ตลาดแรงงานไม่แผ่ว ระดมรับสมัครงานไม่หยุด ตลาดไอทีแรงสุด ทั้งบริษัทใหญ่ เอสเอ็มอีชิงตัว ขณะ “คนดิจิทัล” ทั้งค่าตัวแพง เปลี่ยนงานบ่อย
ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยรายงาน ‘JobsDB – SURVEY TO SURVIVE’ ว่า สถานการณ์ตลาดงานโดยรวม อัตราว่างงานปลายปี 2564 อยู่ที่ 2.25% แต่ไตรมาส 1 ปี 2565 ความเชื่อมั่นขององค์กร ภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น จากการเปิดประเทศ แม้ยังไม่เต็มที่ แต่บริษัทกลับมาทำการผลิต เดินหน้าค้าขาย จึงพร้อมอ้าแขนรับคนทำงานเพิ่มหลากตำแหน่งในหลายสายงาน
โดยประเภทธุรกิจและสายงานที่ “ประกาศรับงาน” มากสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ธุรกิจไอที สัดส่วน 11.3% มองหาคนสายงานไอที 19.1% ตามด้วยธุรกิจขายส่ง ค้าปลีก 10.8% หาคนสายงานขาย บริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ 19% ธนาคาร การเงิน 8.4% หาคนสายงานวิศวกรรม 13.9% ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 8.1% หาคนสายงานการตลาด ประชาสัมพันธ์ 11.4% และธุรกิจขนส่ง 8.1% หาคนสายงานบัญชี 9%
นอกจากนี้ 5 อันดับธุรกิจและสายงานที่มี “สมัครงาน” มากสุด ได้แก่ ธุรกิจขายส่ง ค้าปลีก ประเภทงานที่สมัคร คืองานขาย งานบริการลูกค้า และงานพัฒนาธุรกิจ 14.3% ตามด้วยธุรกิจขนส่ง ประเภทงานการตลาด ประชาสัมพันธ์ 11.7% ธุรกิจไอที ประเภทงานการธุรการ งานทรัพยากรบุคคล 10.9% ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทงานวิศวกรรม 10.5% และธุรกิจการผลิต ประเภทงานไอที 5.7%
“กลุ่มทำงานไอทียังคงเป็นมนุษย์ทองคำที่ตลาดชิงตัว และเป็นสายงานอันดับ 1 ที่ได้เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด เนื่องจากหลายบริษัทยังคงมองหาคนเก่งเข้าทำงาน และไม่ใช่แค่บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยินดีจ่ายเงินเดือนที่สูงให้กับคนเก่งด้านไอทีด้วย”
อย่างไรก็ตาม สายงานดิจิทัลเป็นหนึ่งในกลุ่มที่แรงงานมีแผนจะเปลี่ยนงานกันมากขึ้น ในตลาดแรงงานยุคดิจิทัล แต่แรงงานสายงานนี้มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้บุคลากรเหล่านี้สามารถเลือกงานได้ ทำให้สถานะการมองหางานใหม่และการวางแผนเปลี่ยนงานมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก
สถานะการหางานของ “คนดิจิทัล” |
40% กำลังมองหางานใหม่
73% วางแผนเปลี่ยนงานในอีก 2-3 ปี |
เหตุผลหลักในการเปลี่ยนงาน |
1. โอกาสก้าวหน้าของอาชีพในบทบาทงานอื่น 63%
2. กำลังมองหาความท้าทาย 49% 3. รู้ตัวว่าไม่ได้รับการยอมรับในตำแหน่งงานปัจจุบัน 36% 4. ขาดความสมดุลของชีวิตและงาน 29% 5. กำลังมองหาองค์กรที่มีความเชื่อและคุณค่าที่ตรงกัน 24%
|
ข้อมูล: JobsDB
โดย ‘ค่าตอบแทน’ ไม่ใช่เหตุผลหลักในการเปลี่ยนงาน
- การลาออกระลอกใหญ่ (The Great Resignation) จะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น โดยกลุ่มคนที่มีทักษะดิจิทัล อยู่อันดับต้น ๆ
- โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คือเหตุผลหลักที่แรงงานทุกสายงานต้องการมากที่สุด ปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถก้าวหน้าไปได้ จึงทำให้หลายคนเลือกเทิร์นโอเวอร์
- Work life Balance & Well Being เป็นเหตุผลด้านความสุขในชีวิตที่จูงใจให้อยากเปลี่ยนสายงาน เป็นผลจากวิกฤต COVID-19 ที่ทุกคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและจิตของตน หากงานที่ทำอยู่ทำให้สุขภาพจิตหรือกายแย่ ก็คงต้องเบนเข็มทิศใหม่
ดวงพรกล่าวเสริมว่า หากองค์กรขาดแผนรักษาคนเก่งจะประสบ ‘ภาวะสมองไหล’ (Brain Drain) หากองค์กรโดยเฉพาะองค์กรที่ต้องพึ่งพาแรงงานทักษะสูงไม่สามารถรักษาคนของตนเองไว้ได้ ผลที่ตามมาคือการที่แรงงานโยกย้ายออกไป จะส่งผลให้องค์กรขาดแคลนบุคลากรคุณภาพที่จะส่งเสริมและพัฒนาองค์กรต่อไปได้
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



