ถึงแม้ยอดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะดรอปลง แต่รัสเซียก็เป็นคู่ค้าพลังงานรายใหญ่ของเยอรมนีมาช้านาน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรื่องนี้จะไม่จบง่าย ๆ เหมือนกับที่เยอรมนีและชาติสมาชิกสหภาพยุโรปคิด

เยอรมนีกำลังถูกลากเข้าไปสู่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากเป็นชาติแรกที่เสนอให้มีเงื่อนไขห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียต่อประเทศกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากไม่พอใจที่รัสเซียไปบุกโจมตียูเครน

2 พฤษภาคม 2022 Christian Lindner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนาย Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี ออกมาให้สัมภาษณ์ส่งสัญญาณเป็นนัย ๆ ว่า รัฐบาลเยอรมนีได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของปริมาณพลังงานสำรองเพื่อรับแรงกระแทกจากการแบนการนำเข้าน้ำมันจากประเทศรัสเซียไว้เรียบร้อยแล้ว

และหลังจากนั้นไม่นานกลุ่มชาติสมาชิกยุโรปก็มีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกับพี่ใหญ่อย่างเยอรมนี โดยคณะกรรมการแห่งสหภาพยุโรปได้มีการประกาศในเรื่องนี้ว่า ภายในสิ้นปี 2022 ชาติสมาชิกยุโรปจะไม่นำเข้าพลังงานจากรัสเซียอีกต่อไป ซึ่งแน่นอนว่ามติไม่เป็นเอกฉันท์ เนื่องจากชาติที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในสัดส่วนตั้งแต่ 70-100% อย่างมาซิโดเนียเหนือ (100%) ฟินแลนด์ (94%) บัลแกเรีย (77%) และ  สโลวะเกีย (70%) ย่อมได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หากต้องเอาตัวเข้าแลกกับศึกทางการค้าในครั้งนี้

 

 

ไม่ง่ายที่จะแบนรัสเซีย

แม้ว่า 27 ชาติยุโรปจะพร้อมใจกันแบนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย แต่อุตสาหกรรมหนักของประเทศเยอรมนียังคงจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียอยู่ โดยปัจจุบันเยอรมนีนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 55% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศ และ 34% ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง

ตั้งแต่มีสงคราม รัสเซีย-ยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เป็นต้นมา สหภาพยุโรปได้จ่ายเงินค่าพลังงานให้แก่รัสเซียไปแล้วกว่า 21,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 23,300 ล้านดอลลาร์ ในส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิล นักการเมืองของเยอรมนีบอกว่า การแบนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียแบบกะทันหันแบบนี้ทำไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลและไร้ซึ่งการศึกษาผลกระทบที่จะตามมา

แล้วเยอรมนีพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากแค่ไหน

ถ้าไม่นับพลังงานหมุนเวียน แหล่งพลังงานที่ใช้ภายในประเทศเยอรมนีส่วนใหญ่มาจาก ถ่านหินลิกไนต์ นอกนั้นจะเป็นน้ำมันและฟืน แต่สัดส่วนแหล่งพลังงานที่ใช้ในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือน้ำมัน ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเช่น แร่ยูเรเนียม ที่เยอรมนีนำไปใช้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เตา  รวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากต่างประเทศรวมกันคิดเป็น 60% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ และรัสเซียก็เป็นซัปพลายเออร์เจ้าใหญ่ที่สุดให้กับเยอรมนีมานานแล้ว

ปัจจุบันเยอรมนีพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในปริมาณมากถึง 50% ของพลังงานที่ใข้ในประเทศ จากสถิติของ IEA ในปี 2020 เยอรมนีนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในปริมาณสูงถึง 42,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงที่สุดในบรรดา 27 ชาติยุโรป

ก่อนที่จะมีสงครามรัสเซียส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้เยอรมนีคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของพลังงานที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นถ่านหินและอีกครึ่งหนึ่งเป็นก๊าซธรรมขาติ

เยอรมนีพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมาตั้งแต่ปี 1960 โดยอุตสาหกรรมหนักในเยอรมนีตะวันตกนั้นต้องการพลังงานที่มีราคาถูก ในสมัยนั้นทางฝั่งเยอรมนีตะวันตกจึงได้ทำการต่อท่อส่งก๊าซและน้ำมันไปยังสหภาพโซเวียต

นอกจากนั้น รัฐบาลของเยอรมนีตะวันตกในสมัยนั้นยังต้องการที่จะผูกมิตรกับสหภาพโซเวียต ดังนั้นพวกเขาจึงตั้งใจใช้การค้าการลงทุนกับสหภาพโซเวียตนี่แหละเป็นตัวเชื่อมประสานความสัมพันธ์ ภายใต้แคมเปญ “Wandel durch Handel” หรือ “Change Through Trade” ซึ่งสิ่งที่เป็นอนุสาวรีย์ให้กับเหตุการณ์ครั้งนั้นที่ยังคงมีให้เห็นและใช้มาจวบจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ ท่อส่งก๊าซ ที่มีชื่อว่า Nord Stream 1 และ Nord Stream 2 ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซที่เชื่อมตรงจากเยอรมนีไปถึงรัสเซียโดยลากผ่านทะเลบอลติก และอ้อมผ่านประเทศยูเครน

ปัญหาที่ต้องขบคิด

สถานการณ์ปัจจุบันเยอรมนีค่อย ๆ ลดการนำเข้าถ่านหินและน้ำมันจากประเทศรัสเซีย ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนของการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียลดลงจาก 35% หลังเกิดสงครามเหลือเพียง 12% เท่านั้น ส่วนถ่านหินสัดส่วนการนำเข้าลดลงจาก 50% เหลือเพียง 8%

4 เมษายน ทางการเยอรมนีได้เข้าไปควบคุมพื้นที่สำรองก๊าซของบริษัท Gazprom ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่สัญชาติรัสเซีย ในขณะเดียวกันสมาชิกสภาฯ เยอรมนีก็กำลังเตรียมการร่างกฎหมายเพื่อยึดทรัพย์สินของโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท Rosneft บริษัทพลังงานเบอร์ 1 ของรัสเซียที่มีที่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนีอีกด้วย

26 เมษายน 2022 Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี บอกว่า แผนสำรองฉุกเฉินในกรณีที่เยอรมนีหยุดนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 100% น่าจะแล้วเสร็จภายในไม่กี่วันข้างหน้า นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนียังได้เริ่มมีการอายัดทรัพย์สินของบริษัทน้ำมันสัญชาติรัสเซียแล้ว

เยอรมนียังคงเป็นประเทศที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในปริมาณที่สูง แต่สัดส่วนการนำเข้าก็ลดลงเรื่อย ๆ จาก 55% เหลือเพียง 35% ตั้งแต่มีสงคราม ผู้สันทัดกรณีคาดว่าปัญหาที่จะตามมาจากการที่เยอรมนีไม่นำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย มีด้วยกัน 2 ประเด็นหลัก ๆ

1. เยอรมนีนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมดผ่านทางท่อส่งก๊าซและ ณ ปัจจุบันเยอรมนีก็ยังไม่ได้เตรียมการสำหรับการนำเข้าก๊าซ LNG ผ่านทางช่องทางอื่น ในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา นาย Christian Lindner  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนีใช้จ่ายเงินไปเป็นจำนวน 2.6 ล้านดอลลาร์ในการเตรียมการเช่าท่าเรือสำหรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่ประเทศทางแถบยุโรปจะมีสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงกว่าปกติหลายเท่า นอกจากนี้ นาย Lindner ยังให้คำมั่นต่อประชาชนว่าจะเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติที่จะมีขึ้นในอนาคต

