวกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการศึกษาให้อ่านออกเขียนได้ เพราะต้องเข้าโรงเรียนเฉพาะทาง และมีค่าใช้จ่าย 

ปัจจุบันภาครัฐมีการดูแลสวัสดิการคนพิการ โดยจ่ายเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท หากมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จะจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเพิ่มอีก 200 บาท ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนมีการดูแลลดค่าโดยสารรถประจำทางครึ่งราคา หรือเดินทางโดยรถไฟฟ้าได้ฟรีทั้งบีทีเอส และ MRT แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งเป็นประตูสำคัญในการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

คอลเซ็นเตอร์ภาษามือของดีแทคเริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีพนักงานหลักทั้งหมด 3 คน ซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยิน การให้บริการจะทำผ่านระบบวิดีโอคอล วันจันทร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลาเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น โดยที่ตั้งออฟฟิศคอลเซ็นเตอร์อยู่ที่สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ซอยอ่อนนุช 64

คอลเซ็นเตอร์ภาษามือที่ปฏิบัติงานอยู่เริ่มมีการเทรนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์  และมีสายเข้าขอใช้บริการจากลูกค้าประมาณ 40 สายต่อวัน โดย 3 อันดับแรกที่ลูกค้าโทรเข้ามาคอลเซ็นเตอร์มากที่สุดได้แก่ 1. การสอบถามยอดค่าใช้บริการ 2. ต้องการซื้อแพ็กเกจเพิ่มเติม และ 3. สอบถามเรื่องการใช้งานหรือพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต 

ไกด์ ศุภกิจ เปี่ยมสุวรรณสิริ หนึ่งในคอลเซ็นเตอร์ภาษามือให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนจะเข้ามาทำงานตรงนี้ได้ต้องมีการเทรนพนักงานก่อน ซึ่งก็มีปัญหาบ้างเพราะทางดีแทคเองก็เพิ่งเริ่มโครงการ การเทรนพนักงานหูหนวกเลยใช้เวลามากกว่าเทรนพนักงานทั่วไปเพราะติดปัญหาด้านการสื่อสาร โดยปัจจุบันทำงานมาได้ราวสองสัปดาห์ มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลด้านบริการ โปรโมชั่น และช่วยเหลือลูกค้ายามเกิดปัญหาในระบบเติมเงินดีแทค

นอกจากนั้น ยังยินดีให้บริการกับลูกค้าหูหนวกที่ใช้บริการเครือข่ายอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน แม้บางเรื่องอาจจะไม่มีข้อมูล แต่ก็จะช่วยประสานงานต่อให้ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online