พิษเศรษฐกิจยุคข้าวยากหมากแพงกำลังกระทบอย่างหนักต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปากีสถาน ถึงขนาดที่ว่ารัฐบาลต้องขอให้ประชาชนเพลา ๆ การดื่มเครื่องดื่มยอดฮิต
รัฐบาลปากีสถานขอให้ประชาชนลดการดื่มชาลงมาให้เหลือเพียงแค่วันละ 1 ถึง 2 แก้วเพื่อลดการนำเข้า และรักษาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหลือน้อยอยู่แล้วไว้ใช้เฉพาะสิ่งจำเป็นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
ชาซึ่งนำไปต้มกับนมที่เรียกว่า Masala Chai ถือเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของประเทศแถบเอเชียใต้โดยเฉพาะอินเดียและปากีสถาน โดยสำหรับในปากีสถาน การที่ดื่มกันวันละหลาย ๆ แก้วต่อวัน ทำให้ต้องมีการนำเข้าชาจำนวนมากเพื่อมารองรับความต้องการ
แม้โลกเผชิญวิกฤตโควิดแต่ชาก็ยังเป็นเครื่องดื่มที่ชาวปากีสถานขาดไม่ได้ จนเป็นประเทศที่นำเข้าชามากเป็นอันดับ 1 ของโลก เฉพาะปี 2021 ก็สูง 600 ล้านดอลลาร์ (ราว 20,900 ล้านบาท) ลดจาก 640 ล้านดอลลาร์ (ราว 22,300 ล้านบาท) แม้ลดลงมาบ้างแต่ก็ยังเป็นมูลค่ามหาศาลเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
ทว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของปากีสถานไม่สู้ดีนัก เพราะเผชิญทั้งภาวะเงินเฟ้อ และวิกฤตราคาอาหารเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
นอกจากนี้ ปากีสถานยังมีปัญหาราคาน้ำมัน วิกฤตพลังงานจนต้องดับไฟฟ้าวันละหลายชั่วโมงต่อวัน ส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็ลดต่ำลงอย่างมาก
เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของปากีสถานอยู่ที่ 16,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 557,000 ล้านบาท) แต่พอช่วงสัปดาห์แรกของมิถุนายนลงมาอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 348,000 ล้านบาท)
สถานการณ์นี้ทำให้รัฐบาลปากีสถานต้องลดการนำเข้าสินค้าหลายประเภทไล่ตั้งแต่สินค้าหรู จนล่าสุดลามมาถึงชาอันเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนในประเทศ
รัฐบาลปากีสถานขอให้ประชาชนลดการดื่มชาให้เหลือเพียงวันละ 1 ถึง 2 แก้วต่อวัน นอกจากนี้ ยังขอให้ร้านอาหารปิดให้บริการเร็วขึ้นเพื่อประหยัดไฟอีกด้วย
นายกรัฐมนตรี Shehbaz Sharif
จากนี้ต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลปากีสถานที่มี Shehbaz Sharif เป็นนายกรัฐมนตรีจะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ลามหนักถึงขนาดต้องขอให้ประชาชนทั้ง 220 ล้านคน ลดการดื่มชานี้ได้ดีแค่ไหน โดยหากล้มเหลวอีกก็อาจทำให้ Shehbaz Sharif ต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ต่างจาก Imran Khan นายกรัฐมนตรีคนก่อน/bbc, cnn
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