แต่อย่างที่รู้กันว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานประเภทนี้ไม่ได้แล้วเสร็จภายในปีหรือสองปี แต่ใช้เวลามากกว่านั้น

2. ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมในเยอรมนีนั้นมีความเปราะบางมาก หากเกิดเหตุการณ์การขาดแคลนพลังงานอย่างกะทันหันหรือแม้กระทั่งราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้น ทุก ๆ อุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ และยิ่งถ้าซัปพลายพลังงานจากรัสเซียถูกตัดขาดแล้วล่ะก็ ภาคการผลิตอาจร้ายแรงถึงขั้นหยุดการผลิตได้เลย

จากการวิเคราะห์ของ 6 สถาบันทางด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ มีการคาดการณ์กันว่าการแบนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียอาจมีผลทำให้ GDP ของประเทศเยอรมนีลดลงได้ถึง 2-6% ดังนั้นเสียงของคนเยอรมันส่วนใหญ่จึงเห็นว่ารัฐบาลควรค่อย ๆ เฟดออกจากการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียมากกว่าที่หักดิบไม่นำเข้าเลย

เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป เยอรมนีไม่ได้มีการลงทุนทางด้านความยั่งยืนทางพลังงาน หรือลงทุนเพื่อเพิ่มทางเลือกด้านพลังงานให้มากเพียงพอต่อความต้องการในการใช้ ดังนั้นผลลัพธ์จึงออกมาในรูปแบบของการที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากประเทศรัสเซียซึ่งถือเป็นมหาอำนาจทางด้านพลังงานของโลก

แนวคิดการแบนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในช่วงเริ่มต้นอาจเป็นทางหยั่งเชิงของผู้นำเยอรมนีว่าหากเขาเริ่มลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียทีละน้อยจะส่งผลหรือไม่อย่างไรต่อเสถียรภาพพลังงานภายในประเทศ

ไม่แน่ว่าเยอรมนีอาจคิดมาดีแล้ว

เดือนมีนาคมที่ผ่านมากลุ่มนักวิจัยระดับหัวกะทิจากสถาบันแห่งชาติ Leopoldina ได้คำนวณผลกระทบใน ‘ระยะสั้น’ หากเยอรมนีหยุดนำเข้าพลังงานจากรัสเซียพบว่า ก็ ‘กระทบหนักแต่สามารถจัดการได้’

พวกเขาระบุว่า GDP ของเยอรมนีอาจจะตกไป 0.5-3% เมื่อเทียบกับช่วงที่โควิดระบาดหนักที่ตอนนั้น GDP ตกไป 4.5% ก็ถือว่าน้อยกว่า และนักวิจัยก็ยังบอกอีกว่า การหาแหล่งพลังงานทดแทนในส่วนของน้ำมันและถ่านหินนั้นหาง่ายกว่าแหล่งซัปพลายก๊าซธรรมชาติ

จากการศึกษาของสถาบันเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี คาดการณ์ว่า ผลลัพธ์นั้นไม่ต่างจากผลวิจัยของสถาบัน Leopoldina แถมยังบอกอีกว่า ระดับเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นอีกจากเดิม 5.5% เป็นคาดการณ์ไม่ได้

ในรายงานระบุคำเตือนว่า เยอรมนีไม่เคยระงับการนำเข้าพลังงานในระดับที่สูงขนาดนี้มาก่อนและ “การคาดการณ์ใด ๆ หลังจากนี้จะตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนแทบทั้งสิ้น”

โดยในบทสัมภาษณ์ล่าสุดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน Rüdiger Bachmann ยอมรับว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะใช้ผลักดันให้เศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตได้นั้นมีมูลค่า ‘มหาศาล’ และผลกระทบใดก็ตามที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายทางการเงินการคลัง สิ่งนั้นมักจะมีผลกระทบที่ร้ายแรงมากเป็นเท่าตัว

