เพื่อนบ้านทางภาคใต้ของไทยเป็นประเทศล่าสุดในเอเชียที่จำเป็นต้องใช้มาตรการปิดกั้นเพื่อคลายปัญหาข้าวยากหมากแพงสืบเนื่องจากสถานการณ์โลก
รัฐบาลมาเลเซียเตรียมห้ามส่งออกไก่ไปต่างประเทศ หลังราคาในประเทศแพงขึ้นจากปัญหามากมายที่รุมเร้า และส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ยูเครนที่กำลังสร้างปัญหาให้ตลาดอาหารทั่วโลกขณะนี้ จนบางประเทศในเอเชียใช้มาตรการเดียวกันไปแล้ว
สงครามยูเครน-รัสเซียที่ยังไม่มีสัญญาณชี้ว่าจะยุติลง ยังคงเป็นปัจจัยลบดันราคาสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตั้งแต่อาหารไปจนถึงน้ำมันให้แพงขึ้น เพราะทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นประเทศที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก
สำหรับยูเครนถือเป็นแหล่งเพาะปลูกและประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีลำดับต้น ๆ ของโลก และข้าวสาลีถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารมากมาย ทั้งของผู้บริโภคทั่วไปตั้งแต่ขนม ขนมปัง ไปจนถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากนี้ยังเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ปีกอีกด้วย
ปัจจัยเหล่านี้กระทบโดยตรงต่อการเลี้ยงไก่ในมาเลเซีย ที่เผชิญปัญหาโรคระบาดและอาหารแปรปรวนอยู่ก่อนแล้ว เมื่อยังต้องส่งออก ราคาน้ำมันแพง และต้นทุนในการเลี้ยงก็สูงขึ้นอีก จึงเริ่มเกิดการขาดแคลนและราคาในประเทศสูงขึ้น
พ่อค้าแม่ค้าที่ขายไก่พร้อมรับประทานตามตลาดสดในมาเลเซีย รวมไปถึงบรรดาพ่อค้าคนกลางร่วมชาติส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าฟาร์มส่งไก่มาให้น้อยลง จนเมื่อผู้บริโภคมาซื้อก็ไม่ได้ไก่ไปตามจำนวนที่ต้องการ เพราะร้านค้าปลีกแทบทุกร้านต้องลดจำนวนลงเพื่อให้ขายได้ทั่วถึง และซ้ำร้ายราคาก็ยังแพงขึ้นอีกด้วย
ที่สุดรัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Ismail Sabri Yaakob ก็ประกาศห้ามส่งออกไก่ 3.6 ล้านตัน ไปยังต่างประเทศ นับจาก 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป แต่หวังว่าจะเป็นมาตรการชั่วคราว และพร้อมยกเลิกถ้าเห็นว่าสถานการณ์ทุเลาลง
จากนี้ต้องจับตาดูสถานการณ์ราคาเนื้อไก่ในตลาดโลก ว่าจะแพงขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหนเมื่อมาตรการห้ามส่งออกของมาเลเซียมีผลบังคับใช้ โดยประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากสุดคือเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ เพราะ 1 ใน 3 ของไก่ที่บริโภคอยู่ในประเทศมาจากมาเลเซีย และอาจทำให้ข้าวมันไก่อาหารขึ้นชื่อหากินยากและแพงขึ้น
การสั่งห้ามส่งออกของมาเลเซียมีขึ้นถัดจากมาตรการเดียวกันของประเทศร่วมทวีปเอเชีย เพื่อบรรเทาปัญหาอาหารราคาแพง โดยก่อนหน้านี้อินเดียก็กลับลำ ไม่ส่งออกข้าวสาลีไปทดแทนสัดส่วนของยูเครน เพราะประเทศเผชิญคลื่นความร้อนจนกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวสาลี
ขณะที่อินโดนีเซียก็เพิ่งปลดล็อกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มที่ใช้มาเกือบ 1 เดือน จากผลกระทบของสงครามยูเครน หลังสถานการณ์ราคาในประเทศดีขึ้น
ด้าน David Beasley ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก (WFP) เพิ่งกล่าวถึงสถานการณ์เหล่านี้ในการให้สัมภาษณ์นอกรอบ ระหว่างการไปร่วมงานประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า วิกฤตยูเครนกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
และดันราคาอาหารทั่วโลกแพงให้ขึ้น ถือเป็นวิกฤตทางอาหารที่ร้ายแรงสุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2
David Beasley ยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หาช่องทางปลอดภัยให้ข้าวสาลียูเครนส่งออกมาสู่ตลาดโลกเพื่อบรรเทาปัญหาข้าวยากหมากแพงและความอดอยากทั่วโลก/cna, bbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



