มาตรการลงโทษด้านพลังงานและเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรนำมาใช้กับรัสเซียต่อการก่อสงครามในยูเครน เหมือนจะยังไม่ได้ผล

ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เผยว่าพฤษภาคมที่ผ่านมารัสเซียขายน้ำมันได้ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 699,000 ล้านบาท) ส่วนรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากน้ำมันก็เพิ่มขึ้นมา 11% แม้เผชิญมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (EU) ก็ตาม

รัสเซียส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครนโดยที่ไม่สนกระแสต่อต้านและคำเตือนจากสหรัฐฯ และ EU ว่าจะเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการประกาศกร้าวว่าจะไม่นำเข้าและซื้อน้ำมันจากรัสเซีย  

สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรเชื่อว่าการไม่ซื้อน้ำมันจะทำให้รายได้หลักของรัสเซียหายไป โดยหากรวมกับมาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ แล้ว อาจเพิ่มแรงกดดันจนรัสเซียยอมถอนทหารและยุติสงครามในที่สุด  

ทว่าการคาดการณ์นี้อาจผิด โดยตามข้อมูลของ IEA ระบุว่า พฤษภาคมที่ผ่านมารัสเซียขายน้ำมันได้ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 699,000 ล้านบาท) ถือเป็นระดับที่เท่ากับช่วงก่อนเกิดสงคราม นอกจากนี้ รายได้เข้าประเทศจากการส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากน้ำมันก็เพิ่มขึ้นมา 11%

สาเหตุที่ทำให้รัสเซียยังสามารถเก็บเงินเข้าคลังได้ก้อนใหญ่มาจากจีนกับอินเดีย ซึ่งต่างก็ไม่สนมาตรการคว่ำบาตร พากันซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้น

ตามข้อมูลของ Refinitiv บริษัทกลุ่ม Fintech ของอังกฤษที่ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า พฤษภาคมที่ผ่านมาจีนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 800,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 40% จากช่วงมกราคม

ฝ่ายอินเดียก็นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็น 700,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งที่เมื่อช่วงมกราคมไม่ได้นำเข้าน้ำมันจากประเทศขั้วอำนาจยุโรปแห่งนี้เลย

การที่จีนกับอินเดียทำตัวสวนกระแสนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไม่ได้มาจากการไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตรเท่านั้น แต่ยังมาจากน้ำมันรัสเซียที่ถูกโลกเมินนี้ราคาถูกกว่าแหล่ง Brent ของยุโรปถึง 30% และยังถูกกว่าน้ำมันของดูไบที่ประเทศในเอเชียใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงราคา ถึง 20 ดอลลาร์ (ราว 700 บาท)  

จากนี้น้ำมันและก๊าซจะยังคงเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัสเซียต่อไป แม้เผชิญมาตรการคว่ำบาตรและราคาถูกกว่าช่วงสถานการณ์ปกติ  โดยนอกจากสามารถขายให้ประเทศใหญ่ ๆ อย่างจีนกับอินเดียได้แล้ว ยังใช้เป็น ‘อาวุธ’ โต้กลับ EU อีกด้วย

ประเด็นหลังยืนยันได้จากการที่ Gazprom รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัสเซียสั่งลดปริมาณการส่งก๊าซไปยังเยอรมนีลงครึ่งหนึ่ง จน Robert Habeck รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี ออกโรงวิจารณ์ว่า รัสเซียใช้พลังงานเป็นอาวุธ และการตัดสินใจลดปริมาณการส่งครั้งนี้มีจุดประสงค์ทางการเมือง ไม่ได้เป็นความขัดข้องทางเทคนิค

อย่างไรก็ตาม บรรดาประเทศสมาชิก EU ก็เร่งเดินหน้าแผนลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำข้อตกลงเพิ่มการนำเข้าก๊าซจากอียิปต์และอิสราเอล/theguardian, nikkei, wikipedia, bbc



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online