บริษัทสาธารณูปโภคเตือนรัฐบาลเยอรมนีอย่าทำแบบนี้

ถ้าเยอรมนีเอาจริงกับการแบนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ภาระเกือบทั้งหมดจะตกไปอยู่ที่บริษัทที่อยู่ในภาคสาธารณูปโภค และตัวแทนของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ก็ได้ออกมาเตือนรัฐบาลเยอรมนีว่าจะทำอะไรก็ให้คิดที่ผลกระทบที่จะตามมาให้ดี ๆ

Leonhard Birnbaum ซีอีโอของ E.ON บริษัทด้านสาธารณูปโภคชื่อดังของเยอรมนี บอกว่า ถ้าไม่มีพลังงานจากรัสเซีย เศรษฐกิจของเยอรมนีจะต้องอยู่ในสภาวะยากลำบากและจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ก็หลีกเลี่ยงได้ถ้ามีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้

Kerstin Andreae ประธานเจ้าหน้าที่ของ German Association of Energy and Water Industries หรือ BDEW บอกว่า การห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซียสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้าง และอาจทำลายล้างเศรษฐกิจได้เลย

Adreae บอกเพิ่มเติมว่า ทางรัฐบาลอาจต้องมีการพิจารณาเพิ่มการผลิตพลังงานจากถ่านหินให้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคการค้า อาจจำเป็นที่จะต้องลดการใช้งานพลังงานลง

ข้อมูลอ้างอิงจาก BDEW บอกว่า การบริโภคพลังงานที่มาจากก๊าซธรรมชาติภายในประเทศของเยอรมนีอาจะถูกตัดไป 15% และในส่วนของการพาณิชย์ อาจถูกตัด 10% และในภาคอุตสาหกรรมก็อาจจำเป็นที่จะต้องลดการใช้ลงอีก 8%

เยอรมนีเริ่มหาทางออกให้กับเรื่องนี้

Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี ออกเดินทางไปยังประเทศ การ์ตา และ นอร์เวย์ เพื่อเจรจาเรื่องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทั้ง 2 ชาตินี้เป็นยักษ์ใหญ่ในด้านการส่งออกก๊าซธรรมชาติ

การเยือนในครั้งนี้มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการที่จะติดต่อให้ 2 ชาติดังกล่าวเป็นผู้ส่งก๊าซธรรมชาติให้กับเยอรมนีแทนที่รัสเซีย แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่เยอรมนี นั้นไม่มีท่าเทียบเรือสำหรับขนส่งก๊าซ LNG ซึ่งปัจจุบันเยอรมนีนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผ่านทางท่อส่งก๊าซ Nodstream และถ้าจะต้องรอการสะสางเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องนี้เร็วสุดอาจจะเป็นปี 2026 ซึ่งก็ยังถือว่าไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ชาติที่นำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอาจเจอการแทรกแซงทำราคา จากที่ล่าสุดทางการรัสเซียประกาศรับชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคตเป็นเงินสกุล รูเบิล เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสหภาพยุโรปได้มีการลงนามเซ็นสัญญาการซื้อขายพลังงานเชื้อเพลิงกับรัสเซียในสกุลเงินยูโรมาก่อนหน้านี้แล้ว และล่าสุดทางสหภาพยุโรปก็ได้ออกมาปฏิเสธที่จะชำระค่าพลังงานเป็นเงินรูเบิลเรียบร้อยแล้ว

และแม้ว่ารัสเซียเองจะมีภาระผูกพันทางสัญญากับยุโรป แต่ราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติก็ได้ดีดตัวสูงขึ้น จากการคาดการณ์ว่า รัสเซียอาจเป็นชาติเดียวที่หยุดส่งก๊าซและน้ำมันให้กับใครก็ตามที่ไม่ทำตามที่รัสเซียร้องขอ


อ้างอิง

economist.com

 

blogs.lse.ac.uk

 

dw.com

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online